Digital Transformation ธุรกิจและกำลังคน บทเรียนพลิกวิกฤตโควิดของบมจ.ไทย

ทีดีอาร์ไอ จับมือ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน จัดสัมมนาสาธารณะ “Digital Transformation ธุรกิจและกำลังคน บทเรียนพลิกวิกฤตโควิดของบมจ.ไทย” พร้อมเปิดผลการศึกษา ชี้ ภาคธุรกิจปรับตัว-เปลี่ยนกลยุทธ์ใช้เทคโนโลยีร่วมกับการพัฒนาคน แนะแรงงานไทยเติมทักษะเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จัดงานสัมมนาสาธารณะ “Digital Transformation ธุรกิจและกำลังคน บทเรียนพลิกวิกฤตโควิดของ บมจ.ไทย” ที่ รร.อีสติน แกรนด์ สาทร เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567

ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร  หัวหน้าโครงการและหัวหน้าทีมวิเคราะห์ตลาดแรงงาน ทีดีอาร์ไอ นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “การปรับตัวด้านดิจิทัลและแรงงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงระหว่างและหลังวิกฤตโควิด19”  ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ดัชนีราคาในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกเกิดการลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสะท้อนถึงบรรยากาศทางธุรกิจ  นอกจากนี้ผลจากมาตรการของรัฐที่ควบคุมการแพร่ระบาดส่งผลให้ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก ทำให้ภาพรวมตลาดแรงงานทั่วโลกมีอัตราว่างงานที่สูงขึ้น  ขณะที่ตลาดแรงงานไทยมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากช่วงก่อนการแพร่ระบาดในปี  2562

ธุรกิจที่ยืดหยุ่นสูงได้เปรียบช่วงวิกฤต

ดร.ณัฐนันท์ ระบุว่า แม้ว่ากิจการต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบจากโควิด19 อย่างถ้วนหน้า แต่ในทางกลับกันมีบางกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบเลยหรือได้รับผลเป็นบวก  จากการศึกษาพบว่าธุรกิจที่ต้องติดต่อกับบุคคลอื่นหรือลูกค้าน้อย (low-contact) เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และของใช้ภายในบ้าน มีความได้เปรียบในช่วงวิกฤตและมีอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า ฟื้นตัวเร็วกว่า และยังสามารถเติบโตในสภาพแวดล้อมหลังวิกฤตได้  ขณะที่ธุรกิจที่ต้องติดต่องานกับบุคคลภายนอกสูง (high-contact) เช่น ธนาคาร หรือลักษณะงานยืดหยุ่นน้อย เช่น ก่อสร้าง อาจได้รับความเสียหายสูงกว่า  ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักและต่อเนื่องมากกว่าวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้

ทางรอดธุรกิจ พัฒนาเทคโนโลยีควบคู่แรงงาน ต้อง Up skill -Re skill และเพิ่มเติมทักษะแห่งอนาคต

ดร.ณัฐนันท์ ระบุว่า จากวิกฤตดังกล่าวทำให้ภาคธุรกิจต้องนำปัจจัยด้านดิจิทัลมาใช้ร่วมกับปัจจัยแรงงานทำให้เกิดการปรับตัวด้านแรงงาน เกิดการพัฒนาทักษะของแรงงาน ทั้งการพัฒนายกระดับทักษะที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิม (Up skill) การสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Re skill) และการเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นในอนาคต (New skill)  ทั้งนี้ จากบทเรียนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมดมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินงาน เช่น การปรับปรุงรูปแบบการทำงานของพนักงาน การพัฒนาทักษะความสามารถในการทำงานของพนักงาน การขยายช่องทางออนไลน์ให้แก่ลูกค้า การพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือ แพลตฟอร์มของบริษัทโดยเฉพาะ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินงานภายในองค์กร  นอกจากนั้น การแพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้บริษัทแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมได้วางแนวทางเพื่อรับมือกับความเสี่ยงอื่น ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย  ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนฯ ส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับแผนการรองรับความเสี่ยง สภาพคล่อง และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมากขึ้น

แนวโน้มหลังวิกฤต กระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพาประเทศเดียว

สำหรับแนวโน้มหลังวิกฤตโควิดแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นคือ 1.การเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ไปสู่การผลิตในท้องถิ่นและการกระจายความเสี่ยง เช่น ประเทศต่าง ๆ อาจสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคส่วนที่มีความสำคัญ เช่น การดูแลสุขภาพและบรรจุภัณฑ์อาหาร เกิดการกระจายฐานผู้จัดหาเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและลดการพึ่งพาประเทศใดเพียงประเทศเดียว  แนวโน้มนี้อาจส่งผลดีต่อหลายประเทศ เช่น ตุรกี เม็กซิโก เวียดนาม บังกลาเทศ และโมร็อกโกที่ได้พัฒนาความสามารถพิเศษในภาคส่วนย่อยต่าง ๆ

2.การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล  ธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การแข่งขัน และความยืดหยุ่นมากขึ้น เกิดการเติบโตของแพลตฟอร์มดิจิทัลและแบบจำลองธุรกิจดิจิทัล ปรับปรุงความโปร่งใสของราคาและการลดต้นทุนรวม  ขณะที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดจากวิกฤตโควิด19 ยังคงมีอยู่ เช่น การเพิ่มขึ้นของการสั่งซื้ออาหารออนไลน์และการใช้บริการสุขภาพทางไกล

สุขภาพ-ขนส่ง ได้อานิสงส์ ภาคธุรกิจสนใจลงทุนมากขึ้น 

และ 3.ความต้องการเพิ่มขึ้นสำหรับการลงทุน  ภาคธุรกิจสนใจเพิ่มขึ้นในด้านสุขภาพและโลจิสติกส์ซึ่งการลงทุนอาจเน้นที่ส่งเสริมความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมรวมถึงความจำเป็นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ขณะที่หนี้รัฐบาลในตลาดเกิดใหม่เติบโต มีความต้องการเพิ่มขึ้นสำหรับเงินทุนจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในขณะที่การปรับเปลี่ยนของแรงงานไทยนั้น ดร.ณัฐนันท์ ระบุว่า แรงงานไทยต้องปรับเปลี่ยนในหลาย ๆ ด้าน เช่น การทำงานจากที่บ้าน การใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ และการมีทักษะหลายด้านเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของงาน  ความยืดหยุ่นของแรงงานจะเอื้อประโยชน์ให้แก่บางธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้  อย่างไรก็ตาม การทำงานจากที่บ้าน (WFH) อาจไม่เหมาะสมกับทุกคน เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่อาจไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

Soft Skill – ทักษะที่หลากหลาย คุณสมบัติพนง.ที่พาองค์กรให้อยู่รอด   

นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังมีข้อค้นพบสำคัญจากบริษัทจดทะเบียนฯ ในช่วงวิกฤตโควิด19 ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อมพบว่า สภาวะที่องค์กรต้องดำเนินการด้วยจำนวนคนจำกัด  พนักงานที่มีทักษะด้าน Soft Skill และทักษะที่หลากหลาย (Multi Skills) จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวและรักษาการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง  ทักษะเหล่านี้รวมถึงการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการแก้ไขปัญหาได้

เผยกลยุทธ์พาองค์กรฝ่าวิกฤต – รับมือความเสี่ยงอนาคต

ขณะที่เวทีเสวนา “Digital Transformation ธุรกิจและกำลังคน บทเรียนพลิกวิกฤตโควิดของบมจ.ไทย”  มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองในการปรับตัวของภาคธุรกิจในช่วงวิกฤตโควิด จากผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย  น.ส.เพ็ญศรี สุธีรศานต์ ที่ปรึกษาสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย  นางอรกานดา อรรถวิภัชน์ ประธานเจ้าหน้าทีฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (มหาชน) นายธิติพัทธ์ เจียมรุจีกุล ผู้อำนวยการ งานทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัทพรีเมียร์  และนายเอก อัศว์ศิวะกุล ผู้อำนวยการอาวุโส SCB Academy ดำเนินรายการโดยดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก ทีดีอาร์ไอ

รับชมย้อนหลัง