tdri logo
tdri logo

รัฐบาลถ่ายทอดสดโครงการน้ำ 2.91 แสนล้าน เผยเค วอเตอร์ได้มูลค่า 1.63 แสนล้าน ด้านอิตาเลี่ยนไทย/จีนได้วงเงิน 1.1 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงชี้แจงโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ผ่านการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ จากนั้นได้เข้าการถ่ายทอดสดกระบวนการคัดเลือก บริษัทที่ชนะการประมูลข้อเสนอทางเทคนิค โครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 291,000 ล้านบาท โดยแสดงวิธีการให้คะแนนตัดสินด้านเทคนิค และได้เปิดซองราคาหลังได้ผู้ชนะด้านข้อเสนอเทคนิคแล้ว

นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้าง ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย แถลงว่า คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ ได้ตัดสินการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 291,000 ล้านบาท ในส่วนของข้อเสนอด้านเทคนิคเรียบร้อยแล้วทั้ง 9 โมดูล โดยโมดูล A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก วงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มบริษัทไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า จอยต์เวนเจอร์ เป็นผู้ชนะโดยได้คะแนนด้านเทคนิค 96.43 คะแนน หลังจากนั้นได้เปิดซองราคา กลุ่มบริษัทไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า จอยต์เวนเจอร์ เสนอราคาที่ 49,999.894 ล้านบาท ขณะที่อันดับ 2 ได้แก่บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 90.60 คะแนน

ประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ กล่าวว่า สำหรับโมดูล A2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา วงเงิน 26,000 ล้านบาท ผู้ชนะได้แก่กลุ่มบริษัท ไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า จอยต์เวนเจอร์ได้ 88.78 คะแนน เสนอราคาที่ 26,000 ล้านบาท อันดับ 2 บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 85.96 คะแนนส่วนโมดูล A3 การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทาน ในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์ เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว วงเงิน 10,000 ล้านบาท ผู้ชนะได้แก่ บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 90.32 คะแนน เสนอราคาที่ 9,999.99 ล้านบาท อันดับ 2 กลุ่มบริษัทไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า จอยต์เวนเจอร์ได้ 87.72 คะแนน

นายธงทอง กล่าวอีกว่า โมดูล A4 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำในพื้นที่แม่น้ำยม น่าน และเจ้าพระยา จำนวน 17,000 ล้านบาท ผู้ชนะได้แก่กลุ่มบริษัทไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า จอยต์เวนเจอร์บริษัท ได้ 90.09 คะแนน เสนอราคาที่ 17,000 ล้านบาท อันดับที่ 2 บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 89.87 คะแนน ในขณะที่โมดูล A5 การจัดทำทางผันน้ำ (Flood Diversion Channel) ขนาดประมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งการก่อสร้างถนนเพื่อรองรับคมนาคม ซึ่งเป็นโมดูลที่มีวงเงินสูงสุด 153,000 ล้านบาท ผู้ชนะคือบริษัท เค วอเตอร์ ได้ 89.84คะแนน เสนอราคาที่ 153,000 ล้านบาท อันดับที่ 2 กลุ่มบริษัท ไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า จอยต์เวนเจอร์ได้ 88.26 คะแนน

ประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ กล่าวว่า โมดูล A6 และB 4 ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ วงเงินรวม 4,000 ล้านบาท ผู้ชนะได้แก่บริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ ได้ 91,02คะแนน เสนอราคาที่ 3,997.52 ล้านบาท ส่วนอันดับ 2 บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 90.07 คะแนน และอันดับ 3 กลุ่มบริษัทไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า จอยต์เวนเจอร์ได้ 89.63 คะแนน ส่วนกลุ่มโมดูล B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่17 ลุ่มน้ำ วงเงิน 12,000 ล้านบาท ผู้ชนะได้แก่กลุ่มบริษัทไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า จอยต์เวนเจอร์ ได้ 94.60 คะแนนเสนอราคาที่ 11,999.733 ล้านบาท อันดับ 2 บริษัท เค วอเตอร์ได้ 90.49 คะแนน

นายธงทอง กล่าวด้วยว่า ขณะที่โมดูล B2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ จำนวน 14,000 ล้านบาท ผู้ชนะได้แก่ กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที ได้ 91.96 คะแนน เสนอราคาที่ 13,933.744804 ล้านบาท ทั้งนี้อันดับ 2 บริษัท เค วอเตอร์ ได้ 89.42 คะแนน และอันดับ 3 กลุ่มบริษัทไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า จอยต์เวนเจอร์ได้ 88.26 คะแนน และโมดูล B3 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ จำนวน 5,000 ล้านบาท ผู้ชนะได้แก่กลุ่มบริษัทไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า จอยต์เวนเจอร์ได้ 91.38 คะแนน เสนอราคาที่ 5,000 ล้านบาท อันดับ 2 บริษัท เค วอเตอร์ได้ 89.38 คะแนน

ประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ กล่าวว่า ภาพรวมทั้ง 9 โมดูลวงเงิน 291,000 ล้านบาทกลุ่มบริษัทต่างๆรวมแล้วเสนอราคามาที่ 290,930.882 ล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ 69.118 ล้านบาท โดยพบว่า บริษัท เค วอเตอร์ ชนะข้อเสนอเทคนิก 2 โมดูลคือ A3 การทำแก้มลิงและ เอ5 การทำทางผันน้ำ วงเงินรวม 2โครงการ 163,000 ล้านบาทคิดเป็น 56.01% ของวงเงินทั้งหมด โดยเสนอรวม 2 โมดูลที่ราคา 162,999.99 ล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ 10,000 บาท ขณะที่กลุ่มบริษัทไอทีดี พาวเวอร์ ไชน่า จอยต์เวนเจอร์ ชนะข้อเสนอด้านเทคนิค 5 โมดูลคือ A1, A2, A4, B1 และ B3 รวมวงเงิน 110,000 ล้านบาท คิดเป็น 37.80% ของวงเงินรวม โดยเสนอราคารวมทั้ง 5 โมดูลที่ 109,999.627 ล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ 373,000 บาท ส่วนกิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูทีชนะในโมดูลB 2 พื้นที่ปิดล้อมวงเงิน 14,000 ล้านบาท เสนอราคาที่ 13,933.744804 ล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ 66,255,196 บาท และ บริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์ ชนะข้อเสนอเทคนิคในโมดูล A6/ B4 ด้านคลังข้อมูลวงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยเสนอราคาที่ 3,997.52 ล้านบาท ต่ำว่าวงเงินที่กำหนดไว้ 2.48 ล้านบาท

“หลังจากได้ผู้ชนะข้อเสนอเทคนิคในแต่ละโมดูลแล้ว ในระหว่างวันที่ 11-13 มิ.ย.นี้ คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ จะเรียกบริษัทมาเจรจาต่อรองราคาเพื่อให้ได้ราคาต่ำสุด โดยแต่ละงานจะนำไปเทียบกับงานในลักษณะเดียวกันที่สำนักงบประมาณมีข้อมูลอยู่ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐมากที่สุด ถ้าต่อรองราคาไม่ได้ จะเรียกบริษัทอันดับถัดไปมาเจรจา ซึ่งทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งว่า ให้ส่งวาระเพื่อบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ เพื่อให้ครม.พิจารณาในวันที่ 18 มิ.ย.2556 หลังจากนั้นทางกระทรวงการคลัง จะดำเนินการตามขั้นตอนการกู้เงิน ตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้” นายธงทอง กล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 10 มิถุนายน 2556 ในชื่อ รัฐบาลถ่ายทอดประมูลโปรเจ็กต์น้ำ2.91แสนล.