‘กิโยตินกฎหมาย’เพิ่มขีดแข่งขันตลาดทุนไทย

ตลาดทุนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไม่เพียงเป็นแหล่งระดมทุนให้ภาครัฐและเอกชน แต่ช่วยเสริมสร้างสมดุลให้แก่ระบบการเงิน เป็นกลไกการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจาย รายได้ และเป็นช่องทางการออมการลงทุนของประชาชนอีกด้วย

ทว่า เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์เข้ามามีอิทธิพล ทำให้ตลาดทุนต้องปรับตัวและพัฒนาในทุกด้านเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นมาตรฐานสากล

กระแสโลกาภิวัตน์ได้สร้างความท้าทายให้กับตลาดทุน ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยี การเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจใหม่ๆ และการแข่งขันที่รุนแรงทั้งภายในและต่างประเทศในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดความท้าทายต่อหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน ที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ลดต้นทุนและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาเครื่องมือด้านกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่ช่วยเสริม ขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น

The Economist Intelligence Unit และ PwC ได้สำรวจความเห็นของ ผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกในปี 2561 จำนวน 370 ราย เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการ ตัดสินใจเข้ามาระดมทุนในตลาดต่างประเทศพบว่านอกจากปัจจัยด้านสถานการณ์เศรษฐกิจ แล้ว สิ่งที่มีผลสำคัญในการเข้ามาระดมทุนโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) คือ ความยากง่ายและความชัดเจน ของกฎหมาย รวมถึงต้นทุนที่ต้องดำเนินการ ตามกฎหมาย ดังนี้ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีผ่านการมีระบบกฎหมายที่ชัดเจน  เข้าใจง่าย ไม่สร้างภาระต้นทุนเกินไป จึง เป็นกุญแจสำคัญที่จะส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน

บริบทดังกล่าวจึงทำให้บางประเทศเช่น สหราชอาณาจักร ประกาศแผนปฏิรูปกฎหมายตลาดเงินและตลาดทุนที่สำคัญในปี 2565 ที่รู้จักกันในชื่อ Edinburgh Reforms เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับ กับสถานการณ์ภายหลังถอนตัวจาก สหภาพยุโรป (Brexit) และเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

แผนดังกล่าวมุ่งปรับปรุงกฎหมายสำคัญต่างๆ กว่า 30 เรื่อง โดยเน้นทบทวนกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2551 เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำธุรกรรมขายชอร์ต (Short-Selling) การเข้าจดทะเบียน ในตลาดหุ้น การลดความยุ่งยากในการประกอบธุรกิจอนุพันธ์สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ความต้องการของนักลงทุน รวมทั้งการปรับตัวของประเทศมหาอำนาจ ล้วนเป็นปัจจัยที่ประเทศไทยไม่สามารถมองข้ามได้

ในกรณีประเทศไทย การกำกับดูแลตลาดทุนอยู่ภายใต้กฎหมายสำคัญต่างๆ เช่น พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.บริษัทจำกัดมหาชน พ.ศ.2535 รวมทั้งกฎเกณฑ์และข้อบังคับอื่นๆ จำนวนมาก อย่างไรก็ดี กฎหมาย ระเบียบ หรือ ข้อบังคับบางส่วนถูกใช้มายาวนาน ซึ่งอาจ ไม่สอดคล้องกับธุรกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว รวมถึงอาจสร้างภาระและต้นทุนที่ไม่จำเป็นแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ

ที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งดำเนินโครงการ Regulatory Guillotine ระหว่างปี 2563- 2566 เพื่อตัดลดขั้นตอนและเอกสารที่ไม่จำเป็น รวมทั้งพัฒนาระบบการ ขออนุญาตต่างๆ ให้สะดวกมากขึ้น โดยมีเป้าหมายกว่า 80 โครงการที่ดำเนินการ เพื่อลดต้นทุนและย่นระยะเวลาการดำเนินการตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากตลาดทุนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่ง อีกทั้งตลาดทุนมีพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) โดยความร่วมมือของสำนักงาน ก.ล.ต. และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) อันประกอบด้วยสมาชิก 7 องค์กรที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนไทย

จึงได้ดำเนินการศึกษาภายใต้โครงการ “กิโยตินกฎหมายตลาดทุน” เพื่อทบทวน วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะยกเลิก ปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนากฎหมายหรือกระบวนการขั้นตอนการอนุมัติอนุญาต ให้มีความทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านตลาดทุนและสร้างความเข้าใจให้กับสังคม คณะผู้วิจัยจะได้ทยอยนำเสนอบทความผลการศึกษาและข้อเสนอแนะในประเด็นที่น่าสนใจแก่สาธารณชนในลำดับถัดไป อาทิเช่น การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการยืนยันตัวตนให้สะดวกขึ้น (KYC) กฎเกณฑ์การส่งเอกสารเชิญประชุมผู้ถือหุ้น

กฎหมายเพื่อบริหารจัดเงินปันผล และเงินลงทุนคงค้างจำนวนมากที่ไม่มีผู้มาขอรับคืน การพัฒนากฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการออมในตลาดทุนและการคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย เป็นต้น

การศึกษาครั้งนี้มิใช่ต้องการทบทวนปัญหาด้านกฎหมายตลาดทุนที่ได้รับฟังจากภาครัฐและเอกชนเท่านั้น แต่ยังมุ่งจัดทำข้อเสนอแนะไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในเรื่องที่ยังไม่เคยถูกทบทวนมาก่อน หรือ ต่อยอดส่วนจากเรื่องที่เคยถูกทบทวนมาแล้ว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์มากขึ้น
 

การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยและช่วยหนุนนำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความการกิโยตินกฎหมายตลาดทุน ภายใต้ “โครงการศึกษาวิเคราะห์ ทบทวน กฎ ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับที่เกี่ยวกับการอนุญาตและการดำเนินการอื่นนอกเหนือจากการอนุญาตเพื่อลดขั้นตอนหรือการดำเนินการที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจในตลาดทุนไทย” ซึ่งอยู่ระหว่างการวิจัย โดย ทีดีอาร์ไอ และการสนับสนุนจาก CMDF

บทความโดย  ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี หัวหน้าทีมการปฏิรูปกฎหมาย / นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 พ.ย. 2566