คุยเรื่องน้ำ ในวันน้ำโลก : จัดการน้ำภาคตะวันออกอย่างไรให้ยั่งยืน

“น้ำคือชีวิต” เป็นคำอธิบายความสำคัญของน้ำได้ดีที่สุด นอกจากน้ำเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตของสัตว์และพืชแล้ว ยังมีความสำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคต่างๆ ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม ภาคบริการ และสาธารณูปโภค ดังนั้นสถานการณ์น้ำจึงถูกผูกโยงเข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

พื้นที่ภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นที่ตั้งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) แต่ทว่าในพื้นที่นี้ ประสบปัญหาเรื่องน้ำในทุกมิติ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย และยังมีอีกหนึ่งความท้าทายที่เพิ่มเข้ามาคือ สภาวะภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างหนัก ซึ่งหากไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ย่อมที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน

การบริหารจัดการน้ำจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่จะทำอย่างไรให้การบริการจัดการน้ำเกิดขึ้นภายใต้โจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ไปพร้อมกับการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้กับประเทศได้

เนื่องในวันน้ำโลก 22 มีนาคม ร่วมกันสำรวจสถานการณ์น้ำและหาคำตอบกับเวที เสวนาโต๊ะกลม ในประเด็น “การจัดการน้ำในภาคตะวันออก” ภายในงานสัมมนาวิชาการประจำปีมูลนิธิเสนาะ อูนากูล เรื่อง สถานการณ์ภาคตะวันออก 2567 :  ระบบนิเวศของภาคตะวันออก และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ร่วมกับ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล ม.บูรพา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สำหรับงานเสวนาดังกล่าว มีรศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และที่ปรึกษานโยบายทรัพยากรธรรมชาติและการลดก๊าซเรือนกระจก ทีดีอาร์ไอ เป็นผู้นำเสนอผลการศึกษาจากรายงาน “การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออกปี พ.ศ. 2565”  โดยผู้อภิปรายประกอบไปด้วย ดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรมนโยบายเชิงพื้นที่ GISTDA นายโอฬาร เวศอุไร ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการลุ่มน้ำ 2 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) และมีดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

เปิดผลศึกษา ชง 4 ข้อเสนอ แนะรัฐปรับแนวคิด-ทดลองทำพื้นที่ Sandbox จัดการน้ำแบบบูรณาการในพื้นที่ EEC

รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออกปี พ.ศ. 2565  ระบุว่า ภาคตะวันออก มีปัญหา น้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสีย ซึ่งการจัดการปัญหาน้ำในภาวะปกติคือการเน้นกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น โดยให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำระดับท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลพื้นที่ของตัวเอง ด้วยการใช้องค์ความรู้ ทักษะ และการพัฒนาข้อมูลจัดการน้ำในพื้นที่ แต่หากเป็นสถานการณ์วิกฤตต้องใช้หลักจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำทุกคน เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งและอำนาจทางเศรษฐกิจ กับท้องถิ่นขนาดเล็กในการจัดการน้ำ ทั้งในสถานการณ์น้ำท่วม หรือภัยแล้งจึงนำไปสู่การออกแบบธรรมาภิบาลการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ

รายงานเล่มนี้ได้นำเสนอข้อเสนอ 4 ข้อในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในภาคตะวันออก ประกอบด้วย 1. ปรับวิธีคิดของภาครัฐ เพิ่มการจัดการด้านอุปสงค์ (Demand)  ลดการให้ความสำคัญกับการก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ๆ ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและระบบชลประทานที่มีอยู่เดิม การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำด้วยนวัตกรรมการประหยัดน้ำ รวมทั้งนวัตกรรมที่สามารถบำบัดน้ำเสียให้กลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะเดียวกันควรพัฒนาระบบการจัดการน้ำท่าเรือ น้ำจากท่าอากาศยาน และต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำ โดยผู้ใช้น้ำเชิงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด มีการเก็บค่าน้ำดิบเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ   

2.เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งภาคประชาชนและองค์กรผู้ใช้น้ำ ในภาวะปกติควรให้ชุมชนเข้ามามีโอกาสในการจัดสรรน้ำ ดูแลระบบเก็บน้ำ และควรจะมีคู่มือ หรือ Operating Guideline เพื่อเกิดการจัดสรรน้ำอย่างสมดุลและยั่งยืน และมีการเก็บข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เกิดความรู้สึกหวงแหนแหล่งน้ำของตัวเอง และช่วยกันหาทางออกในการพัฒนาพื้นที่ไม่ให้ต้องประสบกับภัยแล้งต่างๆ

3.พัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ (IWRM)  ปัจจุบันมีหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำรวม 43 หน่วยงานใน 7 กระทรวง จึงทำให้การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการเป็นไปได้ยาก ทั้งด้านแผนงาน งบประมาณ กฎหมาย หรือ อำนาจหน้าที่ที่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละกระทรวง ซึ่งการที่จะข้ามอุปสรรคนี้ไปได้จะต้องมีการจัดการน้ำแบบบูรณาการ หรือ Integrated Water Resource Management (IWRM) เพื่อนำไปสู่การจัดการน้ำข้ามสาขา ให้มีความเป็นหนึ่งเดียวในการเชื่อมโยงกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม น้ำเสีย ใน 2 มิติ คือ ระหว่างสาขาเศรษฐกิจต่างๆ  และระหว่างฤดูแล้งกับฤดูฝน ซึ่งระบบการจัดการน้ำแบบบูรณาการจะเป็นกุญแจให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ 

โดยสำนักงาน EEC ควรเป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยริเริ่มนำการจัดการน้ำแบบ IWRM มาดำเนินการในลักษณะทดลองในรูปแบบของ Sandbox  หรือ การทดลองนวัตกรรมการจัดการน้ำในลุ่มน้ำที่มีปัญหาพิเศษเฉพาะพื้นที่ ภายใต้พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

4.เตรียมแผนรองรับและป้องกันความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับสภาวะอากาศสุดขั้ว รวมถึงการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากและภัยแล้งจากการที่ตำแหน่งฝนเปลี่ยน ฝนไม่ตกหลังเขื่อน ซึ่งจะนำไปสู่ความเสียหายต่อผู้ใช้น้ำทั้งอุตสาหกรรม บริการ และภาคเกษตร  ดังนั้นจะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศสำหรับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน สร้างพื้นที่สีเขียว การปลูกป่า ปลูกพืชที่ช่วยดูดซับน้ำและการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตและบริโภค รวมไปถึงการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบขนส่งสาธารณะ

รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และที่ปรึกษานโยบายทรัพยากรธรรมชาติและการลดก๊าซเรือนกระจก ทีดีอาร์ไอ แสดงความคิดเห็นในช่วงท้าย ว่า อยากให้ภาครัฐเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ แทนที่จะเร่งด้านอุปทาน (Supply) ให้หันมาทำงานด้านอุปสงค์บ้างด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ นอกจากนี้เห็นว่าการพัฒนาอ่างเก็บน้ำต่างๆ อยากให้คำนึงถึงความคุ้มค่าที่ไม่ได้คิดเฉพาะความคุ้มค่าทางการเงินอย่างเดียว แต่จะต้องนำต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมมาคำนวณด้วย และควรเก็บค่าน้ำ โดยให้ผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นผู้รับผิดชอบมากกว่าให้เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน

ละครที่รัฐบาลไทยฉายมาตลอด 50 – 80 ปี ถ้าหากความต้องการน้ำสูงขึ้นจะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการ ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนการก่อสร้าง เป็นภาระทางงบประมาณจำนวนมาก ที่ผ่านมางบประมาณที่เกี่ยวกับน้ำ สัดส่วน 90 % ถูกใช้ไปในการก่อสร้าง

รศ.ดร.อดิศร์ ระบุด้วยว่า ยังมีประเด็นในการเตรียมแผนรองรับและป้องกันความแปรปรวนจากสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการส่งเสริมพลังงานทดแทน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทราบจากเลขาธิการ EEC ว่าจะมีการเดินหน้าในเรื่องของ RE 100 (พลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์) โดยส่วนตัวอยากให้พื้นที่ภาคตะวันออกเป็นเหมือน Sandbox ทำให้กระทรวงพลังงานดูว่าสามารถทำ RE100 ได้ เพราะตอนนี้ปัญหาของประเทศคือยังอยากขายไฟที่มาจากฟอสซิลอยู่ ยังไม่ทำ RE 100 เท่าไหร่ แต่ภาคตะวันออกมีแรงกดดันมาจากนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการ RE100 ถ้าทำพื้นที่นี้ให้เป็น RE 100 ให้ได้คนไทยทั้งประเทศก็จะปรบมือให้

คาดการณ์ 10 ปีข้างหน้า แล้งหนัก น้ำน้อยกว่าความต้องการถึง 5 เท่า

ด้านดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรมนโยบายเชิงพื้นที่ GISTDA กล่าวถึงการคาดการณ์ว่าพื้นที่ภาคตะวันออกมีน้ำเพียงพอหรือไม่ ว่า ต้องมองไปในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจากการคาดการณ์ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าหรือในประมาณปี 2037 จะมีพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม จะเกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำที่รุนแรงมาก ความต้องการน้ำมากกว่าปริมาณน้ำที่มีถึง 5 เท่านั้น ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้มีการจัดการน้ำที่เพียงพอในอนาคต

กนช.เผย เหลือเดินหน้า 16 โครงการน้ำใน EEC พร้อมลุยจัดระเบียบการใช้น้ำกลุ่มอุตสาหกรรม

ขณะที่นายโอฬาร เวศอุไร ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการลุ่มน้ำ 2 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวถึงแผนจัดการน้ำในมุมมองภาครัฐ ว่า ภาพรวมความต้องการน้ำของพื้นที่ภาคตะวันออกในปัจจุบันอยู่ที่ 2,400  ลบ.ม.ต่อปี ในอนาคต 3,000 ลบ.ม.ต่อปี ส่วนน้ำต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 2,500 ลบ.ม.ต่อปี ตัวเลขภาพรวมเหมือนจะสมดุลกัน แต่ถ้าพิจารณาแยกส่วนจะพบว่าพื้นที่ๆมีความน่าเป็นห่วงที่สุดคือ จ.ชลบุรี เพราะขาดสมดุลอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้รัฐบาลมองการบริหารจัดการน้ำโดยยึดโครงสร้างหลัก 3 เสาหลัก  โดยเสาหลักแรก คือ กฎหมายหรือ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561  ซึ่งในหมวด 4 เรื่องการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำนั้น ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการประกาศกฎกระทรวงในราชกิจจานุเบกษา ที่ได้กำหนดลักษณะการใช้น้ำแต่ละประเภท และกำหนดอัตราค่าใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา รวมถึงกิจการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ปริมาณน้ำจำนวนมากและอาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง ซึ่งขณะนี้กำลังเดินหน้าอย่างเต็มตัว และเป็นเครื่องมือที่คาดหวังว่าจะเป็นส่วนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำได้เป็นอย่างดี

เสาหลักที่สอง  คือ องค์กรบริหารจัดการน้ำ ซึ่งประกอบไปด้วย ระดับชาติ คือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) ระดับลุ่มน้ำ คือ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และระดับพื้นที่ คือ องค์กรผู้ใช้น้ำ  ซึ่งภาครัฐคาดหวังว่าในระดับพื้นที่ จะมีบทบาทวิเคราะห์สภาพปัญหาของพื้นที่และสามารถเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ได้ ซึ่งการจัดการน้ำชุมชนก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง และเสาหลักที่สาม คือแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ฉบับปรับปรุงใหม่ ที่มีการนำปัจจัยสำคัญคือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  (Climate Change) และการใช้มาตรการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานและการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ มาใช้ในการปรับปรุงแผนฯ

นายโอฬาร เห็นว่าพื้นที่ EEC ยังจำเป็นที่ต้องมีการลงทุน โดยรัฐบาลวางแผนหลักไว้เพื่อเป็นการรับประกันความมั่นคงและความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย ซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำรองรับพื้นที่ EEC ปี 2563 – 2580 มีจำนวน 38 โครงการวงเงินกว่า 55,000 ล้านบาท มีการดำเนินการไปแล้ว 22 โครงการ เหลือ 16 โครงการ สำหรับการวางแผนในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำด้วยความยั่งยืนนั้น เห็นด้วยว่าการสร้างเขื่อนไม่ใช่คำตอบเสมอไป โดยสามารถไปหาแหล่งกักเก็บน้ำต้นน้ำ และการศึกษาเพื่อหากลไกอื่นๆในการกักเก็บน้ำว่าจะเก็บอย่างไรที่จะแก้ปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม

“แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนของเรา คือการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ มีแผนป้องกันภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม มีแผนแม่บท ที่มีประสิทธิภาพดำเนินการโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำ และที่สำคัญมากคือการบริหารจัดการด้านความต้องการน้ำอย่างเป็นรูปธรรมต้องกำหนดเป้าให้ชัดเจน ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการผันน้ำและบริหารจัดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการเติมน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำบางพระ พร้อมยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่สำคัญ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยจะต้องคำนึงถึง 2 ส่วน คือ ความจำเป็นที่ต้องมีการลงทุน และพื้นที่อนุรักษ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการลุ่มน้ำ 2 สทนช.ระบุ

ชี้ 3 ข้อแตกต่างจัดการน้ำในภาคตะวันออก เสนอทำ Sandboxระดับลุ่มน้ำ แก้ท่วม-แล้งเชื่อสำเร็จสูง

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ระบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC และภาคตะวันออกมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น 3 ประเด็น คือ 1.มีบริษัทเอกชนผูกขาดการขายส่งน้ำ (Wholesalers) โดยให้ภาคอุตสาหกรรมได้สิทธิ์ในการจัดสรรน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำต่างๆของกรมชลประทาน ซึ่งปัจจุบันมี 2 บริษัทเป็นผู้บริหารจัดการน้ำค้าส่ง 2. มีการผันน้ำจากพื้นที่อื่น เช่น ท่อส่งน้ำจากลุ่มเจ้าพระยาป่าสัก ( คลองพระองค์ไชยานุชิต) ไปอ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับภูมิภาค (GRP)ของภาคตะวันออก แต่ GRP ภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำลดลง และ 3.การส่งน้ำดิบชลประทานผ่านท่อน้ำเพื่อการเกษตรในหลายอบต. ของจ.ระยอง เช่น อบต.ทุ่งควายกิน โดยมีการเก็บเงินค่าส่งน้ำเข้าอบต.และกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นเรื่องดี และเป็นแนวทางการบริหารจัดการเพื่อประหยัดน้ำในอนาคต

ดร.นิพนธ์ ระบุว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของไทยมีช่องว่างหลายประการ   เช่น การติดขัดของการดำเนินงานตามแผนเป้าหมาย กฎหมายมีความซ้อนทับกัน การออกกฎหมายรองยังไม่ครบทำให้ทำงานได้จำกัด องค์กรหลักด้านน้ำตามกฏหมายยังมีไม่ครบ ขาดการบูรณาการในโครงการต่างๆ มีการนำเสนอโครงการจำนวนมาก ขาดระบบไอทีและการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการทั้งในระดับลุ่มน้ำและระดับจังหวัด สถานะของหน่วยงานที่บางหน่วยงานเป็นทั้งผู้ให้บริการ และหน่วยงานกำกับดูแล รวมไปถึงขาดการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ หรือ  Integrated River Basin Management (IRBM) และการขับเคลื่อนแผนงานด้านน้ำในลุ่มน้ำ รวมทั้งการบูรณาการงบประมาณ โดยควรใช้ Thai Water Plan ให้เป็นประโยชน์และควรบูรณาการให้ครบ นอกจากนี้ควรวางกติกาการจัดสรรน้ำระหว่างสาขาเศรษฐกิจต่างๆ ระหว่างผู้ใช้น้ำ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และระหว่างลุ่มน้ำโดยใช้ระบบโควต้าสู่การแลกเปลี่ยนสิทธิ์ในทรัพยากรน้ำ เร่งประกาศกฎกระทรวงเรื่องผันน้ำในตะวันออก

“เครื่องมือใหม่ที่จำเป็นในการดำเนินการเหล่านี้ จะต้องจัดตั้ง IntelligenceUnit ภายในสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย EEC โดยเพิ่มบุคลากรที่มีศักยภาพ ใช้ทั้งกลไกราคาและไม่ใช่ราคา เป็นทั้งแรงจูงใจ และแรงกดดันให้ทุกภาคส่วนแสวงหาเทคโนโลยีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และควรหาลู่ทางจัดตั้งกองทุนทรัพยากรน้ำของEEC หรือของภาคตะวันออก โดยไม่ต้องตรากฎหมายใหม่ รวมทั้งกำหนดกติกาการแข่งขันสำหรับ Wholesalers ที่ให้บริการน้ำอุตสาหกรรม 2 รายรวมทั้งกติกาการจัดสรรน้ำในยามวิกฤตเพื่อป้องกันความขัดแย้ง”ดร.นิพนธ์ระบุ

ดร.นิพนธ์ กล่าวสนับสนุนข้อเสนอแนะการทำ Sandbox หรือ การบริหารจัดการลุ่มน้ำแบบบูรณาการ ตามรายงานฉบับนี้ โดยระบุด้วยว่า แนวคิดนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมากหากมีการนำมาใช้ในพื้นที่ EEC เพราะมีปัจจัยที่จะส่งเสริมได้ ทั้งการมีกฎหมายพิเศษ และงบประมาณ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีวิกฤตเรื่องน้ำทั้งแล้งและท่วมเป็นประจำ และหากสำเร็จได้ก็จะเป็นโมเดลสำคัญในการที่รัฐบาลจะนำไปใช้ต่อในพื้นที่อื่นที่มีปัญหาได้

ปัญหาน้ำทำลงทุนชะงัก แนะเตรียมรับมือ “ลานีญา” ปลายปี – คาดEEC New Paradigm ใช้น้ำมาก

ขณะที่นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) กล่าวว่า พื้นที่ EEC มีความสำคัญมาก สร้างรายได้ทุกภาคส่วนถึง 2.4 ล้านล้านบาทต่อปี หากขาดน้ำ และขาดระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องจะเกิดผลกระทบที่ใหญ่มาก รวมทั้งกระทบไปยังความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวต่างชาติด้วย ซึ่งมีสถิติยืนยันว่าในช่วงที่เกิดภัยแล้งในปี 2547 ปี 2562 และปี 2563 การลงทุนจากต่างประเทศหยุดชะงัก เนื่องจากนักลงทุนไม่แน่ใจว่าจะมีน้ำเพียงพอต่อการดำเนินกิจการได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาภาคเอกชนเห็นถึงความสำคัญของการประหยัดน้ำ ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใช้หลัก 3R  (Reduce- Reuse -Recycle) อยู่แล้ว แต่หากมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเสริมหรือเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ก็พร้อมที่จะดำเนินการ ซึ่งที่กังวลคือจะทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำในหลักการที่ไม่น้อยไปกว่าภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคบริการและภาคเกษตรกรรม

นายสมชาย เห็นว่ายังคงต้องมีระบบการสำรองน้ำ จนกระทั่งจะบริหารจัดการเรื่องความต้องการใช้น้ำให้สมดุลกับปริมาณน้ำที่มีได้ เพราะที่ผ่านมาปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำฝนผันผวน 30% แต่ที่ในแผน 20 ปี ประเมินไว้เพียง 10 % เท่านั้น ทำให้น้ำที่มีต่ำกว่าความต้องการใช้น้ำไปถึง 20% ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่จะเกิดวิกฤติในช่วงของเอลนีโญและคาดว่าจะมีความถี่มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก สำหรับในภาคเอกชนมีการทำ Water Footprint และวางแผนการใช้น้ำปีต่อปีเพราะปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละปีไม่เท่ากัน จากการที่ฝนตกไม่ตามฤดูกาลอย่างในปี 2547 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเกือบจะต้อง Shut Down เพราะฝนตกล่าช้าไป 2 สัปดาห์

นายสมชาย ระบุว่า พื้นที่ EEC มีวอร์รูมที่เข้มแข็ง มีการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤติ ซึ่งได้เตรียมการอย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร ส่วนการปรับตัวเตรียมแผนรองรับเพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ในปกติภาคอุตสาหกรรมมีพันธกรณีเรื่องของ Net Zero ในแผน และมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงไว้ หากเกิดวิกฤตจะเดินหน้าอย่างไร

“ข้อเสนอระยะเร่งด่วนที่ควรจะทำคือเรื่องของการดูแลการปรับเปลี่ยนจากเอลนีโญกับลานีญาซึ่งเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ ก่อนหน้านี้เราคิดว่าเอลนีโญจะอยู่ไปอีกนาน แต่มาปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ใหม่ว่าตั้งแต่ปลายปีนี้จะเป็นลานีญาแล้ว น้ำจะท่วมมาก สถานการณ์น้ำจะผันผวนมาก เพราะเวลาน้ำมาแต่ละครั้งมาในปริมาณมาก ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมชุมชนได้”นายสมชายระบุ

ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. ระบุด้วยว่า ควรเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำให้เป็นไปตามแผนแม่บท 20 ปีเพื่อรองรับความต้องการการใช้น้ำใน EEC ที่เพิ่มขึ้น สำหรับ EEC  New Paradigm ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในระดับสูงนั้น เท่าที่ทราบการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชิป หรือผลิต EV ใช้น้ำมากกว่าอุตสาหกรรมโรงกลั่นและปิโตรเคมีถึงสองเท่า เพราะฉะนั้นต้องเร่งเตรียมความพร้อมตรงนี้ไว้ในระยะยาวด้วย

ภาพรางวัลชนะเลิศโครงการประกวดภาพถ่ายมูลนิธิเสนาะ อูนากูล โดยคุณสุพัฒน์ ชิ้นประเสริฐ

ขณะที่ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แสดงความเห็นเพิ่มเติม โดยระบุว่า น้ำที่นำมาใช้ในพื้นที่ EEC คือน้ำจากจันทบุรีเป็นหลัก และในอนาคตบางส่วนของจังหวัดจันทบุรี ก็อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อีอีซีก็ได้ ทั้งนี้ เรื่องน้ำเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตามข้อเสนอและความเห็นที่มีการพูดคุยในวันนี้ จะมีการนำไปพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อไป

ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ สรุปทิ้งท้ายเวทีเสวนา ว่า การเสวนาในวันนี้ทำให้ได้ทราบข้อมูลว่าน้ำมีเพียงพอในพื้นที่ EEC แต่โจทย์จะยากขึ้นทุกขณะ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นการจัดสรรน้ำอาจจะเกิดความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้ง ภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ดังนั้นจะต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดี

“การเสวนาครั้งนี้ได้ข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการหลายส่วน ทั้งกลไกและกฎหมายที่มีอยู่ แต่ความท้าทายคือจะทำอย่างไรที่จะแปลงเครื่องมือและกลไกต่างๆเหล่านี้ ไปสู่การปฏิบัติ จนเกิดพื้นที่การเรียนรู้ในการแก้ปัญหาน้ำของพื้นที่ EECให้เป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยในอนาคตอย่างยั่งยืนได้”

อ่านรายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออกปี พ.ศ. 2565 ฉบับเต็ม

รับชมย้อนหลัง