กลไกการปรับตัวภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

ปี2013-11-21

นณริฏ พิศลยบุตร

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ในปัจจุบัน โครงสร้างทางด้านประชากรของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก จากสังคมที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ค่อนข้างสูง และมีช่วงชีวิตที่ค่อนข้างสั้น กลายเป็นสังคมที่มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำ และมีช่วงอายุที่ยืนยาวมากขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า จำนวนเด็กที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ มีจำนวนที่น้อยลงกว่าในอดีต แต่กลับต้องเลี้ยงดูญาติผู้ใหญ่ที่มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากอายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง การเตรียมความพร้อมของประเทศในการรับมือกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีความยั่งยืนในอนาคต

ในแวดวงวิชาการ แนวทางในการชะลอผลกระทบของการเข้าสู่สังคมสูงวัยในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย 1. การพัฒนาระบบบำนาญ และสวัสดิการสังคมให้มีความครอบคลุมทั่วถึง มีการสะสมกองทุนให้เพียงพอในแง่ของรายรับ-รายจ่าย 2. การขยายเวลาทำงานของกำลังแรงงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งการขยายอายุเกษียณการทำงาน และการดึงแรงงานบางส่วนที่มีแนวโน้มออกจากกระบวนการผลิตในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปให้ยังคงทำงาน และ 3. การนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อชดเชยแรงงานในสาขาที่ขาดแคลน

เป็นที่น่าสังเกตว่า แนวทางในการชะลอผลกระทบข้างต้น จะมุ่งเน้นที่บทบาทของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัยเป็นหลัก ซึ่งผู้เขียนเองก็มีความเห็นที่สอดคล้องกับแนวทางทั้งสาม อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความเห็นว่าบทบาทในการช่วยเหลือตัวเองของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และภาครัฐควรที่จะสนับสนุนให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีการปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยควบคู่กันไปเช่นกัน ซึ่งจะทำให้สังคมไทยสามารถปรับเปลี่ยนเข้าสู่สังคมสูงวัยได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น และภาระในการแก้ไขปัญหาจะไม่ตกอยู่กับภาครัฐแต่เพียงผู้เดียว

อ้างอิงจากผลงานวิจัยของตัวผู้เขียนเองและ ดร.จิระวัฒน์ ปั้มเปี่ยมรัษฏ์ (2555) ซึ่งใช้วิธีการ Simulation ในการประมาณการผลกระทบของสังคมสูงวัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย พบว่า หากภาครัฐสนับสนุนให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีการปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ระบบเศรษฐกิจจะมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบของการเคลื่อนผ่านเข้าสู่สังคมสูงวัยได้เป็นอย่างดี โดยจะต้องการการพัฒนาเทคโนโลยี ในระดับร้อยละ 1.6 ต่อปีเท่านั้นเพื่อชดเชยผลกระทบของสังคมสูงวัย และทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตในระยะยาวได้ ดังแสดงในรูปที่ 1

รูปที่ 1 การเปรียบเทียบมูลค่าผลผลิตมวลรวม (GDP) ของประเทศไทยในกรณีสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (สังคมเปลี่ยนผ่าน) กับกรณีสังคมไทยที่ไม่เข้าสู่สังคมสูงอายุ (สังคมเยาว์วัย) ซึ่งวัดในรูปหน่วยผลิตภาพแรงงานคงที่

pic01

แนวทางในการปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงอายุของภาคครัวเรือนก็คือ การปรับเปลี่ยนแบบแผนการบริโภค การออม การทำงานและการพักผ่อน ให้มีความเหมาะสมที่จะรับมือกับสังคมสูงอายุ นั่นคือ จะต้องมีการสะสมเงินออมให้เพียงพอที่จะดูแลทั้งตัวเอง ครอบครัว และญาติผู้ใหญ่ ในส่วนของภาคธุรกิจ การปรับตัวที่เหมาะสมจะเป็นการปรับเปลี่ยนจากการผลิตโดยใช้แรงงานเป็นหลัก มาเป็นการใช้ปัจจัยทุน เช่น เครื่องจักร หรือ ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการใช้แรงงานลง รวมทั้งการอาศัยเงินออมรวมในระบบเศรษฐกิจที่มากขึ้น (จากการสะสมของภาคครัวเรือน) มาลงทุนเพิ่มเติมในกิจกรรมที่เน้นปัจจัยทุนและเทคโนโลยีเป็นหลัก เพื่อปรับสมดุลย์ทางด้านเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศที่มีสัดส่วนทุนมากขึ้นและสัดส่วนแรงงานลดลง

หน้าที่ของภาครัฐที่สำคัญเพื่อเอื้ออำนวยต่อการปรับตัวของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะประกอบไปด้วย 1. การให้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นในการปรับตัวของภาคครัวเรือน เช่น ข้อมูลแบบแผนเงินออมที่ภาคครัวเรือนต้องเก็บสะสมเพื่อที่จะให้มีความพอเพียงในการดำรงชีพในอนาคต 2. การวางนโยบายสนับสนุนให้ภาคธุรกิจหันมาใช้ปัจจัยทุนและเทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานที่กำลังจะมีจำนวนลดลง (ซึ่งได้แก่ การปรับกระบวนการผลิตเดิมให้หันมาใช้ปัจจัยทุนและเทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานมากขึ้น เช่น การซื้อเครื่องจักรเพื่อใช้ทำงานแทนคนในกระบวนการผลิต) 3. การวางนโยบายสนับสนุนให้ภาคธุรกิจหันมามุ่งเน้นที่กิจกรรมที่เน้นปัจจัยทุนและเทคโนโลยีเป็นหลักมากขึ้น  (ซึ่งได้แก่ การขยายกิจกรรมการผลิตไปยังกิจกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อนและเป็นกิจกรรมที่เน้นการใช้ปัจจัยทุนและเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการขยับขึ้นตามห่วงโซ่มูลค่า หรือ upgrading และการทำนวัตกรรม)

กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนมองว่ากลไกการปรับตัวของภาคครัวเรือนและภาคเอกชน มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัยของไทย และหวังว่าการพัฒนากลไกการปรับตัวดังกล่าว จะช่วยทำให้สังคมไทยสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น และไม่เป็นภาระทางการคลังแก่ภาครัฐมากจนเกินควร