สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI (Thailand Development Research Institute) เป็นสถาบันวิจัยเชิงนโยบายที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ในรูปของมูลนิธิ เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่ง ทีดีอาร์ไอทำงานเชิงวิจัยนโยบายหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านเศรษฐกิจ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ให้เป็นนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ
ในโอกาสที่ทีดีอาร์ไอ ได้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานสถาบันจาก ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ที่หมดวาระมาเป็นดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้สัมภาษณ์ดร.สมเกียรติถึงบทบาทและการขับเคลื่อนของนักวิชาการทีดีอาร์ไอต่อจุดยืนและแนวทางในการแก้ไขปัญหาของประเทศ
ไทยพับลิก้า : จากเจตนารมณ์ของทีดีอาร์ไอที่ผ่านมาได้ทำอะไรมาบ้างและจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ในตอนแรกทีดีอาร์ไอ ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้ร่วมงานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานวางแผน แต่ว่าสภาพัฒน์ฯ ต้องทำงานในแต่ละวัน ไม่สามารถทำการวิจัยเพื่อสนับสนุนการวางแผนได้ อาจารย์เสนาะ อูนากูล ผู้ที่ตั้งทีดีอาร์ไอ ขึ้นมา จึงมีแนวคิดว่าน่าจะมีหน่วยงานเสริมมาทำวิจัย เพื่อเอาไปต่อยอดนโยบาย ต่อยอดการทำแผนโดยสภาพัฒน์ฯ ทีดีอาร์ไอจึงตั้งขึ้นมาเหมือนเป็นน้องสภาพัฒน์ฯ หลังจากนั้นก็พลัดพรากจากกันไป มีร่วมงานกันบ้าง แต่ในที่สุดก็ออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ เป็นมูลนิธิ ไม่ใช่เป็นองค์กรภาครัฐ
เราเป็นเหมือนกับคลังสมองหรือ think tank ซึ่งในหลายประเทศที่พอเริ่มตั้งโดยรัฐแล้วก็อยู่กับรัฐตลอดไป ซึ่งการเดิน 2 เส้นทางนี้จะมีข้อดีข้อเสียของมัน เดินเส้นทางแบบทีดีอาร์ไอ คือคลังสมองที่เป็นอิสระ ไม่ไปผูกพันกับภาครัฐ เพราะความเป็นอิสระทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในเรื่องการพูด คนจะรู้ว่าไม่ใช่พูดสะท้อนมุมมองของรัฐ เป็นมุมมองที่เป็นอิสระ เป็นมุมมองของวิชาการ นั่นคือข้อดี
ส่วนองค์กรที่ไปเป็นคลังสมองอยู่ในภาครัฐ บางครั้งเราจะไม่ได้ยินองค์กรออกมาพูดจาในบางเรื่องที่พูดไปแล้วรัฐจะไม่มีความสุข หรือถ้าไปอยู่ในภาครัฐแล้วถูกมองว่าสร้างโดยรัฐบาลหนึ่ง เป็นพวกรัฐบาลนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล บทบาทก็จะเปลี่ยนไป เช่น ในกรณีประเทศเพื่อนบ้านเรา คือ มาเลเซีย ที่มีหน่วยงานที่เกิดขึ้นมาไล่เลี่ยกันกับทีดีอาร์ไอ ชื่อ MIER(Malaysian Institute of Economic Research) ที่ถูกมองว่าไปใกล้ชิดกับนายอันวาร์ อิบราฮิม มาก พอมหาเธร์ โมฮัมหมัด กับอันวาร์แตกกัน มหาเธร์ก็เลิกใช้ MIER อันนี้ก็เป็นด้านหนึ่งของคลังสมองซึ่งอยู่ใกล้รัฐมากเกินไป ซึ่งภาครัฐก็เหมือนพระอาทิตย์ อยู่ใกล้มากก็ร้อน
ทีดีอาร์ไออาจจะอยู่ไกลไปหรือเปล่าไม่ทราบ จึงมีจุดอ่อนอันหนึ่งก็คือ พอเป็นอิสระมาก ได้ข้อเสนอนโยบายมา บางครั้งภาครัฐก็จะต้องใช้เวลาในการดูข้อเสนอเยอะนิดหนึ่ง เพราะไม่ได้เป็นองค์กรของรัฐที่รับรู้มาตั้งแต่ต้น ก็จะมีข้อเสียแตกต่างกัน
ตัวชี้อิสระที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งก็คือ เนื่องจากไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐ จึงไม่มีงบประมาณภาครัฐมาสนับสนุน ตัวนี้เองที่เป็นตัวสำคัญ เพราะต่อให้มีใจเป็นอิสระแต่ต้องไปขอสตางค์รัฐอยู่ทุกปี ไปของบประมาณผ่านสภา สุดท้ายแล้วความเป็นอิสระก็จะหายไป และจะมีผลผูกพันปีหน้าว่าจะไปขอแล้วต้องเจออะไรอีก คนก็จะรู้สึกแหยง
การที่ทีดีอาร์ไอออกมาเป็นอิสระ มุมนั้นไม่มีปัญหา แต่ก็แปลว่าต้องดิ้นรนขวนขวายเอง ซึ่งการทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ เมื่อไม่ใช่หน่วยงานรัฐก็จะไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ ไม่เหมือนกับมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือสถาบันวิจัยของรัฐ ซึ่งตามกฎหมายบอกว่าในภาวะเร่งด่วนก็จ้างได้เลยโดยไม่ต้องแข่งขัน ของเราไม่อยู่ในข่ายนั้น ต้องแข่งขันแทบจะทุกโครงการ
ไทยพับลิก้า : เป็นแบบนี้ถือว่าดีไหม
แบบนี้ทำให้ต้องผลิตงานที่ตลาดยอมซื้อ ตลาดยอมรับ แต่ก็เหมือนกับทุกเรื่องที่ไปพึ่งกลไกตลาด ซึ่งกลไกตลาดก็มีข้อดีเรื่องประสิทธิภาพในหลายเรื่อง แต่มันก็มีข้อเสียของมัน มีบางเรื่องที่ตลาดไม่อยากให้ผลิต เช่น ถ้าเราทำหน้าที่รับงานจากหน่วยงานรัฐ จากกระทรวง จากกรม เรื่องอะไรที่มันข้ามกระทรวง ข้ามกรม ก็จะเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม เช่น ถามว่าปัญหาความยากจนไม่ได้แก้ที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง โจทย์อย่างนี้อาจมาจากสภาพัฒน์ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางๆ ได้ แต่นอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีมาจากกระทรวงไหน
หรือโจทย์เรื่องความสามารถในการแข่งขัน ไม่ได้มาจากกระทรวงเศรษฐกิจกระทรวงเดียว ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงไอซีที เพราะมันเป็นประเด็นที่คาบเกี่ยวไปทุกกระทรวง โจทย์อย่างนี้ก็จะไม่ค่อยมีคนว่าจ้างให้ทำ เป็นสินค้าที่ตลาดไม่ผลิต
และมีสินค้าบางอย่างซึ่งตลาดผลิตมากเกินไป เช่น AEC ก็จ้างกันทุกกระทรวง เพราะแต่ละกระทรวงก็ต้องการจะมองภาพในส่วนของตัวเอง ทุกกระทรวงเหมือนกันหมดเลย สมัยก่อนจ้างเรื่อง FTA ก็ FTA ทุกกระทรวง มันจึงมีความล้มเหลวของตลาดอยู่
มีเรื่องใหญ่ที่ไม่ได้มอง มีเรื่องเล็กที่ทำมากเกินไป
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน จากการที่ทำงานโดยพึ่งกระทรวงต่างๆ พึ่งสัญญากับภาครัฐ มาหาแผนธุรกิจหรือวิธีการทำงานใหม่
“แต่ในมุมนี้ ที่ผ่านมา 28 ปี ผมว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะมีหลายหน่วยงานที่พอไม่สามารถพึ่งพาตัวเองทางการเงินได้ ความเป็นอิสระก็หาย ความน่าเชื่อถือในฐานะเป็นคลังสมองก็จะลดต่ำตามไป”
ไทยพับลิก้า : ความเป็นอิสระถือเป็นจุดแข็งที่สามารถทำให้ทีดีอาร์ไอมีความน่าเชื่อถือ
เราพูดคนก็รู้ว่าเราไม่ได้เป็นกระบอกเสียงของภาครัฐ เราไม่ใช่กระบอกเสียงของทุน และเป็นโมเดลที่ CIDA(Canadian International Development Agency) ของแคนาดา ซึ่งเป็นองค์กรความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ที่สนับสนุนให้เกิดคลังสมองในประเทศต่างๆ บอกว่า องค์กรอย่างทีดีอาร์ไอที่อยู่รอดมาได้และยังมีผลงานดีพอสมควร หาแทบไม่ค่อยได้เลย ซึ่ง CIDA ไปให้การสนับสนุนองค์กรทำนองเดียวกันอยู่ในหลายประเทศ แต่ส่วนใหญ่ไปสักพักหนึ่งแล้วก็ไปต่อไม่ได้ จุดนี้จึงเป็นจุดที่สำเร็จ
ไทยพับลิก้า : จุดยืนนี้จะเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไร
การมาถึงตรงนี้ได้แปลว่าเริ่มตั้งหลักปักฐานได้พอสมควร ก้าวต่อไปคือคงน้ำหนักในการทำงานไว้ตรงนี้เหมือนเดิมสัก 70% แต่ต้องทำในสิ่งที่ตลาด โดยเฉพาะตลาดภาครัฐ ไม่ผลิต เราจะต้องมีส่วนร่วมในการทำเรื่องใหญ่ๆ ที่หน่วยงานรัฐไม่เห็นความสำคัญโดยตรง เช่น เรื่องการหาทิศทางการพัฒนาประเทศใหม่ เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน เรื่องการปฏิรูปการศึกษา เรื่องการติดตามนโยบายประชานิยม และเรื่องความยั่งยืนทางการคลัง เป็นต้น เป็น 3–4 เรื่องที่จะทุ่มน้ำหนักไปทำกัน น้ำหนักตรงนี้ประมาณ 30% ของกำลังพล
ไทยพับลิก้า : อาจารย์มองว่าประเทศไทยมีปัญหาอะไรที่จะหยิบมาเป็นหัวข้อหลักในการทำต่อไป
ทิศทางประเทศไทยเห็นชัดๆ แล้วว่า ไปต่ออย่างนี้ไปไม่ได้แล้ว ผมเคยคุยกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เราคิดตรงกันเลย คือ ยังไม่ทันคุยกัน พอเอ่ยปากขึ้นมาก็รู้ว่าถ้าไทยเป็นอย่างนี้ ต่อไปจะเหมือนฟิลิปปินส์ในสมัยประธานาธิบดีมาร์กอส ที่การเมืองขัดแย้งกัน คนเห็นปัญหาลอยมา รู้ว่ากำลังจะวิ่งเข้าชนปัญหา แต่ไม่สามารถทำอะไรเพื่อหลบปัญหาได้เลย เพราะการเมืองก็ตีกัน ระบบราชการก็อ่อนแอลง ภาคธุรกิจก็ดิ้นรนเอาตัวรอด ทุกคนจะมาร่วมมือกันทำให้ประเทศไทยหันไปอีกทางหนึ่งทำได้ยากมาก แล้วสภาพแบบนี้ก็น่าจะคงอยู่อีกสักพักหนึ่ง อย่างน้อยตราบเท่าที่การเมืองยังตีกันไม่เลิก ตอนนี้เป็นสงครามเย็นอยู่ สงครามร้อนจบไป 2-3 ยกแล้ว แต่สงครามเย็น ความขัดแย้งที่เป็นตัวพื้นฐานยังไม่มีใครแพ้ชนะกันอย่างเด็ดขาด มันก็จะลากต่อไป โจทย์นี้ในสภาพความเป็นจริงมีอยู่แน่ เรื่องความอ่อนแอของราชการ จะให้กลับมาฟื้นเหมือนสมัยก่อนที่ราชการทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็งทัดทานกับการเมือง โจทย์นี้ก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นจริง
และในระยะยาว นโยบายที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง คือนโยบายที่หวังผลระยะสั้นโดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านลบในระยะยาว ที่เรียกกันในชื่อต่างๆ โดยเฉพาะชื่อประชานิยม ของพวกนี้จะมีอยู่ไปอีกพักใหญ่ อย่างน้อยเห็นกันเป็นอีก 10 ปี ทุกคนเห็นปัญหากันหมด แล้วกำลังวิ่งไปทางนั้น และรู้ว่ามันคือเรือไททานิก เห็นภูเขาน้ำแข็งอยู่ และเห็นว่าถ้าเรือวิ่งไปอย่างนี้มันต้องชนแน่ แต่กัปตันไปหลับอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เพราะยังตกลงอะไรกันไม่ได้หลายอย่าง
ภูเขาน้ำแข็งที่ว่าก็คือ สภาพแวดล้อมภายนอก วิกฤติการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกที่จะอยู่กับเราไปอีกพักหนึ่ง การเจริญเติบโตแบบ 7-8% ของเมืองไทยไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะตลาดโลกโดยสภาพก็จะโตช้าลง ที่เรียกว่าเป็น The new moderate เอาแค่จะผ่านวิกฤติการณ์เศรษฐกิจการเงินรอบนี้ไป ซึ่งศูนย์กลางอำนาจของโลกทั้ง 3 ศูนย์ ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นรวมกับจีน ตอนนี้ก็อาการไม่ค่อยดีทั้งนั้น
และประเทศไทยที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง พึ่งแรงงานราคาถูก เน้นการส่งออกเยอะๆ จะไปรอดได้อย่างไร
นี่คือภูเขาน้ำแข็งที่เห็นๆ กันอยู่ แล้วเรือก็จะวิ่งต่อไปโดยที่คนดูหางเสือเรือไม่ได้ดู กัปตันก็ไม่อยู่ ไปทะเลาะกับรองกัปตันแบบนี้เป็นต้น ก็เห็นแล้วว่าประเทศไทยมีปัญหาแน่
เพราะฉะนั้น ตัวที่ต้องเปลี่ยนเพื่อเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศให้ได้ คือ หางเสือเรือลำนี้ อย่าให้วิ่งชนภูเขาน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็งมันมีอยู่ แต่เราต้องหลบ อย่าไปชนมัน ซึ่งการจะทำให้ไปอย่างนั้นได้ กัปตันเห็นก่อน ก็จะง่าย แต่ถ้ากัปตันไม่เห็น แปลว่าลูกเรือทั้งหลายต้องช่วยกันประสานเสียงไปทางทิศเดียวกัน แล้วเอาทิศทางนี้ไปบอกกัปตัน ไม่ว่ากัปตันจะเปลี่ยนเป็นใคร เรือก็จะวิ่งไปถูกทาง
อันนี้คือสิ่งที่เราอยากจะเห็น คือโมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
ไทยพับลิก้า : แสดงว่าต้องมีคนมาช่วยกันเป็นลูกเรือ เป็นเครือข่ายพันธมิตรแบบที่อาจารย์พูดถึง
ทีดีอาร์ไอก็จะเป็นลูกเรือคนหนึ่ง ร่วมกับลูกเรืออีกหลายๆ คน ลูกเรือที่ว่าก็คือคนมีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศเรา เช่น ธุรกิจ ประชาสังคม กลุ่มวิชาการ สื่อมวลชนต่างๆ เราอยากจะใช้วิชาการเป็นตัวเชื่อมโยงให้ลูกเรือหรือผู้มีส่วนได้เสียแต่ละคนมองภาพเดียวกัน จะได้มีทิศทางประสานพลังกัน
ไทยพับลิก้า : ก่อนที่จะไปถึงภาพเดียวกัน ใครจะเป็นคนที่ทำภาพให้ทุกคนเห็น
อันนี้แล้วแต่เรื่อง ถ้าเรื่องไหนยังไม่มีเจ้าภาพเป็นตัวเป็นตน เราก็จะใช้วิชาการชวนคนในสังคมมาคุยกัน โดยใช้งานวิจัย ซึ่งงานวิจัยนี้จะไม่ใช่งานวิจัยที่ผลิตเป็นเอกสารแล้วยื่นให้ผู้กำหนดนโยบายแบบที่เราเคยทำมา แต่เป็นงานวิจัยที่เป็นทั้งเครื่องมือและเป็นผลลัพธ์ที่จะชวนคนในสังคมมาคุยกันในเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเทศ เช่น เราไปค้นพบอะไร เราชวนคนมีส่วนได้เสียมาคุย ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การยื่นให้ผู้กำหนดนโยบาย แต่อยู่ที่การสนทนากับสังคม ให้สังคมได้คิดไปด้วยกัน
ไทยพับลิก้า : ท่ามกลางภาวะสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป การขับเคลื่อนแบบนี้จะทันหรือไม่
ผมไม่คิดว่าเรามีทางเลือก เราเห็นอยู่แล้วว่าถ้าไม่ทำ แล้วกัปตันเรือก็ไม่ตื่น เรือชนภูเขาน้ำแข็งแน่ ถ้าเราทำได้เร็วแค่ไหนก็จะยิ่งดี
ผมคิดว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำ โดยเฉพาะสถาบันวิชาการที่ถูกอุปโลกน์มาเป็นคลังสมอง ถ้าเราไม่ทำหน้าที่ของเรา เราไปโทษคนอื่นไม่ได้ เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดก่อน
ไทยพับลิก้า : อาจารย์มองสังคมปัจจุบันอย่างไร
มีหลายเรื่องซึ่งทำให้น่าเป็นห่วง ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ คนมองระยะสั้นกันเยอะขึ้น อันนี้เป็นสาเหตุว่าทำไมนโยบายอย่างประชานิยมถึงได้ผล เพราะคนมองระยะสั้น คนก็ไม่ตระหนักถึงผลกระทบด้านลบในระยะยาวของนโยบายพวกนี้ อันนี้คือสิ่งแรกที่น่าห่วง
สิ่งน่าห่วงที่สองคือ เรื่องคุณภาพการศึกษา ที่ทำให้คนคิดเข้าใจเรื่องต่างๆ ลดน้อยถอยลง ซึ่งมันล้าสมัยแล้วกับสิ่งที่คนไทยจะต้องเจอ ใช้ความรู้ชุดเก่าในการไปเผชิญโลกแบบใหม่ มันก็ไปไม่ได้
อันที่สามคือ เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้คนละเลยเรื่องสำคัญๆ ไปเยอะ เช่น เรื่องคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น แทนที่คนจะดูว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ คนกลับมองว่าคนที่เป็นเป้าหมายถูกวิจารณ์ว่าคอร์รัปชันเป็นพวกของใครในความขัดแย้งทางการเมือง แล้วก็เลือกว่าจะเอาคนเหล่านั้นไว้หรือไม่เอา ขึ้นกับว่าคนเหล่านั้นอยู่ข้างตัวเองหรืออยู่ตรงข้าม มันทำให้เกิดความเสียหายเยอะมาก เรื่องพวกนี้จึงเป็นความท้าทายเลยว่า จะทำอย่างไรให้เรือแล่นไปแล้วพ้นจากภูเขาน้ำแข็ง
ไทยพับลิก้า : หลายคนบอกว่าเราใกล้จะชนมาก อาจารย์มองว่าอีกกี่ปี
น่าจะมีเวลาไม่เกิน 10 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะแย่มากๆ ประเทศไทยผ่านจุดสำคัญหลายเรื่อง เช่น โครงสร้างประชากรของไทย เราพ้นยุคที่มีกำลังแรงงานเยอะๆ แล้ว เพราะว่าสมัยก่อนคลอดลูกเยอะ ฉะนั้นไม่ต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจอะไรกันมากมาย ทุกคนเข้าสู่ตลาดทำงานกันเศรษฐกิจก็โตแล้ว ตอนนี้เศรษฐกิจไทยผ่านยุคทองของประชากรมาแล้วสัก 2 ปี ที่เหลือมีแต่ขาลง เป็นสังคมคนแก่ ถ้ามีการออม มีการบริหารจัดการที่ดี เอาเงินที่ออมไปลงทุน ก็เกิดผลตอบแทนกลับมาได้ มันก็ยังจะไปได้ แต่ถ้าไม่ทำอะไร ก็ขาลงอย่างเดียว ผมคิดว่าอีกสัก 10 ปี และ 10 ปีนี้สภาพแวดล้อมโลกก็คงจะปั่นป่วนมาก
ไทยพับลิก้า : เราจะทานกระแสไหวไหม
ไม่ต้องคิดว่าไหวไม่ไหว ต้องทำอย่างเดียว
ไทยพับลิก้า : ข้อความเหล่านี้จะต้องตอกย้ำอย่างไรดี
ไม่อยากไปตอกย้ำแล้วไม่มีทางออก ถ้าตอกย้ำบ่อยๆ แล้วไม่มีทางออกคนจะรู้สึกท้อแท้ ผมคิดว่าในฐานะที่เราเป็นหน่วยหนึ่งในวิชาการ ภาควิชาการทั้งหมดต้องช่วยกันหาทางออกให้คนในสังคม ทางออกจะถูกผิดก็ต้องมาดูกัน แต่วิชาการต้องเป็นคนช่วยคิดก่อน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป็นไฟต์บังคับ ไม่ต้องถามเลยว่าจะทำทันหรือไม่ทัน ยังไงก็ต้องทำ
ไทยพับลิก้า: อาจารย์มองอย่างไรตอนนี้มีหลายเครือข่ายเริ่มขับเคลื่อนให้สังคมเห็นภาพเดียวกันแล้ว
ก็ดี ช่วยกันคิดช่วยกัน ทำไปคนละแนว ทดลองกันไปคนละแนวก็ดีด้วย จะได้เห็นว่าแบบไหนทำแล้วได้ผลอย่างไร ก็มาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งพลังที่จะมาขับเคลื่อนสังคมมันก็มาจากกลุ่ม จากองค์กร หรือหน่วยต่างๆ เพราะคนคนเดียว ปัจเจกชนอย่างเดียวทำเรื่องใหญ่ไม่ได้ ต้องเป็นกลุ่ม และกลุ่มเหล่านี้ พอทำงานไปด้วยกันแล้วมาเชื่อมโยงกัน ก็จะเป็นเครือข่าย แล้วเครือข่ายก็จะมาเปลี่ยนสังคมได้ เพราะฉะนั้น การทำงานในมุมข้างนอก เราต้องดูว่าเราจะไปเชื่อมต่อกับกลุ่มแต่ละกลุ่มในสังคมได้อย่างไร เช่น กลุ่มภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันที่ถือโจทย์คอร์รัปชันเป็นโจทย์ใหญ่ เราก็จะไปเป็นกลุ่มหนึ่งในเครือข่ายที่มีคนเป็นเจ้าภาพกันอยู่แล้ว
หรือเรื่องกฎหมายเศรษฐกิจ เรื่องการทำงานกับสภา อย่างน้อยก็มีองค์กรอยู่แล้วคือสถาบันพระปกเกล้า องค์กรในสภาก็คือคณะกรรมาธิการต่างๆ เราก็จะเป็นอีกองค์กรหนึ่ง ที่ดูว่าจิ๊กซอว์ตัวนี้ ถ้าจะต่อเป็นภาพที่สวยได้ มันขาดอะไร ถ้าขาดวิชาการ เรามีส่วนเข้าไปช่วยได้ ก่อนที่เราจะเข้าไปทำอะไร เราต้องไปวิเคราะห์เรื่องพวกนี้ว่าปัจจุบันจิ๊กซอว์มีอะไรอยู่ ด้วยแรงของเราที่มีอยู่อย่างจำกัด เราก็ต้องเลือกสิ่งที่ทำแล้วมีโอกาสสำเร็จ เพราะฉะนั้นทุกเรื่องที่ทำ ที่พูดว่าเป็นไฟต์บังคับ ก็ไม่ใช่สักแต่ทำ ต้องทำให้สำเร็จด้วย
ไทยพับลิก้า : ได้มีการหารือกับองค์กรอื่นๆ บ้างหรือยัง
เรื่องคอร์รัปชันก็ได้มีการพูดคุยกับทางภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน เรื่องกฎหมายก็ไปหารือกับสถาบันพระปกเกล้า เรื่องปฏิรูปการศึกษาก็คุยกับกระทรวงศึกษา และหน่วยงานรอบกระทรวงศึกษาซึ่งยังกระจัดกระจายอยู่ เรายังต้องออกแรงเชื่อมโยงกันอีกเยอะ
ส่วนเรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องทิศทางการพัฒนาประเทศ หน่วยที่เกี่ยวข้องจะมีเยอะมาก แต่เราคิดว่าเราต้องเอาธุรกิจเป็นตัวตั้งก่อน เพราะเรื่องทิศทางในการพัฒนาประเทศ ส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันคือหน่วยธุรกิจ เราก็มองพวกสมาคมธุรกิจ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานของรัฐต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยอะ
“แต่เราจะใช้วิธีคิดคือ ใช้วิชาการเป็นกาวเชื่อมหน่วยงานต่างๆ เพราะหากไม่มีวิชาการ การทำอะไรมันจะกลายเป็นความเห็น แล้วคนก็จะเดินคนละทางกัน วิชาการจะช่วยให้แต่ละคนมองภาพร่วมกัน”
พอทำแบบนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราคุ้นเคย พูดง่ายๆ ก็คืออกจากคอมฟอร์ทโซน คือดินแดนที่เราอยู่แล้วสุขสบาย เราต้องมีการทำงานกับคนข้างใน ซึ่งคนในทีดีอาร์ไอ เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตใจสาธารณะอยู่แล้ว นี่คือข้อดีที่จะทำให้เริ่มเรื่องใหญ่ๆ นี้ได้ ชวนให้เขาออกมาจากคอมฟอร์ทโซนทีละนิด ไปเชื่อมต่อกับคนข้างนอก ซึ่งคนของเราส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการอยู่ในที่ที่ตัวเองอยู่แล้วสบาย
“ผมเองก็เป็น ก่อนหน้าจะมาทำเรื่องแบบนี้ ผมก็มีความสุขกับการทำวิจัย ปิดประตูปิดหน้าต่างทำงานของผมไป แต่ถ้าจะทำงานให้สำเร็จ เราจะอยู่ในคอมฟอร์ทโซนหรือเขตสบายของเราอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องออกไปทำเรื่องใหม่ที่เป็นเรื่องท้าทายด้วย ส่วนไหนที่มันไกลเกินกว่าเขตสบายมากๆ จนรู้สึกลำบาก ก็ต้องหาคนข้างนอกเข้ามาช่วย”
ไทยพับลิก้า : ฟังดูเหมือนคนทีดีอาร์ไอมีจิตสาธารณะอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมาก
ตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างขั้นตอน คนที่ต้องเปลี่ยนชุดความคิดคนแรกก็คือตัวผมเองด้วย จากการหารือกัน คนส่วนใหญ่ก็สนับสนุนว่าเป็นทิศทางที่ควรจะเป็น คนที่สนับสนุนก็ตั้งแต่คณะกรรมการของทีดีอาร์ไอ มาจนถึงระดับนักวิจัย นักวิชาการด้วยกัน แต่ต้องสื่อสาร ต้องคุยกันอีกเยอะ กว่าจะไปจุดที่อยากจะไปได้
ไทยพับลิก้า : งานของอาจารย์ก็ต้องทำทั้งงานข้างในองค์กร และงานนอกองค์กร มีความหนักใจไหม
ก็ออกจากเขตสบายของตัวเองมา เป็นไฟต์บังคับ เป็นหน้าที่ คือคุณเห็นปัญหาอยู่ เห็นโอกาสอยู่ การที่มีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมาในสังคมแปลว่ามีโอกาส ในเรื่องที่ผมเคยทำมาและพอประสบความสำเร็จอยู่บ้าง ก็คือเรื่องที่มีกลุ่มในสังคมเกิดขึ้นมาแล้ว เราในฐานะนักวิชาการเข้าไปเสริม เช่น เรื่องปฏิรูปสื่อ เรื่องตั้งไทยพีบีเอส ออกกฎหมาย กสทช. ต่างๆ เพราะว่าวิชาการทำคนเดียว แต่มันมีกลุ่มต่างๆ มาอยู่แล้ว พอดีจิ๊กซอว์ขาดตัวนี้ เราเข้าไปเสริมมันก็คลิ๊กได้ ผมก็เห็นบรรยากาศแบบเดียวกัน
ที่ผ่านมา เรื่องต่างๆ บางเรื่องเราก็คิดว่าจิ๊กซอว์ครบ เข้าไปประกบแล้วยังไม่ใช่ก็มี เราก็เรียนรู้ เราก็ดูกันไป แต่ครั้งนี้เห็นความท้าทาย เห็นโอกาสที่มีกลุ่มอยู่ พอพูดว่าเราอยากทำ 3-4 เรื่องนี้ สังคมก็มีกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ไทยพับลิก้า : กลุ่มต่างๆ ที่ว่าเห็นภาพเดียวกันใช่ไหม
เขาเห็นก่อนเราด้วยในบางกลุ่ม เช่น เรื่องของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน เขาเห็นก่อนเรา เขามีใจ เขาเป็นธุรกิจ เขาคิดในเชิงที่ทำได้จริง ซึ่งพวกนี้สำคัญ เราเข้าไปเสริมในเชิงวิชาการ เอาของที่เขาอาจยังขาดอยู่ไปช่วยเสริม ไปเติมเต็มของเขาให้ดีขึ้น
ไทยพับลิก้า : ถือว่าสภาวะแวดล้อมหรือจังหวะมาพอดี
น่าจะพอสุกงอมพอสมควร เพราะผมคิดว่าคนไทยอึดอัด หลายคนรู้อย่างที่ผมพูดว่าเรือจะวิ่งชนภูเขาน้ำแข็ง ถ้าไม่ทำอะไรมันก็คงหนีไม่พ้น
ไทยพับลิก้า : ถือเป็นจังหวะเปลี่ยน เป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของทีดีอาร์ไอไหม
วิธีการทำงานคงเปลี่ยนไป ออกจากเขตสบาย ลงจากหอคอย เข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของสังคมมากขึ้น ถ้าในเชิงของกระบวนการทำงานก็คือ เราทำกลางน้ำ คือทำวิจัยเยอะ ทำได้ดีพอสมควร ที่ทำน้อยก็คือทำต้นน้ำ คิดโจทย์วิจัยดีๆ กำหนดกลยุทธ์ดีๆ และทำปลายน้ำคือ เมื่อทำวิจัยเสร็จแล้วก็สื่อสารกับสังคมให้มาก ที่ผ่านมาทำน้อย ก็มาเสริมส่วนที่ขาด ทำต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำให้ครบวงจร ไม่ใช่ทำคนเดียว ทำร่วมกับคนข้างนอก
ไทยพับลิก้า : ขอกลับไปที่เรื่องของการศึกษา อยากให้อาจารย์ลงลึกว่าจะทำอะไรบ้าง
เรื่องการศึกษา คนที่เราอยากร่วมงานด้วยมากที่สุดคือกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรามีโครงการจะร่วมงานกันอยู่ ช่วยสนับสนุนงานด้านวิชาการในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ต่อยอดจากงานที่เราเคยทำเรื่องการปฏิรูปความรับผิดชอบ ที่เราเคยทำแล้วนำเสนอออกมา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี รัฐมนตรีนำบางส่วนไปปรับเป็นนโยบายของกระทรวง พอลงไปทำงาน พูดคุยกับเครือข่ายครู พูดกับฝ่ายต่างๆ ก็เห็นด้วยตรงกันเยอะ และเห็นส่วนที่เรายังไม่ได้ทำอีกมาก เป็นงานที่สานต่อกันไป มีภาคีหลักคือราชการ
เรื่องกระทรวงศึกษาฯ ที่ทุกคนเห็นว่าเป็นปัญหา ผมไม่คิดว่าเราจะปฏิรูปการศึกษาได้ถ้าเราตัดกระทรวงศึกษาฯ ออกจากภาพไป เพราะเขาคือผู้เล่นรายใหญ่ในเรื่องนี้ และตัวเราเองก็มีความถนัดไม่ครบ เราก็ต้องหาภาคีอื่นมาเสริม มีตั้งแต่หน่วยงานที่ทำเรื่องนโยบายการศึกษาในต่างประเทศที่คุยกันไว้ เช่น Columbia Teachers College วิทยาลัยฝึกหัดครูของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็ถือว่าเป็นที่ฝึกหัดครูที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา และเขาก็มีหน่วยวิจัยภายในของเขาที่เข้มแข็ง วิจัยโดยเอาอาจารย์ชั้นนำในอเมริกามาร่วมกันอยู่ในศูนย์วิจัย เราก็จะเชื่อมโยงกับเขา และต้องทำงานกับคนที่อยากทำงานปฏิรูปการศึกษา
ในอีกหลายๆ มุมที่ไม่ได้คิดด้วยวิธีการเหมือนกับเรา เช่น สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ของ นพ.สุภกร บัวสาย กลุ่มนี้ทำงานกับครูที่เป็นครูดีๆ ในต่างจังหวัดเยอะ เราจะไปเชื่อมกับเขา แต่ตอนนี้ยังเชื่อมกันไม่ค่อยแนบแน่นเท่าไร แต่เห็นแล้วว่าเป็นภาคีที่ต้องร่วมมือกัน
ธนาคารโลกก็เป็นอีกภาคีหนึ่งที่เราอยากร่วมงานด้วย เพราะเขามี Know-How การจัดการด้านบริหารการศึกษาของหลายๆ ประเทศ ธนาคารโลกช่วยเรื่องการศึกษาแก่ประเทศต่างๆ ในโลกมาเยอะมาก เห็นปัญหามาก เราจะไปร่วมด้วย นี่เป็นตัวอย่างภาคีที่เราจะชวนมาทำเรื่องการปฏิรูปการศึกษา และจะมีแนวอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นการไปให้พ้นจากการทำการศึกษาในมุมของการเรียนในระบบ ไปสู่การเรียนแบบนอกระบบ นอกโรงเรียน ซึ่งมีการพูดคุยกันอยู่ แต่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้น
ตัวผมเองเสนอความคิดว่า อีกวิธีที่ช่วยปฏิรูปการศึกษา เป็นการปฏิรูปสิ่งที่ใหญ่กว่า คือ ปฏิรูปการเรียนรู้ และคิดว่าการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตมาช่วยปฏิรูปการเรียนรู้สามารถทำได้ จากตัวอย่างส่วนตัวที่ทุกวันนี้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้เร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่โชคดีกว่าคนรุ่นก่อนๆ เพราะว่าเรียนออนไลน์ ไปฟังเลคเชอร์ของมหาลัยเยล เลคเชอร์ของฮาร์วาร์ด หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกต่างๆ หรืออยากได้จินตนาการใหม่ๆ ก็ไปดู TED.com เรื่องเศรษฐศาสตร์การเงิน คณิตศาสตร์เบื้องต้น ก็ดู Khan Academy มันมีอะไรอยู่เต็มไปหมด แต่คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงทรัพยากรพวกนี้ เพราะเป็นภาษาอังกฤษ และอีกจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ช้าก็เร็วภายใน 10 ปีนี้ คนไทยคงเข้าถึงเยอะขึ้น แต่เรื่องภาษายังเป็นช่องว่างใหญ่อยู่
ถ้าเราทำแบบเดียวกันเป็นภาษาไทย เลือกครูที่ดีที่สุด หมายถึงสอนเก่งที่สุดในแต่ละวิชามาสอน แล้วเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ฟรี มันจะมีวิธีช่วยได้เยอะ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษา เช่น วิชาเคมี มีครูที่เก่งที่สุดแล้วไม่ได้สอนกวดวิชา เอามาสอนออนไลน์ ให้เข้าไปดูได้ฟรี จะช่วยปฏิรูปการเรียนรู้ได้เยอะมาก เด็กก็เรียนรู้ได้โดยตรงจากการดาวน์โหลดมาเรียน หรือครูไปดูแล้วเอาไปประยุกต์ใช้สอนในห้องเรียน
พอเรามาคิดเรื่องโจทย์ปฏิรูปการศึกษา เราทำให้การศึกษามีคุณภาพดีขึ้น เรื่องของการสร้างความรับผิดชอบเปลี่ยนวิธีประเมินผลครูต่างๆ แต่ถึงสุดท้ายแล้วคุณภาพนักเรียนจะไม่เกินคุณภาพครู วิธีทำให้คุณภาพนักเรียนเกินคุณภาพครูได้ก็คือใช้สื่อออนไลน์ หรือในเวลาเดียวกันก็ใช้สื่อออนไลน์ในการช่วยดูแลครู ในต่างประเทศจะมีสื่อ ผมเคยไปดูโรงเรียนมัธยมที่แคนาดา ไปดูในห้องสมุดก็พบวารสารที่ช่วยสอนครูว่า ถ้าจะสอนแคลคูลัสหรือเรื่องที่เข้าใจยาก ให้สอนอย่างไรเด็กถึงจะเข้าใจ มันต้องมีของสนับสนุนครูแบบนี้ แต่เดี๋ยวนี้การที่มีอินเทอร์เน็ตทำให้ไปได้ไกลกว่าการที่ต้องไปดูสื่อกระดาษ
ถ้าเอาอินเทอร์เน็ตมาสอน เป็นสื่อที่แนะนำครูในการสอนนักเรียน ครูหลายคนที่อยากเป็นครูที่ดี แต่ไม่รู้ว่าจะสอนเด็กอย่างไร เพราะการฝึกสอนครูในระบบเองก็มีปัญหาด้วย แต่ถ้าผ่านจุดนี้ได้ จะช่วยกระจายให้ครูมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และเป็นฟอรั่มของครูในการแลกเปลี่ยนได้
เรื่องนี้เป็นแนวคิดที่พูดคุยกัน แต่ยังหาเจ้าภาพ ยังหาว่าจะเริ่มปฏิบัติอย่างไรไม่เจอ ต้องคุยกันอีกพักหนึ่ง เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องยากมาก เพราะฉะนั้น ยังไม่เห็นจิ๊กซอว์ต่อกันครบหมด ก็ยังกระจัดกระจายกันอยู่
หรือกลับไปเรื่องแรก คือเรื่องทิศทางการพัฒนาประเทศ ถ้าเราเชื่อว่าประเทศไทยต้องพัฒนา โดยที่คนไทยต้องมีการ สร้างนวัตกรรม ต้องมีการลงทุนวิจัยพัฒนา สิ่งที่เราจะต้องเอาไปชักจูงให้รัฐบาลออกนโยบายมาคือ กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง เราอยากจะเก็บกรณีที่บริษัทไทยทำนวัตกรรมกรรมดีๆ ตั้งแต่บริษัทใหญ่ หรือกิจการขนาดใหญ่ที่ทำ ไปจนถึงกิจการขนาดกลาง กิจการขนาดเล็ก ว่าแต่ละรายมีการวิจัยพัฒนาแล้วดียังไง ก่อให้เกิดประโยชน์ยังไง ลดต้นทุนยังไง เพิ่มยอดขายยังไง ทำกำไรยังไง
ทำกรณีศึกษาพวกนี้มาด้วย 2 จุดประสงค์ จุดประสงค์แรก คือ ทำให้เกิดจินตนาการกับคนในวงการ ธุรกิจด้วยกันจะเห็นว่า ถ้าเราเลือกเดินทางไปทำวิจัยพัฒนาทางนวัตกรรมมันมีทางทำกำไร มีทางรวยได้ มีทางอยู่รอดในโลกที่ในซับซ้อนมากขึ้น แทนที่จะต้องใช้วิธีเดิมคือ วิ่งเต้น หนีภาษี จ่ายใต้โต๊ะ คอร์รัปชันต่างๆ หรือผูกขาด เราก็จะเห็นว่าธุรกิจไทยมีทางไปที่ดี ใช้ความพยายามแล้วเกิดผล ซึ่งจะสร้างแรงดลใจให้กับธุรกิจ อันนี้อันที่หนึ่ง
จุดประสงค์ที่สองคือ เราจะกลั่นกรองประสบการณ์ของแต่ละธุรกิจ ซึ่งมีจำนวนมากแล้วจัดหมวดหมู่ออกมา เช่น จัดหมวดหมู่เป็นธุรกิจสีเขียว ทำธุรกิจสีเขียวอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ หรือรวยได้ มีกำไรดี ก็จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมกับตอบโจทย์เศรษฐกิจ คนเห็นตัวอย่างดีๆ ก็จะให้แรงดลใจ เกิดพลังเยอะ ภาพในแง่ลบจะลดลงไป ที่ผ่านมาอาจมีธุรกิจที่ดีทำกันมา แต่อาจไม่มีการถอดประสบการณ์ออกมา สิ่งที่พวกเราจะช่วยทำก็คือ เขียนเป็นเอกสารออกมา ทำเป็นกรณีศึกษา และวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จแต่ละเรื่อง แล้วหาธีมร่วมกัน และจากประสบการณ์ของธุรกิจแต่ละราย ก็จะมีเรื่องที่ถอดเป็นบทเรียนเอาไปกำหนดนโยบายของประเทศได้
พอเอาข้อมูลตรงนี้ไปสื่อสาร ไปคุยกันให้เห็นเป็นฉันทามติเกิดขึ้น ไปผลักดันให้เป็นนโยบาย ต่อให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนไป แต่ฉันทามติของคนที่มีส่วนได้เสียตรงนี้ยังมีอยู่ นโยบายก็จะไม่ตกน้ำหายไป ก็จะตอบโจทย์ได้ว่าถ้าพรรคเพื่อไทยต้องปรับ ครม. เพื่อตอบแทนคนกลุ่มต่างๆ ในพรรคทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วนโยบายจะนิ่งได้อย่างไร มันก็จะนิ่งได้ด้วยวิธีนี้ กัปตันเรือเข้าห้องน้ำบ้าง ง่วงเหงาหาวนอนบ้าง แต่เรือจะวิ่งได้ตรง รัฐบาลก็จะมีกำลังใจว่าส่งเสริมอุตสาหกรรมแล้วมันเกิดขึ้นได้จริง เพราะธุรกิจพร้อมจะทำอยู่แล้ว รัฐบาลก็จะเปลี่ยนวิธีคิดในการทำด้วย
โครงการนี้จะเริ่มมกราคมปีหน้า ตอนนี้ก็จัดทีมกันอยู่ เป็นโปรแกรมชื่อทิศทางใหม่การพัฒนาประเทศ ซึ่งข้างในจะมี 3 ส่วน ส่วนแรก อาจารย์สมชัย จิตสุชน จะเป็นคนดู ก็คือมหภาค เป็นทิศทางนโยบายการเงินการคลัง ที่จะเอื้อให้ไทยปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจโลกในยุคใหม่ได้ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมได้ แต่ดูจากการเงินการคลัง ส่วนที่สองเป็นจุลภาค ผมจะดู คือไปเก็บเคสของโรงงานต่างๆ เคสของธุรกิจในหลายๆ ธุรกิจ ทำเคสแล้วมาถอดบทเรียน และส่วนที่สาม ทิศทางใหม่ด้านนโยบายสังคม เรื่องสวัสดิการสังคมต่างๆ อาจารย์วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ จะเป็นคนดู
เรื่องนี้จะเป็นอภิมหาโครงการใหญ่โครงการหนึ่ง ก็คุยกันว่าจะทำเรื่องนี้ 3 ปี แต่ไม่ใช่ปิดประตูทำ 3 ปี ในระหว่างทางก็คุยกับสังคม สื่อสารกันไป ถ้ามันไปเป็นวัตถุดิบให้คนไปทำสารคดี วิทยุ โทรทัศน์ ได้ต่อ มันก็จะขยายผลได้เร็ว
เรื่องที่สามก็เรื่องคอร์รัปชัน เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าคนไทยจำนวนหนึ่งสิ้นหวังไปแล้ว ไม่คิดว่าจะลดคอร์รัปชันได้ และยอมรับไปแล้วว่าถึงมีคอร์รัปชันก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ถ้าประชาชนได้ประโยชน์บ้าง ซึ่งผลการสำรวจออกมาหลายครั้ง จนผมคิดว่าทำให้หลายคนท้อใจไปเหมือนกัน
แต่ในเวลาเดียวกันก็มีปัจจัยด้านบวกเกิดขึ้น อันแรกคือ คนไทยเองก็เคยเอาชนะคอร์รัปชันได้ในบางเรื่อง ถึงอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมากมาย เช่น สมัยก่อน ทำใบขับขี่ต้องจ่ายใต้โต๊ะ ทำพาสปอร์ตต้องจ่ายใต้โต๊ะ เดี๋ยวนี้เรื่องพวกนี้หายไปหมดแล้ว ถึงแม้ว่าเมืองไทยเสื่อมลงในหลายเรื่องของคอร์รัปชัน ด้านที่ดีก็มีอยู่หลายด้าน อันที่สอง คือ กรณีที่ภาคประชาสังคมช่วยปราบคอร์รัปชัน เช่น ทุจริตยา คลองด่าน แปลว่ามันมีพลังแบบนี้อยู่ในสังคม อันที่สาม มีการรวมกลุ่มกันของภาคธุรกิจเองเป็นครั้งแรกเลย คือ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งหอการค้าริเริ่มและฝ่ายต่างๆ ก็มาช่วยกัน ซึ่งเริ่มต้นมาได้ดีพอสมควร มีปัจจัยด้านบวก
สิ่งที่เราคิดว่าเข้าไปช่วยได้ก็คือ การศึกษาในเชิงวิชาการ เพื่อตอบโจทย์เรื่องของคอร์รัปชันด้วย โจทย์คอร์รัปชันคือโจทย์ที่คนไม่เห็นความซับซ้อนของคอร์รัปชัน และพอไม่เห็นความซับซ้อนของคอร์รัปชัน ทำให้คนไม่รู้ว่าจะทำให้ตัวเองเดือดร้อน เราก็เลยจะออกแบบโครงการวิจัยโครงการหนึ่ง อาจารย์เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จะเป็นคนดู โดยทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ กลุ่มผู้บริโภค ทำยังไงให้เห็นว่าคอร์รัปชันทำให้เดือดร้อน คนจะได้เลิกคิดว่า คอร์รัปชันไป ประชาชนไม่เกี่ยว ขอให้ตัวเองได้ประโยชน์ งานวิจัยพวกนี้จะชี้ว่าคอร์รัปชันทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ประชาชนเดือดร้อน เช่น มีกรณีที่ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อให้กับเอกชน แล้วมีเงื่อนไขพ่วงไปว่า ถ้ามารับสินเชื่อของธนาคารแล้วจะต้องไปซื้อสินค้าของเจ้านั้นเจ้านี้ด้วย เพราะมันมีการคอร์รัปชันกันเกิดขึ้น ก็จะเห็นว่าประชาชนเดือดร้อน คอร์รัปชันทำให้ประชาชนเสียหาย ก็จะศึกษาตรงนี้เพื่อทำให้ดึงประชาชนมาเป็นแนวร่วม เป็นพลังของการต่อต้านคอร์รัปชันได้แน่นขึ้นอีก
กลุ่มที่สองก็คือกลุ่มธุรกิจ คือภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน เราก็ไปหนุนเสริม
กลุ่มที่สามก็คือกลุ่มสื่อมวลชน ซึ่งคอร์รัปชันตอนหลังไปผูกโยงกับการซื้อสื่อเยอะ องค์กรไหนใช้เงินซื้อสื่อเยอะๆ สงสัยได้เลยว่าต้องมีเรื่องอะไรไม่ดี ถึงต้องพยายามปิดปากสื่อ และองค์กรสื่อก็พยายามต่อต้านกันอยู่ เราจะไปทำงานกับองค์กรสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวต่างๆ ซึ่งยังไม่ได้คุยกันเป็นเรื่องเป็นราวแต่พอรู้จักกันอยู่ และรู้ว่าอยากจะไปทางเดียวกัน ก็จะทำงานร่วมกัน จะไปวิเคราะห์เรื่องของคอร์รัปชันกับการซื้อสื่อ
กลุ่มที่สี่ นักวิชาการ ถ้าจะทำให้การวิจัยเรื่องคอร์รัปชันขยายผลก็ต้องดึงนักวิชาการใหม่ๆ เข้ามาด้วย โดยเฉพาะคอร์รัปชันที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ เกี่ยวข้องกับกิจการกำกับดูแลอะไรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรคมนาคม สื่อสารมวลชน พลังงาน ตลาดหุ้นอะไรพวกนี้ ก็จะชักชวนนักวิจัยมาช่วยกันทำด้วย ก็จะมีทำกับกลุ่มเป้าหมายในรอบแรก 4 กลุ่ม
และที่น่าจะเห็นภายใน 6 เดือนหลังจากนี้ก็คือ คู่มือประชาชน รู้เท่าทันคอร์รัปชัน จะทำกรณีศึกษาเรื่องคอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ มาสัก 35 กรณี อันนี้เป็นตุ๊กตาตั้งต้น คือ ทำกายวิภาค ผ่าดูคอร์รัปชันว่าแต่ละแบบเป็นยังไง ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ยังไงในแต่ละเรื่อง และสุดท้าย ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการช่วยลดคอร์รัปชั่นได้อย่างไร
ไทยพับลิก้า : แล้วเรื่องกฎหมาย
จะมีแพคเก็จทำงานกับสภา 2 เรื่องย่อย เรื่องแรกก็คือกฎหมายเศรษฐกิจ ความจริงเราอยากทำกฎหมายมากกว่านี้แต่เรามีความสามารถแค่นี้ เราเป็นสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก เราก็ทำกฎหมายเศรษฐกิจก่อน แต่เป็นเศรษฐกิจในความหมายกว้างหน่อย และกฎหมายเศรษฐกิจได้ไปกระทบไม่ใช่แค่เรื่องทำมาค้าขายเท่านั้น แต่ไปกระทบเรื่องของความเป็นธรรมของกลุ่มธุรกิจกับประชาชนด้วย
กลุ่มที่เราจะไปร่วมงานด้วยก็คือสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งจะเป็นผู้เสริมกันได้ดี สถาบันพระปกเกล้าจะเป็นหน่วยงานใกล้ชิดกับสภา สามารถเข้าถึง ส.ส. และ ส.ว. ได้ มีหลักสูตรพระปกเกล้าต่างๆ ผู้กำหนดนโยบายมาอยู่เต็มไปหมด เป็นเวทีในการสื่อสารที่ดี เอกชนก็เยอะ พระปกเกล้าไม่ถนัดเรื่องของวิเคราะห์วิจัยด้านเศรษฐกิจ เพราะบุคลากรผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ เราก็ไปเติมเต็มตรงนั้น เราก็มีจุดอ่อนที่เราเข้าถึง ส.ส. ส.ว. และผู้กำหนดนโยบายไม่เก่งเท่าพระปกเกล้า ก็มาเสริมกัน คล้ายคนหนึ่งทำการผลิตเนื้อหา คนหนึ่งทำการตลาด อย่างนี้ก็จะร่วมมือกัน
จะเป็นตัวอย่างว่า ต่อไปเราจะช่วยกันดูว่ามีกฎหมายอะไรที่จะเข้าสู่สภา ที่เป็นกฎหมายเศรษฐกิจ แล้วกฎหมายเหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างไรต่อประชาชน เราก็จะวิเคราะห์ ร่วมงานกับสถาบันพระปกเกล้าในการไปสื่อสารกับ ส.ส. ส.ว. กรรมาธิการต่างๆ เป็นงานที่รู้สึกตื่นเต้น รู้สึกสนุกที่จะทำ และคุยกับสถาบันพระปกเกล้ามา ก็ถือเป็น partner ที่คิดว่าเข้าใจตรงกันดี สถาบันพระปกเกล้าก็อยากจะเอาแนวคิดนี้ไปพัฒนาต่อกับหน่วยงานอื่นๆ
ทำงานกับสภาอีกเรื่องก็คือ การพิจารณางบประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และการที่จะทำเรื่องประชานิยม เรื่องอะไรต่างๆ นอกจากทำงานกับประชาชนแล้วต้องทำงานกับสภาด้วย สภาต้องอนุมัติงบทุกปี เราจะทำหน่วยงานคล้ายๆ กับเป็นสำนักงบประมาณของสภาจำลอง อันนี้เป็นโมเดลที่ถอดแบบมาจากที่ทำกันในสหรัฐ สหรัฐมีหน่วยงานที่ชื่อว่า congressional budget office (CBO)คือเป็นสำนักงบฯ ของสภาคองเกรส รัฐบาลสหรัฐก็มีสำนักงบฯ เหมือนกัน เรียกว่า Office of Management and Budget (OMB) ก็เหมือนสำนักงบฯ ของไทย ซึ่งเตรียมเอกสารงบประมาณ วิเคราะห์งบประมาณ พอไปถึงสภาแล้ว CBO ก็จะทำงานคู่ขนานกัน แล้วมาตรวจสอบ OMB อีกทีหนึ่ง วิธีนี้สภาก็จะมีข้อมูล มีความรู้เท่าทันกับรัฐบาล
กรณีนี้จะเอามาประยุกต์ใช้กับเมืองไทย แต่ใช้คำว่าประยุกต์เพราะว่าระบบของอเมริกาเป็นระบบประธานาธิบดี ซึ่งจะมีวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน ของเราเป็นระบบรัฐสภาก็ต้องมีวิธีการทำงานอีกแบบหนึ่ง ก็คิดรายละเอียดไว้พอสมควร เช่น ต้นปีก็พยากรณ์เศรษฐกิจ ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะโตกี่เปอร์เซ็นต์ รัฐจะเก็บรายได้เท่าไร ก็จะมีข้อมูลตรงนี้เป็นพื้นฐานไว้ พอ พ.ร.บ.งบประมาณเข้ามา ก็จะได้รู้ว่ารัฐบาลจะใช้เงินเท่าไร รายจ่ายกับรายรับสมดุลกันหรือเปล่า ก็จะเช็คได้ ถ้ารัฐบาลบอกว่ารายรับเป็นเท่านี้ แต่ที่เราประมาณการมาไม่ตรง เราก็มาดูข้อสมมติฐานว่ารัฐบาลใช้ข้อมูลอะไร เราใช้อะไร ทำไมถึงไม่ตรงกัน เราก็จะปรับของเรา แต่ถ้าปรับแล้วรัฐบาลยังมีประมาณการรายได้สูงเกินไปเพื่อจะใช้เงินเยอะ ก็จะว่าไป
เมื่อ พ.ร.บ. เข้าถึงชั้นของกรรมาธิการ เราก็จะไปช่วยโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่มีความเสี่ยง ก็จะรู้ว่าโครงการไหนควรเป็นอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น และมีอะไรอีกที่เวลาออกกฎหมายมาแล้วมีภาระด้านเศรษฐกิจ มันไม่ใช่แค่กฎหมายเศรษฐกิจ อาจเป็นกฎหมายสังคมก็ได้ เช่น ประกันสังคม แล้วจะมีผลผูกพันกับรัฐ ทำให้รัฐถึงแตกหรือเปล่า เราก็มาวิเคราะห์ หรือไม่ใช่กฎหมายแต่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น จะจำนำข้าว มันมีภาระการคลังเท่าไร เราก็พยายามตีออกมา อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นโครงการที่จะเริ่ม 1 มกราคม ปีหน้า ตอนนี้เป็นการสตาร์ทเครื่องวอร์มไว้
ไทยพับลิก้า : อาจารย์ต้องเปลี่ยนบทบาทจากนักวิจัยเป็นนักสื่อสาร เพราะต้องไปคุยกับกลุ่มต่างๆ
คงต้องมีทีมมาช่วยทำ งานวิจัยยังอยากทำอยู่ในบางเรื่อง แต่ของตัวเองก็จะต้องลดการทำงานวิจัยลงบ้าง เพื่อทำงานอื่น ออกจากเขตสบายของตัวเอง ไปสู่เขตลำบาก
ไทยพับลิก้า : เรื่องของสื่อสาร จะทำอย่างไรที่จะให้มีการสื่อสาร หรือประสานงานกันเรื่องนี้
ก็จะมีการตั้งทีมภายในขึ้นมาเพื่อช่วยสื่อสารสาธารณะ ตอนนี้เรามีทีมภายนอกช่วยอยู่ แต่ว่าต้องเสริมด้วยการตั้งทีมข้างใน ก็จะมีทีมที่มาทำหลายเรื่อง เรื่องแรกที่ทำกันอยู่อีกไม่นานคงเสร็จคือ เว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ หลังจากพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ แล้ว ทีมสื่อสาธารณะของเราก็เล่าให้ฟังว่าคนอยากจะเข้ามาหาข้อมูลทีดีอาร์ไอ แล้วหาไม่เจอ เหมือนเดินในป่าแล้วหลงทาง ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ
เราก็จะไปแก้ไขเว็บของเรา เพราะเว็บไซต์ก็คือ data base คือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ถ้าฐานข้อมูลอยู่ครบ ก็ช่วยการทำงานสื่อมวลชน เข้ามาดูก็เห็นข้อมูลอ้างอิงได้ ทุกวันนี้เข้ามาก็จะเจอรายงาน 300 หน้า ของทีดีอาร์ไอ แล้วไม่รู้จะไปเริ่มอ่านตรงไหนดีก่อน ก็จะแก้ไขปัญหาพวกนี้ เรื่องพวกนี้นอกจากเว็บไซต์แล้ว ที่เหลือก็จะมีทีมที่คอยสรุปประเด็นสำคัญๆ เพื่อสื่อสารกับสื่อว่า ตอนนี้เรากำลังสนใจเรื่องนี้อยู่ เช่น ถ้าเป็นฤดูที่ต้องพูดเรื่องจำนำข้าว เราคงต้องผลิตสื่อที่ย่อยจากงานวิจัยของเรา เป็นตัวที่ให้สื่อช่วยเปิดประเด็น สื่อสารกับสังคม
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยพับลิก้า วันที่ 17 ตุลาคม 2012 ในชื่อ
“สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ออกจากคอมฟอร์ทโซน ใช้วิชาการเป็น “กาว”เชื่อมการขับเคลื่อนประเทศ ชี้ไม่เกิน 10 ปีไทยจะชนภูเขาน้ำแข็ง