เก็บภาษีต่างชาติ-เปิดราคายา ทางแก้ รพ.ขูดค่ารักษา

ปี2015-05-14

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาตรการจริงจังทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งให้แก้ปัญหาโรงพยาบาลเอกชนราคาสูงเกินจริง โดยกางเอากฎหมายทุกฉบับเพื่อหาทางควบคุมผู้ให้บริการเอาเปรียบคนไข้

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังหาทางออกไม่ได้ เนื่องด้วยประเทศไทยเปิดเสรีให้กับโรงพยาบาลเอกชนจนหลายแห่งเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ท่ามกลางการเติบโตของตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมารักษาในประเทศไทย จนดูเหมือนว่าหากจะหันมาควบคุมราคาในเวลานี้ก็สายไปเสียแล้ว

วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การคุมค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนนั้นยากมาก เพราะประชาชนไม่มีทางรู้ว่าเมื่อป่วยแต่ละครั้งต้องรักษาอะไรบ้าง วิธีแก้ปัญหาคือใช้วิธีทำแบบระบบหลักประกันสุขภาพคือ เฉลี่ยค่ารักษาเป็นรายคน ทำให้ค่ายาและค่ารักษาถูกลง แต่วิธีดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยหากคนไข้ไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนด้วยตัวเอง

“ในช่วง 10 ปีหลัง การเติบโตของเมดิคัลทัวริสต์ได้กระตุ้นให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นมาก จากเดิมมีไม่กี่พันก็สามารถนอนโรงพยาบาลได้หนึ่งคืน ทำให้ขณะนี้มันเฉลี่ยขึ้นมาที่คืนละหมื่นบาท”

ในส่วนการหาต้นทุนนั้น วิโรจน์ บอกว่า บริการสุขภาพไม่มีต้นทุนจริงๆว่าค่ารักษาอยู่ที่เท่าไร แต่แปรผันขึ้นลงตามอุปสงค์-อุปทาน เพราะฉะนั้นเมื่อมีผู้รักษามากขึ้นและด้านซัพพลายไม่เพียงพอ ค่าบริการก็ย่อมแพงขึ้นเหมือนกับสินค้าเกษตร

“ทีดีอาร์ไอเคยเสนอให้เก็บภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาตัวโดยเฉพาะ เพื่อนำภาษีมาผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลรัฐในการรักษาผู้ป่วย แต่สุดท้ายเราก็โดนกระทรวงท่องเที่ยวโจมตี และทุกรัฐบาลก็สนับสนุนและโปรโมทให้นักท่องเที่ยวเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย”

วิโรจน์ บอกอีกว่า อีกวิธีที่น่าจะทำได้ก็คือ ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบประกันสังคมให้พอเป็นทางเลือกและเป็นระบบที่ไว้ใจได้ โดยอาจไม่ต้องดีมากแต่เวลาที่จำเป็นต้องสามารถเข้าถึงได้ ไม่ต้องรอคิวหรือติดเงื่อนไขจนทำให้ได้รับการรักษาล่าช้า และทำให้ระบบเอกชนกลายเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีเงินจริงๆก็น่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

ขณะที่ ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) วิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญของค่าใช้จ่ายสูงเกินจริง ได้แก่ 1.ค่ายา 2.ค่าวินิจฉัย 3.ค่าอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ และ 4.ค่าตัวแพทย์ ซึ่งรัฐสามารถดูแลได้โดยอาศัยกลไกต่างๆ แต่ที่สำคัญคือ สภาเภสัชกรรมและแพทยสภาจะต้องคุมเข้มคนในวิชาชีพไม่ให้หาเศษหาเลยกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา

สำหรับเรื่องราคายา กระทรวงพาณิชย์สามารถบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ เพื่อเปิดเผยราคายาในตลาด และถ้าหากเปิดเผยออกมาแล้วยามีราคาแพงก็จะได้ร่วมกันหาต้นทุนที่แท้จริงว่ายาแต่ละชนิดมีราคาสูงเกินไปหรือไม่ และที่สูงมาจากสาเหตุใด เพราะข้อมูลล่าสุดพบว่าบริษัทยาส่วนมากมีค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมการขายสูงกว่าค่าวิจัยและพัฒนา

“หากรัฐบาลจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ควรเริ่มจากการเผยราคายาที่แท้จริง เพราะราคายาบางอย่างเราซื้อแพงกว่าประเทศอื่นเยอะ และทุกวันนี้โรงพยาบาลเอกชนก็จัดซื้อยารวมในราคาถูกจึงไม่มีเหตุผลที่จะอ้างให้ค่ารักษาพยาบาลแพง” ภญ.นิยดา กล่าว

————————

หมายเหตุ: พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ วันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ในชื่อ “เก็บภาษีต่างชาติ-เปิดราคายาทางแก้ รพ.ขูดค่ารักษา”