ผลกระทบปรับค่าจ้าง ช่วยลดเหลื่อมลํ้า

ปี2012-05-02

“ชัดเจนว่าการนโยบายค่าแรงไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวันและเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทของรัฐบาลครั้งนี้  มีผลกระทบมาก เกิดการปรับในขนานใหญ่ของฝ่ายนายจ้าง เพื่อลดภาระต้นทุน  รักษาส่วนต่างกำไรไม่ให้น้อยลง   แต่หากไม่วิตกกับผลกระทบด้านลบจนเกินไป  การช็อกโครงสร้างค่าจ้าง  ก็มีผลในด้านดีที่คาดไม่ถึงเช่นกัน  เพราะเป็นการยกโครงสร้างรายได้ทั้งประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของผู้ใช้แรงงาน ขณะเดียวกันการปรับตัวให้รอดของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการค้าการลงทุน ให้กับเขาในโลกการค้าเสรีที่กำลังเกิดขึ้นได้”

เกี่ยวกับเรื่องนี้  ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์  ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน  ทีดีอาร์ไอ  กล่าวว่า การช็อกค่าจ้างไปอย่างรุนแรงนี้ มีผลทำให้ทุกคนตื่นตัวและเห็นว่าค่าจ้างเป็นส่วนที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจในอันที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของคนกลุ่มต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนขายแรงงาน ขณะเดียวกันโครงสร้างแรงงานในฝ่ายต้องการใช้แรงงานซึ่งไม่ได้ปรับตัวมานานก็เกิดการปรับตัว  จากปัจจัยนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงและมาตรการฟื้นฟูจากปัญหาอุทกภัย  ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจปรับปรุงกิจการครั้งใหญ่

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้มีผู้ประกอบการหรือนายจ้างบางกลุ่มที่ปรับตัวไม่ได้ก็ต้องเลิกกิจการ   โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป  โดยอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตประกอบอย่างเดียวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด นายจ้างจึงต้องตื่นตัวและเร่งปรับตัวจึงจะอยู่รอด  แต่บางส่วนที่ปรับตัวไม่ได้หรือปรับปรุงกิจการใช้เทคโนโลยีคู่แรงงาน  ปรับโครงสร้างภายในแล้วยังไม่สามารถลดต้นทุนได้เพียงพอและยังเป็นกิจการที่ใช้แรงงานเป็นหลัก  มีเรื่องค่าจ้างเป็นปัจจัยสำคัญ  ก็อาจพิจารณาการย้ายฐานการผลิตไปในประเทศใกล้เคียงที่มีต้นทุนแรงงานถูกกว่า เช่น พม่า กัมพูชา ฯลฯ

มีข้อมูลที่รับรู้กัน(ไม่เป็นทางการ) เกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านคือ  พม่า 30-45 บาทต่อวัน กัมพูชา 50-60 บาท เวียดนาม 67-96 บาท อินโดนีเซียอยู่ที่ 90-230 บาท ไทยเฉลี่ย 250 บาทต่อวัน  ขณะที่การสำรวจค่าจ้างรายเดือนของภาคอุตสาหกรรมจริง ๆ (จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศแห่งหนึ่งในปี 2555) เฉลี่ยต่อเดือนพบว่า สิงคโปร์สูงกว่าไทย 11 เท่า   มาเลเชียสูงกว่าไทย 1.7 เท่า ฟิลิปปินส์ใกล้เคียงกับไทยโดยต่ำกว่าเล็กน้อยที่ 0.3%  อินโดนีเซียต่ำกว่า 47%  เวียดนามต่ำกว่า 44% จีนสูงกว่าไทย 68% เป็นต้น

แต่การตัดสินใจลงทุนยังต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ ประกอบอีกมาก เอสเอ็มอีไทยต้องเรียนรู้และเอาตัวรอด เปิดโลกทัศน์การลงทุน(มีความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่ น การเงิน การปกครอง กฏหมายให้มากกว่านี้)  ไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะการลงทุนในประเทศเท่านั้น  เนื่องจากต่อไปจะเป็นการค้าเสรีภายใต้ชุมชนเศรษฐกิจอาเซียนมากขึ้น เราต้องคิดการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอีกทางเลือกที่มีค่าจ้างต่ำกว่าไทยอีกมากดังสุภาษิตจีนที่ว่า “ขาขวายังอยู่เมืองไทยแต่ขาซ้ายก้าวไปประเทศอาเซียน” ถ้าจะพลาดก็คงไม่ถึงตาย

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า หากมองในแง่แรงงานอย่างเดียว  ส่วนตัวคิดว่าการปรับค่าจ้างสูง (มาก)จะไม่มีผลเลวร้ายอย่างที่คิด  เนื่องจากผู้ใช้แรงงานจะเกิดการปรับตัวอย่างมากเช่นกัน  โดยหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนมีการจัดฝึกอบรมหรือรีเทรนด์นิ่งครบวงจร  เอสเอ็มอีกลุ่มเสี่ยงอาจเน้นเป็นการอบรมเพื่อเปลี่ยนอาชีพไปเลย  ขณะที่ฝ่ายแรงงานซึ่งบางส่วนถูกเลิกจ้าง เกิดการว่างงานเฉพาะกลุ่ม  ขณะที่นายจ้างเมื่อปรับปรุงก็ต้องการแรงงานที่มีความสามารถเฉพาะเช่นกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ ต้องมีความเข้มข้นในการจัดฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพแรงงานตามที่ต้องการ ซึ่งจะช่วยทั้งตัวแรงงานและนายจ้างปรับตัวให้รอดได้  โดยมีเงื่อนที่นายจ้างกลุ่มเสี่ยงก็ต้องให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันด้วย และการอบรมควรเน้นไปที่คนที่จะเข้ามาแทนคนที่ขาดหรือถูกปรับออก

ในสถานการณ์นี้ลูกจ้างเมื่อตกงานก็ยังสามารถไปทำงานที่อื่นหรือกลับไปสู่ภาคเกษตรที่รองรับได้ แต่ผลกระทบกับนายจ้างที่ปรับตัวไม่รอด การตกงานของนายจ้างจึงเป็นการเปลี่ยนสถานะจากนายจ้างไปเป็นลูกจ้างในสถานประขนาดใหญ่หรือมาฝึกอบรมเพื่อเปลี่ยนอาชีพไปเลย ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการสร้างโอกาสเช่นกัน.