ปรับมาตรฐานอาชีพ ในยุค ‘Disruptive technology’

ราตรี ประสมทรัพย์

ทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมุ่งเน้นการพัฒนาคนเป็นหลัก ทั้งนโยบายที่มุ่งไปสู่การเป็น Thailand 4.0 นโยบายของรัฐด้านกำลังคน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ทำให้ประเทศต้องปรับทิศทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยการใช้นวัตกรรมมากขึ้นและพัฒนาคนให้มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญ

แต่การพัฒนาประเทศยังประสบปัญหาความไม่สอดคล้องของตลาดแรงงาน ที่ยังคงมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นในขณะที่ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับกลางในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และยังมีแรงงานส่วนเกินในระดับปริญญาตรี อีกทั้ง แรงงานมีสมรรถนะ หรือทักษะความสามารถไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ

ที่ผ่านมา ได้มีความพยายาม “พัฒนาระบบสมรรถนะ” หรือสร้างมาตรฐานความรู้  ความสามารถของกำลังคนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ความต้องการของตลาดแรงงานโดยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาระบบสมรรถนะของประเทศ อาทิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสภา/สมาคมวิชาชีพต่างๆ รวมทั้ง ภาคเอกชนก็มีส่วนร่วม

แต่คำถามสำคัญคือ ระบบสมรรถนะนั้น ถูกพัฒนาปรับปรุงให้สอดคล้องกับทักษะที่ต้องการในอนาคตอย่างไรบ้าง ทั้งด้านเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น เพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก จากเทคโนโลยี ต่างๆ และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่จะทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก พร้อมกับมีความต้องการงานใหม่ๆ เกิดขึ้น

Carl Benedikt Frey and Michael Aosborne (2013) วิเคราะห์กลุ่มอาชีพความเสี่ยงสูงที่จะถูกเทคโนโลยีทดแทนไว้ว่า คือกลุ่มงานที่ทำเป็นประจำซ้ำๆ เช่น งานสายพานการผลิต สามารถโดนแทนที่โดยหุ่นยนต์ประกอบ กลุ่มอาชีพที่ใช้ องค์ความรู้และใช้ทักษะ สามารถโดนลดบทบาทหน้าที่โดยเทคโนโลยี big data มาแทนได้ เช่นในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพสามารถใช้ฐานข้อมูลใหญ่วินิจฉัยโรคได้แม่นยำกว่าคน

อีกทั้งคาดการณ์ว่าประมาณ 47% ของการจ้างงานในสหรัฐจะถูกทดแทนภายใน 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งงานที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะถูกทดแทนด้วยคอมพิวเตอร์ค่อนข้างเร็วจะอยู่ในกลุ่มคมนาคมและโลจิสติกส์ กลุ่มสายงานออฟฟิศ กลุ่มแรงงานในสายการผลิต และกลุ่มงานบริการ ขณะเดียวกันข้อมูลจาก WEF พบว่างานใหม่ๆ จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นอาทิ Data analysts and scientist, AI and machine learning specialists, Big data เป็นต้น

หากกล่าวถึงหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบสมรรถนะของประเทศไทย คือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มีหน้าที่ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้ได้มาตรฐานอาชีพที่เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการ ครอบคลุมกลุ่ม เกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการให้สามารถเทียบเคียงกับมาตรฐานอาชีพของ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและนานาประเทศ ในสาขาวิชาชีพเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษานำไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน

ที่สำคัญคุณวุฒิวิชาชีพยังเป็นประโยชน์โดยตรงต่อกำลังคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีคุณวุฒิการศึกษาระดับสูงแต่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพ สามารถอาศัยระบบคุณวุฒิวิชาชีพในการรับรองสมรรถนะที่มีเพื่อต่อยอดอาชีพและการทำงานในอนาคตต่อไปได้

เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มอาชีพที่มีการจัดทำสมรรถนะของไทย โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พบว่ามีการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพแล้วจำนวน 54 สาขาอาชีพ 680 อาชีพ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 พ.ค.2562) เมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพที่มีความเสี่ยงที่จะถูกเทคโนโลยีทดแทน จากงานวิจัยของ Carl Benedikt Frey and Michael AOsborne จะมีกลุ่มอาชีพเกือบ 20 สาขา อาชีพ อาทิ สาขาโลจิสติกส์ สาขาการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ สาขาวิชาชีพก่อสร้าง สาขาวิชาชีพการบิน และบริการสุขภาพ

แม้จะมีอาชีพที่จัดทำขึ้นมาใหม่สามารถรองรับกลุ่มอุตสาหกรรม S Curve และความเสี่ยงต่ำที่จะถูก Disrupt อยู่บ้างแต่ยังมีจำนวนไม่มาก อาทิ สาขาวิชาชีพรถไฟความเร็วสูงและระบบรางสาขา วิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนท์

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลกลุ่มอาชีพที่อาจถูกเทคโนโลยีทดแทน ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดของแต่ละสาขาอาชีพได้ว่ามีการนำเทคโนโลยีมาใช้เทียบเท่ากับสหรัฐหรือไม่ และไม่ได้บ่งบอกว่าแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพมีปริมาณการจ้างงานและระดับการใช้เทคโนโลยีอยู่ระดับใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะส่งผล ต่อโอกาสในการถูกเทคโนโลยีทดแทนได้เร็วหรือช้าแตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของทุนและความรู้ของบุคลากรอีกด้วย

ระบบคุณวุฒิวิชาชีพจะเป็นที่รู้จักและมีประโยชน์มากยิ่งขึ้นในอนาคต สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพต้องตื่นตัว การจัดทำมาตรฐานอาชีพนั้นจะต้องเน้นจัดทำมาตรฐานอาชีพที่ถูกทดแทนได้น้อยและยังมีปริมาณการจ้างงาน ในจำนวนที่มากอยู่ จะทำให้การจัดทำมาตรฐานอาชีพไม่เปล่าประโยชน์ เพราะแท้จริงแล้วระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพมีประโยชน์อย่างมากในพัฒนาสมรรถนะของกำลังคน ตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

ดังนั้นการจัดทำมาตรฐานอาชีพควรปรับให้ทันต่อปัจจุบัน มีมาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพรองรับอาชีพใหม่ๆ และ ควรทบทวน ยกเลิกอาชีพที่จัดทำแล้วมีโอกาส ถูก Disrupt ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า และ เติมเต็มด้วยการฝึกอบรมเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานเข้ามาทดสอบและรับรองสมรรถนะ ก็จะช่วยให้มาตรฐานอาชีพและ คุณวุฒิวิชาชีพเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการ ไม่ถูก Disrupt เสียเอง

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2563