กม. อุ้มรายได้เกษตรกร กระทบงบลงทุนของประเทศ

ปี2015-02-02

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รายได้และสวัสดิการเกษตรกร พ.ศ…. ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังดำเนินการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในเร็วๆ นี้ เนื่องจากมีการเสนอให้ตั้งงบประมาณเพื่อดูแลเกษตรกรตามร่าง พ.ร.บ.ในจำนวนที่สูงมากเกินไป หากกฎหมายฉบับนี้ออกมาอาจจะส่งผลกระทบต่องบประมาณในการลงทุนภาพรวมของประเทศได้

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในหลักการนั้นเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะช่วยเหลือเกษตรกร แต่ต้องมีการแยกความช่วยเหลือให้ชัดว่ากลุ่มใดควรที่จะได้รับการช่วยเหลือ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกลายเป็นภาระกับงบประมาณมากเกินไป เนื่องจากกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดหางบประมาณมาดูแลเกษตรกรในสัดส่วนถึง 10% ของจีดีพีของประเทศด้านเกษตร หรือตกประมาณปีละ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งมีปริมาณที่สูงเกือบ 50% ของงบลงทุนประเทศในแต่ละปีมาช่วยเหลือเกษตรกร

“การที่รัฐต้องกันงบก้อนดังกล่าวออกไปเช่นนี้ จะทำให้มีคำถามมายังรัฐว่า รัฐต้องตั้งประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับคนทุกสาขาอาชีพด้วยหรือไม่ เพราะเป็นผู้มีรายได้น้อยเช่นกัน กลายเป็นว่าเอาคนทั้งประเทศมาแบกเกษตรกรกลุ่มเดียว” นายนิพนธ์ กล่าว

สำหรับกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.เลียนแบบกฎหมายด้านการเกษตรของสหรัฐนั้น ทำได้ยากเพราะขนาดเศรษฐกิจต่างกัน เกษตรกรของสหรัฐมีประมาณ 9% ของประเทศ และจีดีพีภาคเกษตรของสหรัฐมีประมาณ 1.5% ของงบประมาณประเทศ ในขณะที่ไทยมีเกษตรกรประมาณ 40% ของประเทศ และจีดีพีภาคเกษตรของไทยประมาณ 10% ของจีดีพีประเทศ

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า จะเปิดรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.ในวันที่ 2 ก.พ. 2558 นี้ และคาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ประมาณกลางเดือน ก.พ.นี้ สาระสำคัญคือเปิดให้มีการลงทะเบียนเกษตรกรทั้งประเทศ แยกเป็นหมวด เช่น พืช สัตว์ ประมง ในหมวดของด้านรายได้นั้น รัฐจะประกันรายได้ขั้นต่ำของแต่ละกลุ่มสินค้าเกษตร กรณีรายได้ต่ำกว่าขั้นต่ำจะมีการนำเงินก้อนนี้ไปชดเชยส่วนต่างชดเชยส่วนต่าง

ด้านหมวดสวัสดิการกำหนดให้จ่ายเงินรายปีให้กับเกษตรกร 3,000-5,000 บาท/ปี สำหรับเกษตรกรอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเกษตรกรที่ประสงค์จะได้เงินก้อนดังกล่าวจะต้องสมัครสมาชิกและมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าบำรุงรายปี โดยกฎหมายฉบับนี้จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อกำหนดรายได้ขั้นต่ำของแต่ละพืช

————-

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ในชื่อ “ค้าน กม.อุ้มรายได้เกษตรกรกันเงินช่วยปีละ1.3แสนล.กระทบงบลงทุน กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าเร่งดันเข้าครม.”