tdri logo
tdri logo
17 กันยายน 2013
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอแนะนำ “เมียนมาร์-เวียดนาม” โอกาสที่คุ้มเสี่ยงของนักลงทุนไทย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


ทีดีอาร์ไอ หนุนนักธุรกิจไทยลงทุนในเมียนมาร์และเวียดนามใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ชี้ค่าแรงต่ำ-กำลังแรงงานสูง พร้อมระบุ เตรียมนำผลการวิจัยและข้อเสนอแนะให้ กกร.เพื่อเสนอภาครัฐบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนดำเนินการให้เป็นรูปธรรม


คณะวิจัย

ตลาดอาเซียนกำลังถูกจับตามองว่ากำลังจะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของโลกรายใหม่ ทั้งด้านการค้า การลงทุน เงินทุน และแรงงาน โดยเฉพาะในปี 2558ที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องพัฒนา และปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดนหรือการย้ายฐานการผลิตการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีข้อมูลเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษาเรื่อง “แนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน” โดยศึกษาอุตสาหกรรมหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 2.อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง 3.อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นในประเทศเมียนมาร์และเวียดนาม

น.ส.พลอย ธรรมาภิรานนท์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ผู้ศึกษาแนวทางในประเทศเมียนมาร์ เปิดเผยว่า เมียนมาร์มีประชากรทั้งสิ้น 52.8 ล้านคน และมีกำลังแรงงานประมาณ 33.4 ล้านคน โดยโรงงานสำหรับอุตสาหกรรมที่ศึกษาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้กับย่างกุ้ง เนื่องจากมีสาธารณูปโภคและท่าเรือที่มีความพร้อมมากที่สุด มีค่าเช่าที่ดินประมาณ 15 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ/ตารางเมตร/ปี นิคมอุตสาหกรรมใกล้ย่างกุ้ง ได้แก่ ผะอัน พะโค ผะเต ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่วนใหญ่ทำการผลิตแบบ Cutting Marking Packaging (CMP) ทำให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบโดยปลอดภาษี ค่าจ้างแรงงานทั่วไปจะอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ส่วนแรงงานที่มีประสบการณ์และทักษะอยู่ที่ 120-150 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งในปี 2555 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมดังกล่าวมีตลาดการส่งออกหลักคือญี่ปุ่น 45% และเกาหลีใต้ 31% มีมูลค่าการส่งออก 903.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 448.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยพบว่าผู้ประกอบการชาวไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์มักจะใช้วิธีร่วมทุนกับชาวเมียนมาร์ หรือให้ชาวเมียนมาร์เป็นนอมินีและมักมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจมาเป็นเวลานาน

ส่วนอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังพบว่าส่วนใหญ่ผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำ อาทิ การตัดหนัง ขัดหนัง ประกอบ และตกแต่ง มีผู้ประกอบการทั้งหมด 12 แห่ง เป็นของชาวต่างชาติ 4 แห่ง และเป็นของเมียนมาร์เอง 8 แห่ง ดำเนินการผลิตแบบ CMP ส่วนค่าจ้างแรงงานที่ไม่มีประสบการณ์ 1.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน แต่หากมีประสบการณ์ 2.11 ดอลลาสหรัฐต่อวัน โดยมีตลาดส่งออกหลักคือญี่ปุ่น 88% มีมูลค่าการส่งออกในปี 2555 รวม 119.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจุดแข็งของอุตสาหกรรม ที่สำคัญคือที่ตั้งใกล้กับแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญได้แก่ บังคลาเทศและปากีสถาน บวกกับมีตลาดผู้บริโภคใหญ่ถึง 60 ล้านคน ซึ่งมีกำลังซื้อมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะขยายตัว

ด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในเมียนมาร์ มีโรงงานทั้งหมด 5 แห่ง โดยกระจุกตัวอยู่บริเวณย่างกุ้ง และส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตระดับครัวเรือน เนื่องจากมีกฎระเบียบซับซ้อนและมีอัตราภาษีค่อนข้างสูง มีค่าจ้างแรงงานทั่วไป 3 ดอลลาสหรัฐต่อวัน ส่วนแรงงานที่มีทักษะอยู่ที่ 5-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ตลาดหลักในการส่งออกใหญ่ที่สุดคือ จีน 91% มูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 322.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ระบุว่า โดยภาพรวมแล้วหากมีการขยายฐานการผลิตในเมียนมาร์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะมีค่าแรงต่ำแต่กำลังแรงงานสูง รวมทั้งขณะนี้สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาคืนสิทธิพิเศษทางการค้า และสหรัฐกำลังพิจารณายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและให้สิทธิพิเศษทางภาษีตามมา

ด้าน ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ซึ่งศึกษาแนวปฏิบัติการลงทุนในประเทศเวียดนามเปิดเผยว่า สภาพเศรษฐกิจในเวียดนามในส่วนของภาคธุรกิจยังมีความกังวลต่อความเชื่อมั่นในสกุลเงินและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค ขณะที่ค่าแรงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมีผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 70% เป็นโรงงานขนาดเล็กประเภท CUT MAKE AND TRIM หรือ CMT ซึ่งผู้ว่าจ้างหรือผู้ซื้อสินค้าจะจัดหาผ้ามาให้ผู้ผลิตเพื่อทำการตัดเย็บ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกหลัก มูลค่าการส่งออก 17.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ที่ตั้งโรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ของประเทศ มีผู้ประกอบการประมาณ 400 ราย โดยใน 30-50 รายเป็นผู้ประกอบการต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาวไต้หวันและเกาหลีใต้ตลาดส่งออกหลักคือสหภาพยุโรป ขณะที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและผลิตเพื่อตลาดในประเทศเท่านั้น จึงยังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้เท่าที่ควร โรงงานร้อยละ 80 ตั้งอยู่ที่โฮจิมินห์เนื่องจากสะดวกในการขนส่ง ตลาดส่งออกหลักคือสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการส่งออกเพียงแค่ 546ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ลดลงจากปี 2554 ถึง 2119 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดร.เสาวรัจ กล่าวด้วยว่า ภาพรวมการลงทุนในอนาคตของเวียดนามจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจในภูมิภาคนี้ เนื่องจากมีการเปิดกว้างโดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% ซึ่งทำให้เวียดนามมีแต้มต่อมากขึ้น

ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีหลายปัจจัยในการพิจารณา ซึ่งในส่วนของเมียนมาร์มีจุดแข็งคือเป็นแหล่งแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำและกำลังแรงงานมาก ต้นทุนวัตถุดิบต่ำ และสามารถเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศที่สามได้ดี แต่ยังมีจุดอ่อนในด้านโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ค่อยพัฒนาเท่าที่ควรโดยเฉพาะด้านไฟฟ้า รวมถึงการขาดเสถียรภาพทางการเมือง และการเข้าถึงข้อมูลเป็นไปได้ยากเพราะเอกสารราชการส่วนใหญ่ยังไม่แปลเป็นภาษาอังกฤษ บวกกับระบบกฎหมายยังไม่พัฒนามากนัก ทำให้กฎระเบียบต่างๆยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งนี้พบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการลงทุนจะอยู่ในตัวเมืองย่างกุ้งและจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานดีกว่าส่วนอื่นของประเทศ ส่วนประเทศเวียดนาม มีจุดแข็งในเรื่องของตลาดภายในประเทศ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เป็นแหล่งแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำและมีจำนวนมาก ทรัพยากรบุคคลมีคุณภาพ และเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศที่สามได้ แต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องกฎหมายที่ไม่ชัดเจนและมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยเช่นเดียวกับเมียนมาร์ และมีปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ค่อยพัฒนาเท่าที่ควร

ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาต่อภาครัฐเพื่อส่งเสริมนักธุรกิจไทยในการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ควรจัดตั้งหน่วยงานบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one-stop service) เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจระหว่าง SMEsไทยและประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของSMEsในต่างประเทศ โดยให้ข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลเชิงลึกในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการค้าและภาษีสิทธิประโยชน์การลงทุนของต่างชาติ กฎหมายการลงทุน ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการเร่งรัดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณตะเข็บชายแดน เช่น ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ,อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี, อ.แม่สาย จ.เชียงราย, จ.มุกดาหาร, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยอาจจะมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เช่น การจ่ายค่าจ้างแรงงานที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประธานทีดีอาร์ไอ ย้ำว่า การที่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะเข้าไปลงทุนใน 2 ประเทศนี้ เป็นเรื่องที่เหมาะสม ส่วนการผลักดันแนวทางดังกล่าวไปสู่ภาคการปฏิบัตินั้น ขณะนี้ทีดีอาร์ไอได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำผลการวิจัยและข้อเสนอแนะต่างๆเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนนำไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด