จับกระแส…เศรษฐกิจกลางปีมังกร

ผ่านพ้นไปครึ่งปีแล้วสำหรับปี 2567 ที่ถูกเรียกกันว่า “ปีมังกร”

ไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยโต 1.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงกันของปีที่ผ่านมา แม้ว่า “ตัวเลข” จะดีกว่านักวิเคราะห์คาดกันไว้ว่าจะไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

แต่กระนั้นยังถือว่าค่อนข้างน้อยสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างไทย

ในครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร? ทีดีอาร์ไอ ชวนจับกระแสเศรษฐกิจ กับ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก ทีดีอาร์ไอ

ดร.กิริฎา มองว่า ไตรมาสต่อไปเศรษฐกิจจะขยายตัวมากกว่าไตรมาสหนึ่ง และภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปีน่าจะโตได้ 2.5 เปอร์เซ็นต์เทียบกับปี 2566

ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจโตมาจากการลงทุนของภาครัฐ ที่ “เม็ดเงิน” ลงสู่ระบบหลังจากที่พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้ประกาศไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น

นอกจากนี้การส่งออกแม้ว่า “หดตัว” ในไตรมาสแรกไป 0.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ในปีนี้ดร.กิริฎา คาดว่าน่าจะได้เห็นมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่าปีที่แล้ว 1-2 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จึงทำให้การส่งออกไปยังตลาดหลักของไทยอย่าง สหรัฐฯ ยุโรป ตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศในอาเซียนขยายตัวได้บ้าง

อีกทั้งอุตสาหกรรมวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Cycle) กำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ซึ่งจะช่วยเสริมภาพรวมของการส่งออกให้ดีขึ้นกว่าปี 2566 โดยการส่งออกใน 5 เดือนแรกของปีนี้ได้ขยายตัว 2.6 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ความท้าทาย-ความเสี่ยงครึ่งปีหลัง

ดร.กิริฎา มองว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทั้งความไม่สงบในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีความไม่ลงรอยกันของ “2ยักษ์ใหญ่” ได้แก่สหรัฐฯกับจีน

“สหรัฐฯกีดกันทางการค้ากับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ มีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในระดับที่สูง อย่างรถEV สหรัฐฯก็ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว และไม่ใช่แค่สหรัฐฯเท่านั้น แต่ภาคีของสหรัฐฯ อย่างยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นก็พยายามจะกีดกันสินค้าจากจีน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจจีน ไม่สามารถที่จะฟื้นได้มากเท่าที่เราคาดเอาไว้เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจจีนจะโตช้าหน่อย”ดร.กิริฎา ระบุ

เมื่อจีนไม่สามารถขายสินค้าให้กับตลาดเดิมที่เคยขายได้ จีนจึงหาตลาดอื่นเพื่อระบายสินค้าแทน แน่นอนว่าภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดที่จะมีสินค้าของจีนหลั่งไหลเข้ามามาก

แต่กระนั้นดร.กิริฎา เห็นว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวเหมือนเหรียญสองด้าน  คือเป็นทั้ง “ความเสี่ยง” และ “โอกาส” ของไทย

“ความเสี่ยง” คือ สินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาดไทยในสินค้าประเภทเดียวกัน ซึ่งสินค้าผลิตในไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาสินค้าที่ถูกกว่าได้

ขณะที่ “โอกาส” คือการนำวัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วนจากจีนมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าก็จะเกิดประโยชน์

เศรษฐกิจไทยโตน้อยสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของอาเซียน

การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเมื่อไปเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นเดียวกับไทย พบว่าเศรษฐกิจไทยโตน้อยที่สุด 

“หลายคนบอกว่าเพราะเรามีรายได้ต่อหัวที่สูงกว่าอินโดนีเซีย ลาว หรือกัมพูชา เพราะฉะนั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราอาจจะน้อยกว่าเขา เพราะฐานเราใหญ่กว่า แต่พอเราไปดูประเทศอื่นเช่น มาเลเซียซึ่งรายได้ต่อหัวมากกว่าไทยสองเท่า แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าไทย ในปีนี้คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจมาเลเซียน่าจะขยายตัวเกือบ 5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ของไทยขยายตัวได้ประมาณ 2.5 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเรายังต้องทำอะไรอีกมาก เพื่อที่จะขยายมูลค่าเพิ่มของการผลิตของเรา”

ดร.กิริฎา ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโต นอกจากอานิสงส์เรื่องราคาพลังงานแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมไฮเทค และการผลิต Semiconductor  ที่เป็นที่ต้องการของเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบัน โดยพบว่าที่ผ่านมามีภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่นี้ไปลงทุนที่มาเลเซียค่อนข้างมาก ทั้ง Data Center และ Cloud Computing (การให้บริการพื้นที่จัดเก็บและประมวลผลข้อมูล ตลอดจนระบบต่าง ๆ ที่ช่วยในการจัดการข้อมูล) สิ่งเหล่านี้ประเทศไทยยังพัฒนาสู้มาเลเซียไม่ได้

เดินหน้านโยบายอย่างไรให้GDPไทยสูงกว่าเดิม?

ดร.กิริฎา ระบุว่า ควรปรับปรุงกฎระเบียบ ขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆที่เกี่ยวกับธุรกิจ และการลงทุน ให้มีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในระยะสั้น และไม่ต้องใช้งบประมาณ  

โดยตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้วิธีการนี้ คือสิงคโปร์ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ทำธุรกิจได้ง่าย เพราะมีการลดขั้นตอนการขออนุญาตกับทางราชการ และดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหากประเทศไทยทำเช่นนี้ได้ก็จะสามารถดึงดูดการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่หลายประเทศย้ายฐานการผลิตจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์

“ตอนนี้เป็นโอกาสของเราแล้วที่จะดึงดูดการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตกันในระดับโลกขนาดนี้ ซึ่งอาจจะ 50 ปีมีครั้ง ภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้ บริษัทของไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือของสหรัฐฯอยากจะย้ายออกจากจีน หรือย้ายออกจากประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับเขา มาสู่ประเทศที่เป็นมิตร ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะเปิดรับทุกค่าย ทั้งค่ายอเมริกาและค่ายจีน เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะดึงดูดเขามา ที่ง่ายสุดคือการมาปรับกฎระเบียบของเรา” ดร.กิริฎาระบุ

ขณะเดียวกันเรายังต้องเร่งพัฒนาทักษะของแรงงานในประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์กับการลงทุนใหม่ๆที่เน้นทักษะการใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง หุ่นยนต์ และระบบ Automation

“ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่กำลังศึกษาอยู่เท่านั้น แต่รวมไปถึงคนที่ทำงานแล้ว จะต้องกลับมาคิดในเรื่องของการยกระดับ และเพิ่มทักษะของตัวเอง ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตามต้องมีการอัพเดทตลอดเวลาเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คิดว่าสำคัญมากเพราะจะทำให้คนไทยสามารถทำงานกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหม่ได้”

การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล  และสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เร็วและแรงให้มากขึ้น เพื่อดึงดูด “Digital Nomad” (ผู้ที่ทำงานออนไลน์และสามารถทำงานได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์) และ Data Center ที่เข้ามาในไทยแล้วหลายบริษัท

“ตอนนี้อินเทอร์เน็ตไทยเร็วและครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว แต่เทคโนโลยีพัฒนาเร็ว  อีก 2-3 ปีก็เป็น 6G ดังนั้นไทยต้องตามให้ทัน ต้องมีการลงทุนภาครัฐ ซึ่งภาครัฐเองจะต้องเตรียมงบประมาณไว้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆพวกนี้ เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นสถานที่ของธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ๆได้”

นอกจากนี้ยังมีประเด็น “พลังงาน” ที่ภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับ “พลังงานสะอาด” มากขึ้น

“นักลงทุนต่างขาติส่วนใหญ่จะถามว่ามีพลังงานสะอาดให้เขาไหม เพราะธุรกิจต้องลด Carbon Footprint  และบริษัทใหญ่ มี Net Zero เป็นเป้าหมาย จึงต้องการพลังงานสะอาด เป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะพัฒนาการผลิตพลังงานสะอาดให้มากขึ้นและเร็วขึ้น ถ้าทำได้แน่นนอนว่าบริษัทขนาดใหญ่ก็อยากจะมาลงทุน”

การพัฒนาและเดินหน้านโยบายเหล่านี้ไม่ใช่แค่เป็นไปเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังทำให้รายได้และความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นด้วย

รับฟังรายการพินิจเศรษฐกิจการเมือง : ส่องการเติบโต GDP ไทย กับความท้าทายที่รออยู่ กับดร.กิริฎา เภาพิจิตร