ทีดีอาร์ไอใช้ Big Data สำรวจตลาดแรงงาน ทักษะ “Soft Skill” มาแรงเป็นที่ต้องการของทุกอาชีพ   

ทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ของทีดีอาร์ไอ ได้พัฒนาระบบติดตามการจ้างงานในประเทศไทย โดยใช้ Big Data และการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้พัฒนาต่อยอดจากโครงการการจัดทำฐานข้อมูลความต้องการทักษะแรงงานด้วย Big Data เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา ที่สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2561

โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความต้องการแรงงานและทักษะต่างๆที่นายจ้างต้องการ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามสภาวะทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยใช้ Big Data จากประกาศรับสมัครงานซึ่งมีความละเอียดสูงและทันสมัย โดยผลการวิเคราะห์นี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวะศึกษาและสถาบันฝึกอบรมต่างๆ ที่ผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน

พบ “Soft Skill” เป็นทักษะที่นายจ้างต้องการ  

ความพิเศษของการวิเคราะห์ประกาศหางานครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ทีมวิจัยได้ใช้ประกาศหางาน โดยอ้างอิงข้อมูลทักษะจากฐานข้อมูล Lightcast ที่ได้ทำการจัดเก็บข้อมูลประกาศรับสมัครงานจากทั่วโลก ก่อนที่จะนำมาสกัดทักษะต่าง ๆ และได้จัดหมวดหมู่ทักษะออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1. กลุ่มทักษะที่พบได้ทั่วไป (common skill) เป็นกลุ่มทักษะที่พบในทุกกลุ่มอาชีพ 2. กลุ่มทักษะเฉพาะ (specialized skill) เป็นกลุ่มทักษะที่พบในเฉพาะกลุ่มอาชีพ และ 3. ใบประกาศนียบัตร (certification) เป็นกลุ่มทักษะที่ต้องมีการทดสอบเพื่อได้บัตรประกาศนียบัตร เช่น TOEIC

ในกลุ่มทักษะที่พบได้ทั่วไป (common skill) ในทุกตำแหน่งงานและสาขาธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Soft Skill พบว่าทักษะการประสานงานเป็นที่ต้องการมากที่สุด 354,758 ตำแหน่งงาน (27.31%) ตามมาด้วย ทักษะการขาย พบใน 324,272 ตำแหน่งงาน (24.96%) ทักษะการวางแผนงาน 283,399 ตำแหน่งงาน (21.81%) และ การสื่อสาร  180,920 ตำแหน่งงาน  (13.93%)

ในกลุ่มทักษะเฉพาะ (specialized skill) พบว่าทักษะการบำรุงรักษา (maintenance) มากที่สุด  193,137 ตำแหน่งงาน (14.87%) การควบคุมเครื่องมือและเครื่องจักร 153,405 ตำแหน่งงาน (11.81%) ทักษะด้านบัญชี 134,062 ตำแหน่งงาน (10.32%) ทักษะจัดซื้อจัดจ้าง 70,266 ตำแหน่งงาน (5.41%) ทักษะด้านการติดตั้ง 58,820 ตำแหน่งงาน (4.53%)

ในกลุ่มใบประกาศนียบัตร (certification) พบว่ามีความต้องการผลสอบ TOEIC มากที่สุด 10,413 ตำแหน่งงาน (0.80%) ตามด้วยใบรับรองวิชาชีพเภสัชกรรมตามมาตรฐาน GMP (Pharmaceutical GMP Professional Certification) 7,410 ตำแหน่งงาน (0.57%) และ วุฒิบัตรผู้ตรวจสอบภายใน (Certified Internal Auditor) 3,336 ตำแหน่งงาน (0.26%)

เก็บข้อมูล 15 เว็บไซต์หางานในไทย เปิดรับกว่า 1.2 ล้านตำแหน่ง

นอกจากนี้ในปัจจุบันทีมวิจัยทำการปรับปรุงระบบอัตโนมัติในการเก็บข้อมูลประกาศหางาน จากระบบเดิมที่ใช้ประมวลผลในรายงานฉบับก่อนหน้า โดยมีการเปลี่ยนแปลงเว็บไซต์หางานที่จัดเก็บข้อมูล จำนวน 15 เว็บไซต์หางานในประเทศไทย ซึ่งเป็นเว็บไซต์หางานระดับประเทศทั้งหมด และทำให้ได้รับข้อมูลประกาศหางานที่มากขึ้น ทำให้ในรายงานฉบับนี้จะไม่เปรียบเทียบข้อมูลกับข้อมูลในอดีต เนื่องจากเป็นฐานข้อมูลที่ต่างกัน   

ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 (1 ตุลาคม 2566–31 ธันวาคม 2566) พบว่า มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 1,299,111 ตำแหน่งงาน เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน พบว่า วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่นายจ้างต้องการมากที่สุด มีประกาศรับสมัคร 857,419 ตำแหน่ง (60.03%) รองลงมาคือ ปวช.156,449 ตำแหน่ง (12.05%)  ปวส. 91,421 ตำแหน่ง (7.04%) มัธยมศึกษาปีที่หก 89,917 ตำแหน่ง (6.29%) ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา 39,932 ตำแหน่ง (3.08%) ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำมีจำนวน 36,969 ตำแหน่ง (2.85%) มัธยมศึกษาปีที่สาม 18,043 ตำแหน่ง (1.39%) และสูงกว่าปริญญาตรี 8,378 ตำแหน่ง (0.65%) 

กลุ่มค้าส่ง-ค้าปลีกยังครองแชมป์ หาคนทำงานมากที่สุด ประกาศรับกว่า 2 แสนตำแหน่ง

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มประเภทธุรกิจที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยอ้างอิงประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (TSIC) ปี 2552 และจากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการช่วยจำแนกข้อมูล พบว่าประกาศรับสมัครงาน ไม่สามารถระบุกลุ่มได้ 302,089 ตำแหน่งงาน (23.3%) ธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก มีจำนวนมากที่สุด 201,645 ตำแหน่งงาน(15.5%) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 163,185 ตำแหน่งงาน (12.6%) การผลิต 153,601 ตำแหน่งงาน (11.8%) การก่อสร้าง 95,501 ตำแหน่งงาน (7.4%) กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 71,694 ตำแหน่งงาน (5.5%) กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 59,717 ตำแหน่งงาน (4.6%) กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 53,610  ตำแหน่งงาน (4.1%)

กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 48,269   ตำแหน่งงาน (3.7%) กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 46,578 ตำแหน่งงาน (3.6%) การศึกษา 24,201 ตำแหน่งงาน (1.9%) ข้อมูล ข่าวสารและการสื่อสาร 19,259 ตำแหน่งงาน (1.48%) การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 11,941ตำแหน่งงาน (1.47%) การทำเหมืองแร่ และเหมืองหิน 11,941 ตำแหน่งงาน (0.9%) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 10,332ตำแหน่งงาน (0.8%) ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 7,190 ตำแหน่งงาน (0.6%) เกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง 6,608 ตำแหน่งงาน (0.5%) การบริหารราชการ การป้องกัน ประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับ 4,600 ตำแหน่งงาน (0.4%)

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการช่วยจำแนกกลุ่มอาชีพ พบว่า ในกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการขายมีจำนวนมากที่สุด โดยมีจำนวนประกาศหางาน 282,710 ตำแหน่งงาน (21.7%) ตามมาด้วย อาชีพทางสำนักงานและสนับสนุนการดำเนินงาน 180,670 ตำแหน่งงาน (13.9%) อาชีพด้านธุรกิจและการดำเนินงานทางการเงิน 176,488 ตำแหน่งงาน (13.6%)  อาชีพด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ 134,414  ตำแหน่งงาน (10.3%) นอกจากนี้  อาชีพด้านวิศวกรรม 91,703 ตำแหน่งงาน (7.0%) งานการจัดการ 60,336 ตำแหน่งงาน (4.6%) งานจัดซื้อ/จัดจ้าง 55,675 ตำแหน่งงาน (4.3%) งานติดตั้งดูแล และการซ่อมแซม 53,489 ตำแหน่งงาน (4.1%) งานศิลปะ,การออกแบบ,ความบันเทิง,กีฬา และสื่อ 46,287 ตำแหน่งงาน (3.6%)

งานสุขภาพและเทคนิคทางการแพทย์ 31,582 ตำแหน่งงาน (2.4%) งานบริการและเตรียมอาหาร 29,426 ตำแหน่งงาน (2.3%) งานโปรดักชั่น/ผลิตองค์ประกอบภาพรวม 22,527 ตำแหน่งงาน (1.7%) งานด้านการป้องกัน 18,678 ตำแหน่งงาน (1.4%) งานด้านกฎหมาย 17,408 ตำแหน่งงาน (1.3%) งานล่าม/แปลภาษา 15,769 ตำแหน่งงาน (1.2%) งานทำความสะอาดและบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างและพื้นที่ 15,248 ตำแหน่งงาน (1.2%) งานขนส่งและเคลื่อนย้ายวัตถุ 14,797 ตำแหน่งงาน (1.1%) สถาปัตยกรรม 12,485 ตำแหน่งงาน (1.0%) งานอื่นๆ 12,087 ตำแหน่งงาน (0.9%) งานด้านการสอนและงานห้องสมุด 10,816 ตำแหน่งงาน (0.8%) งานก่อสร้างและการดึงออกวัสดุ 10,769 ตำแหน่งงาน (0.8%) งานด้านการดูแลและบริการส่วนบุคคล 3,129 ตำแหน่งงาน (0.2%) งานวิทยาศาสตร์ 2,945 ตำแหน่งงาน (0.2%) งานการเกษตร การประมง และการป่าไม้ 2,201 ตำแหน่งงาน (0.2%)

งานกระจุกตัวกทม.-ปริมณฑลกว่า 88 เปอร์เซ็นต์

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามภูมิภาคที่ระบุในประกาศ พบว่าประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑล มีจำนวนมากที่สุด ด้วยประกาศหางาน 1,150,939 รายการ (88.6%) ตามด้วยภาคตะวันออกมีประกาศหางาน 50,466 รายการ (3.9%) ภาคใต้มีประกาศหางาน 40,989 รายการ (3.2%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประกาศหางาน 20,746 รายการ (1.6%) ภาคเหนือมีประกาศหางาน 13,459 รายการ (1.0%) ภาคกลางมีประกาศหางาน 13,003 รายการ (1.0%) และ ภาคกลางมีประกาศหางาน 8,528 รายการ (0.7%)

จากกราฟจะเห็นว่าเมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาและภูมิภาค จะเห็นว่า ตำแหน่งงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งนายจ้างต้องการผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อีกทั้งทุกภูมิภาคยังต้องการบุคลากรที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานอีกไม่น้อยที่ไม่ระบุระดับการศึกษาและไม่ระบุภูมิภาค

ทั้งนี้โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์จะวิเคราะห์และนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไทยอย่างต่อเนื่องไปในทุกไตรมาส

“โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” โดย ดร.ทศพล ป้อมสุวรรณ วินิทร เธียรวณิชพันธุ์ นรินทร์ ธนนิธาพร และฐิติรัตน์ สีหราช ทีมBig Data สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย