การทบทวนนโยบายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการส่งเสริมสมดุลด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

สรุปผลการศึกษา

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกฮอล์สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยเกือบ 6 แสนล้านบาทต่อปี กล่าวคือ ในปี 2565 มีมูลค่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 5 แสนล้านบาท มีมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกกว่า 6,500 ล้านบาท และในปี 2570 Euromonitor คาดการณ์ว่ามูลค่าการขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ในประเทศไทยจะเติบขึ้นเป็นมูลค่ามากกว่า 6.6 แสนล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบในทางลบและสร้างต้นทุนให้แก่สังคมได้ หากมีการบริโภคในระดับที่เป็นอันตราย (Harmful use of alcohol) ทั้งนี้จากการวิเคราะห์และประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยปี 2564 ของมนทรัตน์และคณะ (2565) และ TDRI (2566) พบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างต้นทุนแก่สังคมไทยโดยประมาณไม่ต่ำกว่า 1.7 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น

  • ผลกระทบต่อสุขภาพ 9.4 หมื่นล้านบาท
  • ผลกระทบจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนน  5.4 หมื่นล้านบาท
  • ผลกระทบจากปัญหาการบาดเจ็บต่าง ๆ 1.7 หมื่นล้านบาท
  • ผลกระทบจากปัญหาอาชญากรรม 6.6 พันล้านบาท

อนึ่งปัญหาผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลกเช่นกัน ในปี 2010 องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) จึงได้วางกรอบการดำเนินงานร่วมกับประเทศสมาชิกและพันธมิตรทั่วโลกเพื่อป้องกันและลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่เป็นอันตราย (Harmful use) โดยได้เสนอทางเลือกนโยบายทั้งหมด 10 ทางเลือก ได้แก่

  1. ควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินงาน และมีงบประมาณที่เพียงพอในการดำเนินงาน
  2. ควรมีมาตราการเชิงป้องกันและดูแลรักษาผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่เป็นอันตราย (Harmful use) และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ
  3. ควรให้ชุมชน หรือท้องถิ่นช่วยสอดส่องดูแลและป้องกันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่ากฎหมายกำหนด
  4. ควรมีมาตรการป้องปรามและป้องกันเพื่อลดการขับขี่ขณะเมาสุรา เช่น ตั้งจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ บริการขนส่งโดยสารทางเลือก เป็นต้น
  5. ควรมีมาตรการป้องกันกลุ่มเปราะบาง เช่น ควบคุมการผลิต การขายส่ง และขายปลีก ระบบใบอนุญาต การควบคุมจำนวนและสถานที่ขาย การควบคุมวันและเวลาขาย การควบคุมรูปแบบการขาย กำหนดอายุขั้นต่ำเพื่อป้องกันการขายและการดื่ม จัดทำมาตรการเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ขายและเจ้าของเซิร์ฟเวอร์ที่เปิดให้บริการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายของประเทศ
  6. ควรมีมาตรการลดผลกระทบจากการตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน เช่น ควบคุมเนื้อหาและปริมาณการตลาด ควบคุมการตลาดทั้งทางตรงและทางอ้อมในสื่อบางส่วนหรือทั้งหมด ควบคุมกิจกรรมการสนับสนุนที่ส่งเสริมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมการส่งเสริมการขายในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน
  7. ควรมีนโยบายการกำหนดราคา เช่น การเก็บภาษี
  8. ควรมีมาตรการลดผลกระทบจากการดื่มและเมาสุรา เช่น เสิร์ฟเครื่องดื่มในแก้วพลาสติก ลดดีกรีความเข้มข้นของปริมาณแอลกอฮอล์ บังคับใช้กฎหมายและความรับผิดทางกฎหมายที่ตามมาจากการเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้ที่เมาสุรา อบรมพนักงานเพื่อจัดการกับผู้ดื่มที่มึนเมาและแสดงความก้าวร้าว
  9. ควรมีมาตราการลดผลกระทบด้านสาธารณสุขจากการดื่มแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายหรือสุราที่ผลิตเอง
  10. ควรมีมาตรการติดตามและเฝ้าระวัง

ทั้งนี้ประเทศไทยเองก็มีการจัดทำมาตรการและนโยบายในการกำกับดูแลและควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งสอดคล้องตามข้อแนะแนะของ WHO ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงมาตรการที่ไม่ใช่ราคา ได้แก่ การออกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อควบคุมการจำหน่าย การโฆษณา การจำกัดอายุและช่องทางการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงกฎหมายควบคุมการเมาสุราขณะขับขี่ยานพาหนะ

แม้ภาครัฐจะมีการออกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกฮอล์ในปี 2551 เพื่อต้องการลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพบว่าการออกกฎหมายในช่วงแรกมีผลต่อปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จริง แต่ทว่าจากนั้นปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกฮอล์กลับมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่

ในต่างประเทศการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักให้ความสำคัญกับการควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับที่เป็นอันตราย หรือ Harmful use of alcohol และการคุ้มครองเด็กเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกฮอล์ แต่ทว่าการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย เป็นการควบคุมแบบไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเด็ก และอาจยังกำกับดูแล “ไม่ตรงจุด” กล่าวคือ สัดส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็กอายุ 15-19 ปี โดยเฉลี่ยยังคงเดิม นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564  พบว่ากลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมามีจำนวนมากถึง 3.9 แสนคน โดยดื่มอย่างสม่ำเสมอมากเกือบ 2 แสนคน นาน ๆ ครั้งดื่ม 1.9 แสนคน นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่านักดื่มหน้าใหม่เป็นกลุ่มเด็กอายุ 15-19 ปี มากถึงร้อยละ 30.79

ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยกลับมีแนวโน้มเพิ่มมาก (รูปที่ 1) ขึ้นแม้จะมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งมาตรการและนโยบาย รวมไปถึงการรณรงค์ เพื่อลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเมาไม่ขับก็ตาม

รูปที่ 1 แนวโน้มการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็กอายุ 15-19 ปี และจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ที่มา : แบบรายงานรายงานสถิติข้อมูลการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต. กลุ่มงานจราจร กองแผนงานกิจการพิเศษ สยศ.ตร. และ แบบแผนและแนวโน้มพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรไทย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (พฤษภาคม 2565)

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าวภาครัฐอาจควรพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการกำกับดูแลและการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่โดยมุ่งเป้าไปที่การคุ้มครองเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดขนาดของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคม เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายที่บังคับใช้นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุดแล้ว อาจยังมีช่องว่างอีกหลายประเด็นที่ควรต้องปรับปรุง กล่าวคือ

ประเด็นแรก กฎหมายว่าด้วยการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยังมีความคลุมเครือ ขาดความชัดเจน และอาจทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการตีความ ซึ่งสามารถตีความได้ทั้งแบบกว้างและแบบแคบ ดังนั้นการควบคุมโฆษณาใหม่ควรปรับปรุงให้ชัด กำหนดขอบเขตเนื้อหาให้ชัดว่าโฆษณาประเภทใดที่ทำได้หรือทำไม่ได้ และสิ่งสำคัญ คือ มุ่งเน้นการควบคุมโฆษณาที่เจาะจงกับเด็กและเยาวชน

ประเด็นที่สอง สินบนรางวัลอาจสร้างแรงจูงใจให้แสวงหาประโยชน์ได้ กล่าวคือ ระเบียบการจ่ายเงินสินบนรางวัลจะแบ่งจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้จับและผู้แจ้งความ โดยทั่วไปแล้วแนวคิดของการให้เงินสินบนรางวัล คือ เพื่อตอบแทนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งอาจประสบความยากลำบากหรือเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ดี จากการศึกษาการดำเนินคดีที่ผ่านมาพบว่าเป็นเพียงการดำเนินคดีกรณีฝ่าฝืนการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอล์ฮอล์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมไม่ได้ประสบความยากลำบากหรือเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด ดังนั้นจึงควรยกเลิกการให้เงินสินบนรางวัลดังกล่าวเพื่อป้องกันการบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด

ประเด็นที่สาม บทลงโทษยังไม่ได้สัดส่วน กล่าวคือ หากเปปรียบเทียบโทษปรับกรณีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี กับโทษปรับกรณีการฝ่าฝืนโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า สัดส่วนโทษปรับแตกต่างกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้โทษปรับกรณีการฝ่าฝืนโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังสูงกว่ากรณีการเมาขับและเกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกด้วย ดังนั้น เพื่อให้มาตรการการป้องปรามและลดผลกระทบจากอันตรายของการดื่มแอลกอออล์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาทบทวนการปรับลงโทษให้ได้สัดส่ว่นมากขึ้น และสะท้อนระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง โดยอาจให้ศาลใช้ดุลพินิจในการพิจารณาโทษปรับตามความเสียหาย

ประเด็นที่สี่ การกำกับดูแลในบางประเด็นยังไม่มีประสิทธิภาพ และอาจเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด โดยเฉพาะ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมาตรา 29 กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ยังขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง ทั้งนี้จากผลสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการของทีมวิจัย TDRI จำนวน 283 ราย พบว่าผู้ประกอบการหลายรายเคยพบร้านบริเวณใกล้เคียงละเมิดกฎหมายโดยมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 30 รวมทั้งยังพบร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษาถึงร้อยละ 23

นอกจากนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุรา แต่ทว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังขับขี่ขณะเมาสุรา ดังนั้นอาจจำเป็นต้องเข้มงวดและปรับกลยุทธ์การตั้งจุดตรวจวัดระดับแอลกอออล์ใหม่ รวมทั้งอาจพิจารณาปรับบทโทษกรณีดื่มขับเพื่อให้การป้องปรามเกิดประสิทธิผล

การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเด็นสุดท้ายที่ควรปรับปรุง คือ การขาดกลไกช่วยเหลือ ฟื้นฟูและเยียวยากับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่เป็นอันตราย (Harmful use of alcohol) ทำให้เกิดต้นทุนและภาระต่อสังคมเป็นมูลค่าไม่น้อย ทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษากลุ่มผู้ติดสุราเรื้อรัง ค่ารักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการรักษากลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ คือ เงินใช้จ่ายงบประมาณจากภาษีของประชาชน แม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขอรับการสนับสนุนเพื่อการบำบัดรักษา หรือฟื้นฟูสภาพจากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ทว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการบำบัดรักษาผู้ติดสุราเรื้อรัง

นอกจากกองทุนบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุราเรื้อรังแล้ว ปัจจุบันยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัวจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้หากมีผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ “เมาขับ” ผู้เสียหายต้องรับภาระฟ้องร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดเอง ดังนั้น การจัดตั้งกองทุนหรือการจัดสรรเงินจากภาษีขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์เพื่อช่วยเหลือดังกล่าวอาจเป็นอีกหนึ่งกลไกในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ “เมาขับ” ได้

อนึ่ง จากประเด็นปัญหาเกี่ยวกับนโยบายและการกำกับดูแลดังกล่าวที่ควรต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการกำกับดูแลการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่เป็นอันตรายให้ตรงจุดนั้น ภาครัฐอาจพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังนี้

ข้อเสนอที่ 1 มุ่งเน้นการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

1.1 ปรับปรุงมาตรา 32 พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้ชัด ลดการตีความ ลดการใช้ดุลยพินิจ โดยเน้นคุมโฆษณาที่มุ่งเป้าไปที่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และคุมโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณหรือทำให้เข้าใจผิดต่อผู้บริโภค  ซึ่งสามารถศึกษากฎหมายของต่างประเทศเป็นแนวทางได้

ตัวอย่างกฎหมายนานาประเทศ

แนวทางแรก คือ การระบุให้ชัดเจนว่าโฆษณาประเภทใดผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังตัวอย่างกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ Alcohol Act (28.12.2017/1102)  ของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ห้ามทำการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิรุนแรงหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ที่มากกว่าร้อยละ 22 โดยปริมาตร

สำหรับการทำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ที่น้อยกว่าร้อยละ 22 โดยปริมาตร และเชื่อมโยงการตลาดกับผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่นดังต่อไปนี้ ถือว่าผิดกฎหมาย[1]

ตารางที่ 1 ประเภทโฆษณาต้องห้ามตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของฟินแลนด์

ประเภทโฆษณาที่ผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหตุผลที่ห้าม (จากมุมมองของผู้วิจัย)
ห้ามโฆษณามุ่งเป้าไปที่ผู้เยาว์หรือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปีห้ามโฆษณาในโรงภาพยนตร์ที่มีบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี
เข้าไปใช้บริการ
คุ้มครองเยาวชน
ห้ามโฆษณาที่เชื่อมโยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการขับขี่ยานพาหนะลดอุบัติเหตุเมาแล้วขับ
ห้ามทำการตลาดที่สื่อสารว่าการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพในทางบวกห้ามทำการตลาดที่สื่อว่าการดื่มแอลกอออล์ในปริมาณที่มากเป็นเรื่องดี การงดดื่มหรือดื่มในปริมาณน้อยเป็นเรื่องไม่ดีห้ามทำการตลาดที่สื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือส่งเสริมความสำเร็จทางสังคม หรือเชื่อมโยงกับสมรรถภาพทางเพศห้ามทำการตลาดที่สื่อว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรคห้ามทำการตลาดที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงแก่ผู้บริโภคอวดอ้างสรรพคุณ
ห้ามโฆษณาผ่านโทรทัศน์ในช่วงเวลา 07.00-22.00 น.ห้ามโฆษณาในเกม ลอตเตอรี่ หรือการแข่งขันต่าง ๆห้ามโฆษณาในสถานที่สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยต่อสาธารณะ (Public Order Act (612/2003))จำกัดไม่ให้โฆษณาเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง รวมถึงเยาวชน

ที่มา : Section 50 Regulation of advertising. Alcohol Act (1143/1994). สืบค้นจาก ttps://finlex.fi/fi/laki/kaannokset/1994/en19941143_20140152.pdf

แนวทางที่สอง คือ การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดจนมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตัวอย่างของประเทศเกาหลีใต้ ใช้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ (National Health Promotion Act) กำกับการโฆษณาและส่งเสริมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์[2] ควบคู่ไปกับกฎหมายว่าด้วยภาษีสุรา (Liquor Tax Act) และมาตรฐานการโฆษณา (Alcohol advertisement standards) โดยห้ามโฆษณาเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อสุขภาพ ได้แก่[3]

  • ส่งเสริมการดื่มมากเกินไป (over-drinking)
  • การดื่มทำให้ร่างกายแข็งแรงหรือช่วยรักษาโรค
  • การดื่มช่วยรักษาสุขภาพจิต
  • แสดงภาพการดื่มขณะทำงานหรือขับรถ
  • แสดงถึงสตรีมีครรภ์ ผู้เยาว์ หรือผู้ติดสุราเรื้อรัง
  • มีเพลงประกอบการแจกของขวัญ เงิน และของมีค่าเพื่อส่งเสริมการขาย

อนึ่งการโฆษณาดังกล่าวต้องห้ามเผยแพร่ทางโทรทัศน์ในช่วงเวลา 07.00 – 22.00 น. และทางวิทยุ ก่อนและหลังรายการที่เจาะกลุ่มผู้เยาว์

ทั้งนี้การกำกับดูแลการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ที่กล่าวมาข้างต้นยังเน้นกำกับการโฆษณาในสื่อดั้งเดิม ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ สื่อในงานกิจกรรมและในสถานบริการ แต่คณะผู้วิจัยเห็นว่าการกำกับดูแลการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์มีแนวโน้มจะเผชิญความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันปรากฎผ่านสื่อออนไลน์ (social media) ซึ่งมีลักษณะสามประการต่อไปนี้ที่เป็นความท้าทายสำคัญ

ประการแรก social media มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การโฆษณาพุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่มได้แม่นยำตามช่วงเวลาและลักษณะการใช้สื่อ (programmatic advertising) รวมถึงกลุ่มเยาวชนซึ่งมีแนวโน้มใช้สื่อประเภทนี้อย่างแพร่หลาย[4] และยังสามารถกำหนดให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเห็นได้ แม้ว่าจะตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไม่ต้องการมองเห็นโฆษณาก็ตาม[5]

ประการที่สอง social media เป็นพื้นที่ให้ผู้มีชื่อเสียง (influencers) และบุคคลทั่วไปผลิตเนื้อหาได้เองเพื่อเผยแพร่ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีผลจูงใจให้กลุ่มเพื่อนต้องการดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น[6] ซึ่งเนื้อหาจากผู้ใช้งาน (user-generated contents) สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย และมีเป็นจำนวนมาก จึงอยู่ในวิสัยที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถกำกับดูแลได้อย่างทั่วถึง

ประการที่สาม ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม social media เป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ การกำกับดูแลจึงต้องอาศัยกฎหมายกำกับดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มควบคู่ไปกับการตรวจสอบเนื้อหาโฆษณาเป็นรายกรณี[7]

อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศมีตัวอย่างการกำกับดูแลโฆษณาออนไลน์ใน 2 แนวทาง ได้แก่ การให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกำกับดูแลเนื้อหาโฆษณาด้วยตนเอง (voluntary regulation) และการกำหนดหน้าที่ตามกฎหมายให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมีหน้าที่ต้องตรวจสอบเนื้อหา (mandatory regulation)

ประเทศออสเตรเลียเป็นตัวอย่างของการกำกับดูแลเนื้อหาโฆษณาเอง โดยบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำหนดนโยบายการเผยแพร่โฆษณาของบริษัท (advertising code) และผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม TikTok มีนโยบายควบคุมเนื้อหาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ไม่ผลิตสื่อโฆษณาที่มุ่งเป้าผู้ดื่มที่เป็นผู้เยาว์ ทั้งนี้ มีข้อมูลปรากฎว่า บริษัทเอกชนและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมีแนวโน้มจะไม่บังคับใช้นโยบายขององค์กรอย่างเคร่งครัด[8]

EUออกกม.จี้แพลตฟอร์มตรวจสอบเนื้อหา

ขณะที่สหภาพยุโรปเป็นตัวอย่างการใช้กฎหมายกำกับ โดยมีกฎหมาย Digital Services Act ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ต้องดูแลและตรวจสอบเนื้อหา (content moderation) ที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ โดยเฉพาะเนื้อหาที่พุ่งเป้าไปที่เยาวชน[9] ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องลบเนื้อหาที่ผิดข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการ (Terms and Conditions) ซึ่งสามารถกำหนดให้เชื่อมโยงกับกฎหมายภายในประเทศที่ให้บริการได้ เช่น ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ภายในประเทศที่ให้บริการ

Digital Services Act ยังยึดหลักความโปร่งใส (transparency) และกลไกตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม (third-party audit) Digital Services Act กำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต้องรายงานข้อมูลชี้แจงเหตุผล (Statement of Reasons) ในฐานข้อมูลกลางเพื่อให้สาธารณชนได้ตรวจสอบการลบเนื้อหาและเหตุผลจำเป็นต้องลบ[10] นอกจากนี้ Digital Services Act ยังรับรองให้เครือข่ายภาคประชาสังคมและผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้เป็นผู้ร่วมตรวจสอบและรายงานเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม (Trusted Flaggers)[11]

คณะผู้วิจัยเห็นว่า ประเทศไทยควรมีกฎหมายกำกับดูแลเนื้อหาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโดยศึกษาแนวทางจาก Digital Services Act

นอกจากการแก้ไขมาตรา 32 เรื่องการควบคุมโฆษณาให้มีความชัดเจนลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่แล้ว การโฆษณาต้องมุ่งเป้าไปที่การคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวคือ การห้ามโฆษณาที่เจาะจงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นการห้ามมีป้ายโฆษณาใกล้โรงเรียน ในระยะ 1 กิโลเมตร ห้ามโฆษณาผ่านสื่อกระแสหลักในช่วงเวลาตามที่ กสทช. กำหนด ห้ามโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยแพลตฟอร์มต้องมีหน้าที่ในการจำกัดเนื้อหาการโฆษณาที่เจาะจงกับเด็ก เป็นต้น

ขายให้เด็กเพิ่มโทษหนักถึงปิดกิจการ

1.2 ปรับบทลงโทษการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

ทั้งนี้ในการปรับบทลงโทษในกรณีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ควรพิจารณาเพิ่มโทษในการระงับกิจการของร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่ขายเครื่องดื่มแอลกอออล์ให้เด็กเป็นการชั่วคราว โดยจำนวนวันที่ถูกระงับอาจให้ศาลพิจารณาตัดสินตามระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น และหากมีการกระทำผิดซ้ำ ควรพิจารณายกเลิกใบอนุญาตการประกอบกิจการ

นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาและทบทวนว่าควรเพิ่มโทษปรับกรณีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีหรือไม่ เพื่อใช้เป็นมาตรการป้องปรามไม่ให้ร้านค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

1.3 เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

จากข้อมูลผลการสำรวจร้านค้าของคณะผู้วิจัย TDRI พบร้านค้าขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มากถึงร้อยละ 30 ขณะเดียวกันจากข้อมูลแบบสอบถามกลุ่มผู้บริโภค พบว่าเด็กและเยาวขนสามารถหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จากร้านขายของชำ ร้อยละ 36 รองลงมา คือ จากร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 35 ดังนั้น ควรเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

ในต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกามีการจัดตั้ง The Community Preventive Services Task Force (CPSTF) ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการดูแลและป้องกันสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรในชุมชน จะเป็นผู้ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของร้านค้าปลีกในชุมชน ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้เยาว์ และประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของท้องถิ่น กรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนทางกฎหมายเพื่อลดการดื่มสุราของผู้เยาว์

ขณะที่รัฐบาลฟินแลนด์มีการจัดทำโครงการ The Local Alcohol Policy Project (PAKKA) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระดับท้องถิ่นกับรัฐบาลฟินแลนด์ และทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ตำรวจ โรงเรียน สื่อท้องถิ่น ผู้ออกใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ปกครอง และภาคประชาสังคม ทำหน้าที่ทั้งตรวจสอบ เฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้เยาว์ รวมไปถึงการเพิ่มความตระหนักรู้ถึงปัญหา โดยสนับสนุนสื่อท้องถิ่น และรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจ

อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรพิจารณาเพิ่มช่องทางการรับแจ้งออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม คล้ายแอปพลิเคชัน Traffy Fondue (ตามรูปที่ 2) เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

รูปที่ 2 กลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นตามข้อเสนอแนะ

ที่มา : คณะผู้วิจัย (2567)

ข้อเสนอที่ 2 ลดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด

ควรยกเลิกการให้สินบนรางวัลเพื่อลดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด ด้วยเพราะกฎหมายเปิดทางให้มีการจ่ายเงินสินบนรางวัล ในลักษณะแบ่งจ่ายเงินค่าปรับ เป็นเงินสินบนรางวัลให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้จับและผู้แจ้งความดำเนินคดีหากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตามหลักการการให้เงินสินบนรางวัล มีไว้เพื่อเป็นการตอบแทนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่อาจประสบความยากลำบาก หรือเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่จากข้อมูลการดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2561-2565 ส่วนมากเป็นการฝ่าฝืนโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้มีความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่จะได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่การให้เงินสินบนสำหรับประชาชนทั่วไปที่แจ้งความดำเนินคดีเมื่อพบว่ามีผู้กระทำผิกฎหมาย ก็เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมาย แต่กรณีนี้ก็มีโอกาสที่กฎหมายอาจถูกนำไปใช้ในการกลั่นแกล้ง หรือหาผลประโยชน์

ข้อเสนอที่ 3 มุ่งเน้นการลดผลกระทบเชิงลบทางสังคม (negative externalities)

จากต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท รวมไปถึงมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีการ “ดื่มขับ” ซึ่งก่อให้เกิดภาระต่อสังคมที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา ภาครัฐควรพิจารณาดำเนินการเพื่อลดผลกระทบเชิงลบทางสังคมดังนี้

3.1 ควรเพิ่มภารกิจให้กองทุน สสส. ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเชิงลบทางสังคม และสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อตั้งจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์

ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 มาตรา 5 วรรคสอง ให้กองทุนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ดังนี้ (1) ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในประชากรทุกวัยตามนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้น กองทุน สสส. ควรพิจารณาเพิ่มภารกิจในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบทางสังคม ทั้งการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยที่ติดสุราเรื้อรัง การช่วยเหลือและเยียวยา “ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และครอบครัว” จากอุบัติเหตุดื่มขับ และสนับสนุนการดำเนินงานเพิ่มเติมในการตั้งจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์

3.2 ปรับแนวทางการกำหนดค่าเสียหาย เพื่อชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการ “ดื่มขับ”

ปัจจุบันการพิจารณาคดีเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ “เมาขับ” ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้การชดเชยให้แก่ผู้เสียหายไม่สะท้อนต่อความเสียหายที่แท้จริง โดยเฉพาะในกรณีอุบัติเหตุ “เมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต” ดังนั้น จึงควรพิจารณาปรับแนวทางการกำหนดค่าเสียหายในทางแพ่งเพื่อชดเชยแก่ผู้เสียหายตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เพื่อให้ศาลสามารถกำหนดค่าชดเชยอย่างเป็นธรรมและสะท้อนมูลค่าทางเศรษฐกิจของผู้เสียหายอย่างแท้จริง

3.3 ปรับเกณฑ์การตัดแต้มใบขับขี่ (Demerit Points System) เพื่อคัดกรองผู้ที่ “ดื่มแล้วขับ” ออกจากถนนเร็วขึ้น

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ได้กำหนดบทลงโทษกรณีเมาแล้วขับไว้หลายมาตรการ ได้แก่ การตัดคะแนน การพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ โทษปรับ โทษจำคุก การคุมประพฤติและการบริการสังคม อย่างไรก็ตาม สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการเมาแล้วขับยังคงสูง และสังคมยังได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมาก ดังนั้นบทลงโทษข้างต้นอาจยังไม่เพียงพอต่อการยับยั้งและป้องปรามการกระทำความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งบทลงโทษยังไม่เหมาะสมกับความผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ได้รับผลกระทบและสังคม นอกจากนี้ยังพบผู้กระทำผิดซ้ำซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบทลงโทษไม่ทำให้ผู้กระทำเข็ดหลาบแต่อย่างใด

การตัดคะแนนการขับขี่ หรือระบบตัดแต้ม (Demerit Points System) [12] เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยและลดการกระทำความผิดซ้ำ ทั้งนี้การตัดคะแนนกรณีเมาแล้วขับของประเทศไทย มีระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 กำหนดตัดคะแนนผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ที่ขับรถในขณะเมาสุรา (ระดับ BAC เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)[13] ครั้งละ 4 คะแนน เพียงอัตราเดียวเท่านั้น โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อมูลจากตารางแสดงความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดกับโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางถนนซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิเมาไม่ขับ พบว่า ระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดส่งผลต่อสมรรถภาพการขับขี่และโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น มาตรการตัดคะแนนผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ที่ขับรถในขณะเมาสุราครั้งละ 4 คะแนน เพียงอัตราเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการยับยั้งพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เหมาะสมกรณีเมาแล้วขับ ผู้วิจัยเห็นว่า ควรแก้ไขการกำหนดตัดคะแนนเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดโดยคำนึงถึงระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการถูกพักใช้ใบขับขี่ชั่วคราวหรือถึงขั้นเพิกถอนใบขับขี่ถาวรได้หากกระทำผิดซ้ำซาก ซึ่งส่งผลต่อการลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น

ทั้งนี้การตัดคะแนนกรณีเมาแล้วขับของประเทศญี่ปุ่น กฎหมายจราจรทางบกของประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้ผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด (BAC) ไว้ 2 กรณี ดังนี้

1) ผู้ดื่มสุราแล้วขับขี่ (driving under the influence: DUI) ซึ่งหมายถึง ผู้ขับขี่ที่มี BAC ตั้งแต่ 30 ถึง 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

2) ผู้ที่ขับขี่ขณะเมาสุรา (driving while intoxicated: DWI) ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ขับขี่ขณะมึนเมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบการรับรู้และพฤติกรรมของผู้นั้นว่าดื่มแอลกอฮอล์จนไม่สามารถครองสติได้หรือไม่ เช่น การเดิน การมองเห็น เป็นต้น และหากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าผู้นั้นไม่ผ่านการทดสอบ ถือว่าเป็นผู้ขับขี่ขณะเมาสุรา โดยไม่คำนึงถึงปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดแต่อย่างใด[14]

โดยระบบการตัดคะแนนกรณีเมาแล้วขับของประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้กำหนดการตัดคะแนนไว้ 3 ระดับซึ่งขึ้นอยู่กับค่า BAC ดังนี้

ประเภทผู้ขับขี่และระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (มิลลิกรัม%)การตัดคะแนนกรณีเมาแล้วขับผลต่อใบอนุญาตขับขี่จากการตัดคะแนน (กรณีกระทำผิดซ้ำ)
DUI ตั้งแต่ 30ตัด 13 คะแนนพักใบอนุญาตขับขี่ 90 วัน (ไม่มี)
DUI ตั้งแต่ 50ตัด 25 คะแนนเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 2 ปี (4 ปี)
DWI ไม่คำนึงระดับแอลกอฮอล์ในเลือดตัด 35 คะแนนเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 3 ปี (5 ปี)

ที่มา : https://englishlawyersjapan.com/what-is-the-legal-limit-for-drunk-driving-in-japan-and-what-happens-if-i-drive-under-the-influence/

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดกับโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางถนนและตัวอย่างระบบตัดคะแนนของประเทศญี่ปุ่น ผู้วิจัยเสนอให้แก้ไขการกำหนดตัดคะแนนเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได โดยคำนึงถึงระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด ดังตัวอย่างสำหรับผู้ขับขี่ทั่วไป ดังตารางข้างล่าง อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ที่กำหนดตามข้อเสนอ โดยเฉพาะในระดับที่ไม่ถูกตัดคะแนน ควรเป็นเกณฑ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ผ่านการติดตามและประเมินผลปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนในไทย หากพบความเสี่ยงในกลุ่มที่ดื่มขับสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่ม ดังนั้น จึงควรต้องบังคับใช้กฎหมายตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนทุกรายให้ได้

ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (มิลลิกรัม%)สมรรถภาพในการขับรถโอกาสที่เกิดอุบัติเหตุจราจรข้อเสนอการตัดคะแนนกรณีเมาแล้วขับ
20มีผลเพียงเล็กน้อยเฉพาะบางคนใกล้เคียงกับคนไม่ดื่มสุราไม่ตัดคะแนน
50มีผลทําให้ความสามารถในขับรถลดลง เฉลี่ย 8 % เป็นระดับที่เริ่มถือว่า การขับรถจะเป็นอันตรายโอกาสเกิดอุบัติเหตุ จะเป็น 2 เท่า ของคนท่ีไม่ด่ืมสุราตัด 4 คะแนน
80มีผลทําให้ความสามารถในการขับรถลดลง โดยเฉลี่ย12 % มีผลต่อคนขับรถทุกคน และระดับนี้ใช้เป็นกฎหมายควบคุมในหลาย ประเทศโอกาสเกิดอุบัติเหตุ จะเป็น 3 เท่า ของคนท่ีไม่ด่ืมสุราตัด 8 คะแนน
100มีผลทําให้ความสามารถในขับรถลดลง โดยเฉลี่ย 15 % มีผลต่อคนขับรถทุก คนและการขับรถจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงระดับนี้โอกาสเกิดอุบัติเหตุ จะเป็น 6 เท่า ของคนท่ีไม่ด่ืมสุราตัด 12 คะแนน และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 90 วัน
150มีผลทําให้ความสามารถในการขับรถ ลดลงโดยเฉลี่ย 33 %โอกาสเกิดอุบัติเหตุ จะเป็น 40 เท่า ของคนท่ีไม่ด่ืมสุราตัด 12 คะแนน และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 90 วัน
มากกว่า 200สมรรถภาพลดลงเป็นสัดส่วนกับระดับแอลกอฮอล์สูญเสีย การควบคุมการทํางานของกล้ามเนื้อโอกาสเกิดอุบัติเหตุ สูงกว่า 50 เท่า ของคนปกติตัด 12 คะแนน และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 90 วัน

ที่มา: คณะผู้วิจัย (2567)

3.4 ปรับแนวทางการตั้งด่าน “จุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์” โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม

ทั้งนี้การปรับแนวทางการตั้งจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ดังกล่าว เพื่อทำให้ผู้ขับขี่รู้ว่ามีโอกาสจะถูกตรวจ และมีการดำเนินคดีจริงหากดื่มขับ นอกจากนี้แล้วในการตั้งด่านตรวจควรมีอุปกรณ์ตรวจในสภาพสมบูรณ์ที่เพียงพอต่อการดำเนินงาน และมีการกำหนดเป้าหมายการตรวจที่คาดหวังประสิทธิผล ขณะเดียวกันการตั้งจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ควรมียุทธศาสตร์ในการตั้งด่าน เช่น

  • อาศัยข้อมูลเพื่อการออกแบบการตั้งจุดตรวจ เช่น ตำแหน่ง ช่วงเวลา โอกาสในการพบพฤติกรรมเสี่ยง
    • ใช้เทคโนโลยีในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวางกลยุทธ์การตั้งจุดตรวจ
    • ใช้ big data จัดทำโมเดลเพื่อวิเคราะห์กำหนดพื้นที่ hotspot ในการตั้งด่านบังคับใช้กฎหมาย ให้ครอบคลุมความเสี่ยง ปัจจัยที่ส่งผล เช่น ลักษณะการเดินทางของผู้ดื่ม

3.5 ทบทวน “มาตรการเปิดผับถึงตี 4”

ภาครัฐควรพิจารณาทบทวน “มาตรการเปิดผับถึงตี 4” เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการติดตามผลกระทบต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มขับ ทั้งนี้จากการวิเคราะห์โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ จากฐานข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า

  • อุบัติเหตุจากการดื่มขับมักเกิดในช่วงหลัง 6 โมงเย็น – 6 โมงเช้า
  • หลังอนุญาตให้เปิดผับถึงตี 4 (ม.ค.- ก.พ. 67) สัดส่วนผู้ขับขี่ที่ดื่มขับแล้วเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น 0.23%-12.72% ในช่วงตี 2 – ก่อน 8 โมงเช้า

นอกจากนี้ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนคาดว่า การขยายเวลาโดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดพอ มีโอกาสที่จะมีคนเมาขับ แล้วทำให้เกิดความสูญเสีย (ตาย-เจ็บ) สูงถึง 27% หรือ 10-20 คน/วัน และหากมีจำนวนผู้เสียชีวิต 10 คน/วัน จะทำให้มีโอกาสจะเกิดความสูญเสียถึง 67 ล้านบาท/วัน ทั้งนี้มูลค่าความสูญเสียดังกล่าวควรอยู่ในการพิจารณาระหว่าง ประโยชน์ และ ต้นทุนในการกำหนดนโยบายดังกล่าว

การขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

จากการประชุมรับฟังความเห็นต่อข้อเสนอแนะกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย พบว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวมีทั้งประเด็นที่เห็นร่วมกัน และประเด็นที่เห็นต่างกัน

ประเด็นที่มีความเห็นร่วมกันมี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1) การควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ควรต้องมีการปรับบทลงโทษกรณีที่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

2) การปรับเกณฑ์ลงโทษ “เมาขับ” ใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการปรับเกณฑ์การตัดแต้มใบขับขี่ (Demerit Points System) เพื่อคัดกรองผู้ที่ “ดื่มแล้วขับ” ให้ออกจากถนนเร็วขึ้น

3) การทบทวน “มาตรการเปิดผับถึงตี 4” เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการดื่มขับ

ขณะที่ในบางประเด็นที่ยังมีความเห็นต่างกัน ได้แก่ ประเด็นแรก การแก้ไขมาตรา 32 เรื่องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ควรมีปรับปรุงให้มีความชัดเจน โดยควรมุ่งเน้นการควบคุมโฆษณาที่เจาะจงกับเด็กและเยาวชน รวมทั้งควบคุมการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณ

ทั้งนี้จากการประชุมรับฟังความเห็นต่อข้อเสนอแนะดังกล่าว ในงานเสวนา“มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์…ประเทศไทยไปต่ออย่างไร?”ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน ปี 2567 ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะ ซึ่งมีการแสดงความเห็นที่แตกต่างกัน เกี่ยวกับประเด็นการโฆษณา

โดยวิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้ผู้ประกอบการสามารถโฆษณาได้แต่ต้องไม่มุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เนื่องจากงานวิจัยแสดงเห็นให้ว่าการโฆษณาส่งผลให้มีผู้ดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นและส่งผลต่อการดื่มอย่างต่อเนื่องจริง แต่ไม่ควรห้ามโฆษณาทุกกรณีควรควบคุมเฉพาะเด็กและเยาวชน ตัวอย่างในต่างประเทศเช่นเกาหลีใต้ สิงคโปร์ อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ไม่ห้ามการโฆษณาเลย แต่ประเทศญี่ปุ่นสามารถลดปัญหาการเมาแล้วขับได้ผ่านการส่งเสริมมาตรการอื่นๆ ที่ตรงจุด อย่างการกำหนดระดับ BAC ที่อนุญาตให้ขับรถได้ที่เข้มงวดขึ้น และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะและบริการรับส่งผู้โดยสาร

ขณะเดียวกันวิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุมอีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เนื่องจาก WHO กำหนดว่าการโฆษณาเป็นมาตรการที่มีต้นทุนในการจัดทำน้อยและมีประสิทธิภาพต่อการจูงใจ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก แม้จะห้ามไม่ให้มุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี แต่เด็กและเยาวชนก็สามารถเข้าถึงโฆษณาดังกล่าวได้ และไม่สามารถควบคุมการเข้าถึงได้ การเปิดช่องให้สามารถโฆษณาได้จึงน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

ประเด็นที่สอง การยกเลิกสินบนรางวัล ส่วนหนึ่งเห็นด้วยที่ควรจะมีการยกเลิกเงินสินบนรางวัล แต่ยังมีความเห็นต่างว่าการให้เงินสินบนรางวัลเป็นการให้กำลังแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่ยกเลิก

ประเด็นสุดท้าย คือข้อกังวลของการจัดเก็บ earmarked tax ว่าข้อเสนอดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการจัดสรรรายได้ให้ สสส. หรือไม่ หากไม่กระทบก็ควรดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการจัดประชุมดังกล่าว คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่าข้อเสนอแนะที่จะสามารถขับเคลื่อนได้ คือ ประเด็นที่ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันใน 3 ประเด็นที่ได้กล่าวไปข้างต้นควรผลักดันเป็นลำดับแรกก่อน ส่วนข้อเสนอแนะที่ยังมีความเห็นต่างโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันต่อไป โดยอาจเริ่มต้นจากการจัดทำหลักเกณฑ์หรือคู่มือการใช้ดุลพินิจให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อความชัดเจนของการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณา และข้อเสนออื่น ๆ อาจร่วมกันพิจารณาเป็นลำดับถัดไป


[1] Section 50 Alcohol Act 1102/2017. สืบค้นจาก https://www.finlex.fi/fi/laki/ajantasa/2017/20171102   

[2] Article 7 the National Health Promotion Act. สืบค้นจากhttps://elaw.klri.re.kr/eng_service/lawView.do?hseq=43278&lang=ENG

[3] S Chun, et al. (2011). Issues of Korean Alcohol Policy Perspectives. https://link.springer.com/chapter/10.1007/978-4-431-53889-9_30.

[4] https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/16066359.2016.1245293

[5] https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/37711755/

[6] https://www.jmir.org/2021/11/e28237/

[7] https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0955395922002420

[8] https://adf.org.au/insights/alcohol-social-media-youth/

[9] https://commission.europa.eu/strategy-and-policy/priorities-2019-2024/europe-fit-digital-age/digital-services-act/europe-fit-digital-age-new-online-rules-platforms_en

[10] https://transparency.dsa.ec.europa.eu/statement

[11] https://digitalservicesact.cc/dsa/art19.html

[12] ประเทศไทยได้ประกาศใช้ “ระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ” ตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 142/1 และเริ่มใช้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 โดยผู้มีใบขับขี่ทุกคนมี 12 คะแนนเต็ม

[13] กฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2533 ข้อ 3

[14] Kotoho Akira. ‘Drunk Driving Regulations, What Type of Vehicle are Subject to?’ สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 จาก https://origami-book.com/column/course-en/15583 และ Traffic Department, Kanagawa Prefectural Police Headquarters. ‘ Revocation and Suspension of Driver’s License Under the Demerit Point System สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 จาก https://www.police.pref.kanagawa.jp/assets/entry/eng/e_pic/eng83007.pdf