ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “ยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย” จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอว่า จากการดำเนินการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) เรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ให้หน่วยราชการเสนอโครงการต่างๆ เกรงว่าจะเกิดโครงการขึ้นจำนวนมาก กระจัดกระจาย ไม่บูรณาการกันและเกิดความซ้ำซ้อน เพราะแต่ละหน่วยงานก็ทำหน้าที่ต่างกัน อาจเกิดปัญหาเหมือนขนมชั้น จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งมีถึง 6 ระดับที่ต้องบูรณาการกัน “ชั้นที่ 1 ทำอย่างไรให้โครงการต่างๆ ของราชการบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกันได้ ชั้นที่ 2 ทำอย่างไรให้ภาครัฐ เอกชนและประชาชนคุยกันได้ ซึ่งวัฒนธรรมการทำงานของภาครัฐมักจะทำกันเอง ชั้นที่ 3 จะบูรณาการอย่างไรในส่วนน้ำท่วม น้ำแล้งและน้ำเสีย ชั้นที่ 4 การบูรณาการใช้น้ำและการใช้ที่ดิน และชั้นที่ 5 การบริหารจัดการน้ำจะเป็นรูปแบบใด รัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งไทยชินกับการรวมศูนย์ และชั้นสุดท้าย การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก” ดร.นิพนธ์ กล่าวและว่าเมื่อก่อนมีการทำแผนขนาดใหญ่และประเมินผลทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ซึ่งพบว่ามีประโยชน์อย่างมหาศาล แต่ขณะนี้โครงการไม่ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า แต่มีผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด จากการวิจัยจากประเทศจีนระบุว่า โครงการป้องกันน้ำท่วมไม่เป็นไปตามสัญญาที่รัฐบาลให้ไว้กับประชาชน โดยรัฐบาลจะเน้นเฉพาะผลประโยชน์โดยรวมของโครงการและหลีกเลี่ยงการพูดถึงผลกระทบในทางลบ มีการปิดบังข้อมูลโดยนักการเมือง การเสนอโครงการต่างๆจะระบุเพียงวงเงินชดเชยเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนความคิดมองเรื่องผู้ที่ได้ประโยชน์ ความเสี่ยงและผู้รับภาระมากขึ้น โดยจะต้องให้ทางเลือกกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและควรมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ซึ่งที่ผ่านมามองการมีส่วนร่วมเป็นเพียงพิธีกรรมที่ต้องทำให้เสร็จและจะทำเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่มีการตัดสินใจมาแล้ว
ขณะเดียวกันพบว่ายังมีปัญหาเรื่องการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่หลายกรณีพบว่ารายงานมีคุณภาพต่ำ เพราะเน้นประหยัดงบประมาณและเวลา จึงต้องแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนผู้ได้รับผลกระทบและการชดเชยก็พบว่าการเวนคืนที่ดินกลายเป็นฝันร้ายของคนชนบทเพราะราคาพื้นที่ต่ำกว่าตลาดเสมอ ทั้งที่ พ.ร.บ.เวนคืนระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องเป็นไปตามกลไกตลาด แต่เมื่อเกิดปัญหากลับร้องเรียกทางการเมืองเท่านั้น ยังไม่มีระบบและกติกาที่ถาวร จึงเสนอว่าจะต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยให้ผู้ที่ได้ประโยชน์ต้องรับผิดชอบและชดเชยให้ผู้เสียหาย เช่น หากคน กทม.ได้ประโยชน์จากการจัดการน้ำก็ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นและนำภาษีดังกล่าวชดเชยในการเวนคืนหรือการดูแลผู้เสียหายให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ขณะที่ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กรอบการทำงานเรื่องภัยพิบัตเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยจะต้องพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากขึ้น ซึ่งมีการพูดถึงว่าอนาคตไทยอาจจะต้องผันน้ำมาจากต่างประเทศ ดังนั้นขณะนี้ยุทธศาสตร์ที่ตั้งขึ้นต้องมีการทำงานเชิงรุกมากขึ้นที่เน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน การปรับตัวและมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ โดยคำนึงถึงความไม่แน่นอนในอนาคต และจะต้องประเมินความเสี่ยงก่อนที่จะจัดทำแผนและต้องมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งเศรษฐกิจและสังคม ความเหมาะสมของทรัพยากร “เมื่อเกิดอุทกภัยปี 2554 ประเทศมีบทเรียนซึ่งไม่มีใครไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิมและอาจจะมากกว่าเดิมเพราะขณะนี้เป็นการทำงานภาพรวมทั้งประเทศ คสช.ควรจะให้เวลาสัก 1 ปี ไม่จำเป็นต้องบังคับหน่วยงานว่าต้องออกมา นอกจากนี้ในส่วนปัญหาภัยแล้ง ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมายืนยันชัดเจนว่าจะรับมืออย่างไร ซึ่งภาคประชาสังคมมีความกังวลมากในส่วนนี้”
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 19 สิงหาคม 2557 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอ ชี้บริหารจัดการน้ำยุค คสช.ซ้ำซ้อนแนะทำแผนเชิงรุกบริหารความเสี่ยง