เปิดฉากประมูลน้ำ 4 บริษัทร่วมชิงดำ

วันที่2013-05-03

เปิดฉากประมูลน้ำรอบสุดท้าย จีนจัดทัพเอกสาร 1,800 กล่อง แบ่งเค้กเกาหลี ชิง 9 งบน้ำ 3 แสนล้าน “ทีมไทยแลนด์” สละสิทธิ์

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ตลอดทั้งวันที่ผ่านมา กบอ. ได้เปิดให้เอกชนทั้ง 5 กลุ่มบริษัท เข้ามายื่นข้อเสนอ Definitive Design ของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.01 แสนล้านบาท ในโมดูลที่ผ่านการพิจารณาจากข้อเสนอโครงการ Conceptual Plan โดยบรรยากาศที่ตึกแดง ทำเนียบรัฐบาล เป็นไปอย่างคึกคัก ตั้งแต่เปิดรับซองเวลา 08.00 น.

คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ กบอ. ได้เปิดให้บริษัทเอกชนเข้ายื่นเอกสารการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.01 แสนล้านบาท ตามกำหนด หลังจากศาลมีคำสั่งยกคำฟ้องของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ขอให้ระงับการประมูลโครงการดังกล่าวไว้ก่อน

นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้ซักซ้อมและชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ถึงกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องในการตรวจรับเอกสารการประมูล โดยย้ำชัดว่า เอกชนผ่านเข้ารอบมากี่โมดูล จะต้องส่งเอกสารให้ครบทุกโมดูล มิเช่นนั้นจะถือว่าฟาวล์

เวลาประมาณ 10.00 กลุ่มบริษัทไทย-จีน หรือ ITD-POWERCHINA JV ได้เดินทางมายื่นเอกสารเป็นรายแรก โดยยื่นครบทั้งเก้าโมดูล เอกสารกว่า 1,800 กล่อง แบ่งเป็นต้นฉบับ และสำเนา จำนวน 25 ชุด โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบ ความถูกต้อง และรับเอกสารต้นฉบับไว้ พร้อมทำการปิดผนึกปิด ส่วนเอกสารที่เหลือทั้งหมด ได้นำไปไว้ที่โกดังเอกสาร เพื่อฉีดสารเคมีกำจัดปลวก ก่อนลำเลียงขึ้นไปเก็บไว้บริเวณชั้นสองของสำนักงานกบอ.

จากนั้นเวลา 11.00 น. กิจการค้าร่วมซัมมิท เอสยูที ที่ได้ไปในโมดูล บี 2 ได้นำเอกสารจำนวน 156 กล่อง รวมต้นฉบับและสำเนา ยื่นต่อเจ้าหน้าที่เป็นรายที่ 2

โดยในส่วนบริษัทเควอร์เตอร์ ซึ่งผ่านการคัดเลือกทั้ง 9 โมดูล ได้ยื่นเอกสารจำนวน 250 กล่องเป็นรายถัดมา ตามด้วยเอกสารจำนวน 10 กล่อง ของกลุ่มบริษัทล็อกซเลย์ ที่ได้ไปในโมดูลเอ 6 บี4

จนกระทั่งเวลาประมาณ 13.30 น. ผู้แทนจากกิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ กบอ. หลังจากพิจารณาร่วมกันแล้วว่าจะไม่ยื่นข้อเสนอโครงการในขั้นตอนต่อไป โดยอ้างว่าจากการศึกษาขอบเขตงานและข้อกำหนดพบว่า กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ไม่สามารถดำเนินงานภายในวงเงินที่กำหนดได้ จึงไม่สามารถยื่นข้อเสนอ Definitive Design ในโมดูลเอ 3 เอ6 และบี4 ของโครงการนี้ได้ โดยได้ทำหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการฯ

สรุปการประมูลในวันนี้เหลือเพียง 4 กลุ่มบริษัทที่ยังคงเดินหน้าประมูลโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ส่วนอีก 2 บริษัท คือ ญี่ปุ่นไทย และทีมไทยแลนด์ ที่ตัดสินใจถอนตัวจากการประมูลครั้งนี้ จากปัญหาความเสี่ยง และวงเงินที่จำกัด

จีน-เกาหลี แบ่งเค้กงบน้ำ

นายสุเมธ สุรบุตรโสภณ รองประธานบริหารบริษัท อิตาเลี่ยนไทย เปิดเผยภายหลังเดินทางยื่นเอกสารประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทว่า บริษัทได้คัดเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการน้ำ มารวมอยู่ในข้อเสนอโครงการ กว่า 4,000 แผ่น ที่รวมข้อมูลด้านเทคนิค รวมถึงราคาของทั้ง 9 โมดูลที่ได้รับคัดเลือก

บริษัทได้ระดมเจ้าหน้าที่กว่า 1 พัน คนทั้งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน ไทย และทีมเนเธอร์แลนด์ โดยพยายามเขียนข้อเสนอโครงการในส่วน Definitive Design ให้สอดคล้องกับทีโออาร์ ซึ่งมั่นใจว่าเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด เท่าที่ทำได้

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการ รวมถึงขั้นตอนการทำอีไอเอ ภาครัฐควรอำนวยความสะดวกให้การทำงานเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ซึ่งส่วนตัวเชื่อมั่นว่าการประมูลนี้เป็นการประมูลตามปกติของภาครัฐ เพียงแต่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีความพยายามในการผลักดันมากว่า 20 ปี ทำให้มีการจับตาเป็นพิเศษจากหลายฝ่าย

สำหรับรายละเอียดของข้อเสนอโครงการ ไม่ขอเปิดเผย จนกว่าจะมีการประกาศผล และย้ำว่าได้เลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ที่จะสามารถสร้างความมั่นใจด้านการป้องกันอุทกภัยให้กับประเทศ โดยทุกโครงการสามารถเดินหน้าได้ทันที เขื่อนที่ผ่านอีไอเอแล้ว ส่วนโมดูลที่คาดว่าจะเสร็จเป็นโมดูลสุดท้ายคือคลังข้อมูลน้ำ ซึ่งต้องประสานข้อมูลจากทุกโมดูลเข้าไว้ด้วยกัน

นายมณฑล ภาณุโภคิน กรรมการผู้จัดการบริษัทเควอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยอมรับว่าเป็นไปได้ยากที่บริษัทเดียวจะชนะการประมูลในทุกโมดูล แต่อย่างไรก็ตามโคเรียวอเตอร์ พร้อมทำงานร่วมกับทุกบริษัท และพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล โดยมองว่าการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ

โดยบริษัทได้ตั้งใจทำตามข้อกำหนดของทีโออาร์ทุกโมดูล ทั้งนี้ผลจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดด้านเทคนิคการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าในหมวดก่อสร้างที่มีโอกาสแปรผันในระยะเวลา 5 ปี ในที่สุดอาจจำเป็นต้องเจรจาต่อรองด้านราคาเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ

นายอภิชาติ อนุกูลอำไพ คณะกรรมการด้านวิชาการแจงว่า หลังจากนี้ กบอ. จะตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแต่ละแผนงานขึ้นมาทำหน้าที่อ่านเอกสารทั้งหมด โดยคณะกรรมการจะพิจารณาข้อเสนอ และให้คะแนนด้านเทคนิค 60 คะแนน ด้านวิธีการ 20 คะแนน และด้านราคา 20 คะแนน โดยในวันที่ 27 พ.ค. จะประกาศผลลำดับคะแนนการประมูลด้านเทคนิค รวมถึงเปิดให้เอกชนเข้ามาชี้แจง ก่อนส่งเอกสารให้กรรมการชุดที่มีปลัดสำนักนายก นายธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน ในการพิจารณาด้านราคาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผลการคัดเลือกจะถูกส่งกลับมายังกบอ. เพื่อรับทราบและยื่นต่อ ครม.พิจารณาและประกาศผล โดยคาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 4 มิ.ย นี้ ก่อนที่รัฐบาลจะเดินหน้ากู้เงินจากธนาคารในประเทศ และเข้าสู่กระบวนการทำสัญญาจ้างในอีก 2 เดือนภายหลังประกาศผลผู้ชนะการประมูล 1 บริษัทต่อ 1 โมดูล


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ในชื่อ ปิดฉากประมูลน้ำ4บริษัทร่วมชิงดำ