ดันตั้ง ‘สถาบันจัดการน้ำ’ แก้วิกฤติ ‘แล้ง-ท่วม’ อย่างยั่งยืน

ปี2015-09-01

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทยในเขตนิคมอุตสาหกรรม ต่อตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชนและตัวแทนจากนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อรูปแบบการบริหารจัดการน้ำ โดยมีที่มาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ส่งผลกระทบร้ายแรง สูญเสียทั้งในแง่กายภาพและมูลค่าทรัพย์สิน

8ekjaie9h5aa9bckifej9
(ที่มารูปภาพ: กรุงเทพธุรกิจ)

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ จากทีดีอาร์ไอ ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม นอกเหนือไปจากปริมาณน้ำแล้ว รูปแบบการบริหารจัดการน้ำ ถือเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้นักวิชาการของทีดีอาร์ไอ นำมาเป็นข้อสันนิษฐานในการศึกษาวิจัยในทางเศรษฐศาสตร์ โดยรูปแบบการบริหารจัดการน้ำ อยู่ในรูปแบบ “สถาบันการจัดการน้ำ” ที่หมายรวมถึง องค์กรที่เกี่ยวข้อง กฎกติกา การจัดการน้ำ เพื่อหาจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ประจำทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการศึกษาโครงสร้างพบว่า องค์กรบริหารน้ำ ถือเป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องที่ท้าทายอีกประเด็นหนึ่ง เพราะการบริหารจัดการน้ำเป็นองค์กรที่ต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความหลากหลาย และต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่าจะให้ก่อเกิดรูปแบบที่เหมาะสมจนสามารถเห็นผลสัมฤทธิ์ที่สมบูรณ์ แต่ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งที่รุนแรง และบ่อยครั้งยิ่งขึ้น “รูปแบบการบริหารจัดการน้ำรูปแบบเดิมนั้น มีลักษณะตัวใครตัวมัน แต่ละชุมชนต่างสร้างแบริเออร์(กำแพง)กั้นน้ำ ไม่ให้ท่วมพื้นที่ตน สุดแต่ว่าใครจะมีปัญญาผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ได้ ทำให้ปริมาตรน้ำไม่สามารถไหลลงสู่อ่าวไทยได้สะดวกรวดเร็ว เกิดภาวะท่วมขังตามจุดต่างๆ” นางเดือนเด่นกล่าว

นางเดือนเด่น ชี้ไปที่ภาครัฐที่จะต้องจัดตั้ง สถาบันในการจัดการน้ำที่ดีหรือ “คณะกรรมการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.)” ควรมีการรวมรูปแบบบูรณาการ(Integrated) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถทำงานได้ทั้งในภาวะปกติและในยามฉุกเฉิน ซึ่งไม่ใช่การรวมศูนย์ไปที่ส่วนกลาง กล่าวคือ นอกจากจะสามารถบริหารระดับน้ำในเขื่อน สามารถบำรุงรักษาแม่น้ำลำคลอง ในยามที่ฝนตกต้องตามฤดูกาล เช่น กรมชลประทาน และยังสามารถบริหารความเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม หรือสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ในยามที่ฤดูกาลเปลี่ยนไปจากปกติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) นอกจากนี้ สถาบันจัดการน้ำดังกล่าว ยังต้องไม่ขึ้นอยู่กับกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง และยังมีคณะกรรมการในระดับลุ่มน้ำ ตามพื้นที่ต่างๆ ที่ประกอบด้วยตัวแทนผู้ใช้น้ำ ที่ไม่ใช่ข้าราชการจากส่วนกลาง “การรวมกันจากหน่วยงาน ทั้ง 7 กระทรวง และมีกฎหมายอย่างน้อย 40 ฉบับไว้คอยกำกับให้อำนาจในการดูแลบริหารจัดการน้ำ จะรวมกันอย่างไรเป็น อีกเรื่องหนึ่งที่ท้าทาย”

ในด้านรูปแบบองค์กร จะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำในแต่ละท้องถิ่นเป็นฐานโครงสร้างหลัก ที่มีตัวแทนผู้ใช้น้ำ อันประกอบด้วย ตัวแทนเกษตรกร ครัวเรือน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภาคอุตสาหกรรม ตามระบบคัดกรองที่ดีเพื่อให้ได้ตัวแทนที่แท้จริง ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำในยามปกติ

นายนิพนธ์ ระบุถึงคณะกรรมการระดับลุ่มน้ำนั้น เกิดขึ้นจริงแล้วจากปัญหาผู้ใช้น้ำต้นน้ำกับปลายน้ำแย่งชิงน้ำในช่วงเกิดวิกฤติภัยแล้งที่ผ่านมา จนมีการพัฒนารูปแบบการแก้ปัญหาในลักษณะการหันหน้าเข้าหากัน เพื่อร่วมกันจัดสรรทรัพยากรน้ำ ที่เป็นสมบัติของส่วนร่วม ทำให้พวกเขาสามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงมีระบบตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้มีการตักตวงจนกระทบต่อส่วนรวม “ตัวอย่างนี้เกิดขึ้นทางภาคเหนือ เป็นรูปแบบเดียวกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่ล้ำหน้าก่อนที่จะมีกฎหมายบังคับใช้ สามารถตกลงเจรจากันได้โดยไม่ต้องมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง”

สำหรับปัญหาวิกฤติน้ำท่วม-แล้ง ที่เกินความสามารถของคณะกรรมการลุ่มน้ำ จะรับมือได้ นางเดือนเด่น ระบุว่า ก็จะมีคณะกรรมการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รับหน้าที่ต่อโดยมีฝ่ายประสานงานเป็นตัวเชื่อมระหว่าง คณะกรรมการแห่งชาติและคณะกรรมการลุ่มน้ำ โดยมีตัวแทนผู้ใช้น้ำ ในคณะกรรมการลุ่มน้ำ เข้าไปมีบทบาทใน คณะกรรมการแห่งชาติด้วย ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามในการมอบหมายให้ระดับท้องถิ่นมีบทบาทก็คือ ต้องพัฒนาศักยภาพ ให้ความรู้ งบประมาณและอำนาจที่จำเป็น เพราะที่ผ่านมา การกระจาย อำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น บางแห่งไร้ความสามารถที่บริหารงานปกครอง ประเด็นพื้นฐานในการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ แม่น้ำสายหลัก-สายรอง คู-คลองระบายน้ำต่างๆ แต่ “การใช้ประโยชน์ที่ดิน(Land use)” คือ คำตอบแรกของประเด็นสำคัญในการบริหาร เพราะหากยังมีการก่อสร้างบนพื้นที่ทางน้ำไหล ไม่ว่าจะสร้างเขื่อน คู คลองระบายน้ำมากเพียงใด ก็ไม่มีประโยชน์

ด้านนายสมชัย จิตสุชน นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ยกตัวอย่าง การบริหารจัดการน้ำ ที่นำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ มานั่งรวมกันในรูปแบบคณะกรรมการเฉพาะกิจ มักไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะ น้ำ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หากรัฐมนตรีต้องมานั่งรวมกัน จะต้องมีสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีที่แข็งแกร่ง “หากคนที่มานั่งแก้ปัญหาไม่มีความรู้ ต่างคนต่างเป็นรัฐมนตรี และหากไม่มีคนทุบโต๊ะ ก็ไม่มีใครยอมใคร ฉะนั้น การกลั่นกรองเพื่อให้ได้ตัวแทนผู้ใช้น้ำอย่างแท้จริง”

ทั้งนี้ สาเหตุของการจัดสัมมนาให้กับ ตัวแทนนิคมอุตสาหกรรมได้รับฟังการเสนอรูปแบบการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจาก เป็นการสร้างความเข้าใจให้กับภาคอุตสาหกรรม ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นตัวแทนผู้ใช้นำ ในคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ทรัพยากรน้ำ และจะมีผลเมื่อมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

————–
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 กันยายน 2558 ในชื่อ ดันตั้ง’สถาบันจัดการน้ำ’แก้วิกฤติ’แล้ง-ท่วม’อย่างยั่งยืน