tdri logo
tdri logo
13 มีนาคม 2015
Read in Minutes

Views

ฟังความคิด นักเศรษฐศาสตร์ เหตุใดยกมือหนุนเก็บ “ภาษีบ้าน”

“ผม อยากให้อภิมหาเศรษฐีออกมาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณธนินท์ เจียรวนนท์ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี หากรักประเทศไทยจริงพวกคุณต้องออกมาสนับสนุน”

อาจารย์นิพนธ์
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) และรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (ที่มารูปภาพ: isranews.org/)

หลังจากกระทรวงการคลังเดินหน้าเต็มที่ ในการผลักดันร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษี ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการนำเงินภาษีไปใช้ให้เกิดประโยชน์

สำนักข่าวอิศราสัมภาษณ์นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ให้แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI)  ในฐานนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า เรื่องที่เป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ คือเรื่องเพดาอัตราภาษีจะเก็บเท่าไหร่นั้น วันนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

“ความจริงผมไม่เห็นด้วยหลายเรื่องสำหรับร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น ภาคการเกษตร ที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม อยากให้เก็บในอัตราเดียวกันหมด แต่ตอนนี้จะออกแบบไหนก็ขอให้กฎหมายฉบับนี้ได้คลอดออกมาก่อน”

ดร.นิพนธ์ เห็นว่า เรื่องปรับลดสามารถทำกันได้ ส่วนปัญหาที่กลายเป็นกระแสถกเถียงกันอยู่เพราะรัฐบาลไม่ประชาสัมพันธ์ให้ดี ไม่ใช่รัฐบาลออกมาพูดว่า ที่ต้องเก็บ เพราะว่าไม่มีเงิน จริงๆแล้วรัฐบาลมีเงิน ประเด็นอยู่ที่ภาษีที่ดินเป็นภาษีที่จะใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่ประชาชนต้องจ่าย

“ถ้าไม่จ่ายอยากได้ถนนจะเอาถนนมากจากที่ไหน จะสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลอย่างไร ในต่างประเทศฐานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำคัญที่สุดในการอำนวยความสะดวก”

ดร.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ภาษีที่สำคัญที่สุดมีอยู่ 2 ตัว คือภาษีที่ดิน และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะภาษีประเภทอื่นเก็บไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ที่สำคัญภาษีที่ดินฯ เป็นภาษีสำหรับท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการพัฒนา

“หัวใจสำคัญของการเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะกับกลุ่มชนชั้นกลางที่ไม่เข้าใจว่า จุดสำคัญของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศได้อย่างไร”

ส่วนที่ชนชั้นกลางไม่เข้าใจ ไม่อยากจ่าย นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้เห็นว่า ถนนก็ใช้กันสะดวกจะไม่จ่ายได้อย่างไร กฎหมายมีข้อยกเว้นและจะยกเว้นให้คนจน ไม่ใช่คนชนชั้นกลาง

“ผมอยากให้อภิมหาเศรษฐีออกมาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณธนินท์ เจียรวนนท์ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี หากรักประเทศไทยจริงพวกคุณต้องออกมาสนับสนุน”

ด้านรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่า  การผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำกันมาเกือบจะ 40 ปี การกระทรวงคลังต่อสู้ผลักดันมานาน ภาษีนี้เป็นภาษีสากลที่เกิดขึ้นทุกแห่งในโลก ในอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซียมีกันมายาวนาน ยกเว้นประเทศไทยที่ไม่มีภาษีนี้มายาวนาน

สาเหตุที่ต้องเร่งผลักดันการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อธิการ มธบ. อธิบายว่า เนื่องจากประสิทธิภาพคือเก็บได้ง่าย ชัดเจน หนี หรือเลี่ยงภาษีได้ยาก เนื่องจากมีโฉนดมีแผนที่ทางอากาศชัดเจน อีกทั้งต้นทุนการเก็บต่ำและมีฐานอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์หมดแล้ว

และที่สำคัญ คือ เป็นการเก็บภาษีที่สร้างรายได้ให้รัฐได้เป็นจำนวนมาก ส่วนจะปรับเพดาให้สูงหรือต่ำก็สามารถทำได้

รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวด้วยว่า กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น คนมีมากก็ต้องจ่ายมาก คนมีน้อยก็ต้องจ่ายน้อยเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นจึงเห็นว่า ไม่มีเหตุผลอันใดที่ปล่อยเวลาในการออกกฎหมายฉบับนี้ยาวออกไปอีก เพราะหากจะรอออกกฎหมายฉบับนี้ในกลุ่มการเมืองจะไม่สำเร็จ

“เวลานี้เป็นโอกาสทองที่สมควรจะออก ใครจะด่าอย่างไรก็ต้องเดินหน้า หากกังวลว่า ที่ดินของตนเองจะมีราคาเพิ่มสูงจนกระทั่งจ่ายไม่ไหว ถ้ามูลค่าทรัพย์สิน 20 ล้านบาท ต้องจ่ายปีละ 20,000 บาท เป็นไปได้หรือ คนมีทรัพย์สินมูลค่าขนาดนี้จะไม่มีเงินจ่าย หรือบางคนบอกว่าบ้านหลังนี้เป็นมรดกตกทอด เกิดมาก็มีบ้านหลังใหญ่อยู่เลยแล้วบอกจะไม่เสียภาษีแบบนี้ใช่หรือ ดังนั้นวันนี้สังคมต้องยอมรับหลักการของตัวภาษีก่อนว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี เป็นสากล และมีความเหมาะสม แล้วถึงจะคุยกันได้ว่าจะเก็บแค่ไหน เก็บได้บ้างดีกว่าเก็บไม่ได้เลย

“มีบ้านราคาหลังละล้านบาท จ่ายภาษีพันบาทต่อปี ถ้าจ่ายไม่ได้ก็ไม่ควรมีบ้านแล้ว ผมสนับสนุนการออกกฎหมายฉบับนี้เต็มหัวใจ และเชื่อว่า ถ้ารัฐอธิบายหลักการให้ดีจะไม่เป็นปัญหา วันนี้คนต้านเขาไม่เข้าใจและกำลังอยู่ในภาวะตกใจ เพราะไม่เคยจ่าย และนิสัยคนไทยคือไม่ชอบเสียภาษี ดังนั้นต้องอธิบายให้มาก และการออกกฎหมายฉบับนี้ก็คือการปรับปรุงภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เคยมีมาก่อนให้เป็นรูปแบบใหม่ที่เป็นธรรมมากขึ้นเท่านั้นเอง”

และล่าสุดนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับเกณฑ์อัตราลดหย่อนการจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัย ตามร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนชั้นกลางมากเกินไป

จากเดิมที่กำหนดอัตราลดหย่อน กรณีบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี เพิ่มเป็นบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี

ขณะเดียวกัน บ้านที่ราคา 1-3 ล้านบาทจากเดิมที่จะจัดเก็บในอัตรา 50% ของอัตราภาษีที่ 0.1% ของราคาประเมิน ก็มีจะปรับเพิ่มวงเงินเป็น 1-4 ล้านบาทเสียภาษี 50%

ส่วนบ้านที่ราคาเกิน 5 ล้านบาท ยังคงจัดเก็บที่อัตราเดิมที่ 0.1%

ทั้งนี้ การเว้นภาษีให้บ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และลดหย่อนภาษีบ้านราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท ที่จะจัดเก็บในอัตรา 50% ของอัตราภาษีที่ 0.1% ของราคาประเมินนั้น จะลดหย่อนเฉพาะ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยนั้น โดยจะที่มีชื่ออยู่ในสำมะโนครัว หรือ ทะเบียนบ้าน เท่านั้นและได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีเพียงบ้านหลังเดียวเท่านั้น ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้

กรณีที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 หลัง โดยบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไปจะต้องเสียภาษีเต็มอัตราที่ 0.1% ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอาจจะโอนให้ภรรยาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เพื่อลดหย่อนภาษีแทน

สำหรับการเก็บภาษีที่ดิน ที่ใช้สำหรับเพาะปลูกและการเกษตรนั้น อยู่ระหว่างการสรุปแนวทางจัดเก็บภาษี เบื้องต้นคาดว่า ที่ดินเกษตรไม่เกิน 15 ไร่ รวมที่อยู่อาศัย หรือมีมูลค่าไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี เหมือนกันที่เว้นภาษีให้ที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ล้านบาท

ภาษีที่ดินไม่ใช่กฎหมายใหม่ ที่รัฐบาลจะนำมาเก็บภาษีจากประชาชน ที่ผ่านมามีการจัดเก็บภาษี ทั้งในส่วนที่เป็น ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน อยู่แล้ว โดยจัดเก็บได้ปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท แต่ภาษีที่ดินใหม่นี้จะทำให้รัฐจัดเก็บได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ จะสามารถนำไปใช้พัฒนา ซ่อมแซมถนน คูน้ำ สาธารณูปโภคได้มากขึ้น ทั้งในส่วนที่เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและกรุงเทพฯ

—————————–

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์สำนักข่าวอิศราวันที่ 10 มีนาคม 2558 ใน “ฟังความคิด นักเศรษฐศาสตร์ เหตุใดยกมือหนุนเก็บ ‘ภาษีบ้าน’”

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด