นักวิจัยทีดีอาร์ไอ เผยปี57 เกษตรกรหนี้พุ่ง 1.3ล้านล้าน

ปี2015-10-05

ผลการศึกษา โดย ทีดีอาร์ไอ พบ ภาวะหนี้สินเกษตรกร ปี 57 สูงกว่า 1.322 ล้านล้านบาท ครัวเรือนยากจนมีหนี้ 142% แนะใช้มาตรการระยะสั้น รัฐเยียวยา ฉุกเฉิน ปรับโครงสร้างหนี้ ประเมินเป็นรายบุคคล ระยะยาวส่งเสริมควรปรับเปลี่ยนอาชีพ ขณะที่ 13 กองทุน ในกระทรวงเกษตรฯ ขาดประเมินผล มีภารกิจซ้ำซ้อน ขาดการบูรณาการร่วมกัน

สถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษาภาวะหนี้สินเกษตรกรและแนวทางการปรับปรุงศักยภาพการดำเนินงานกองทุนในกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2557 พบ มีหนี้สินรวม 1.322 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้สินกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) จำนวน 826,001 ล้านบาท หรือ 62.45 % ของหนี้สินทั้งหมด สหกรณ์การเกษตร 83,828 ล้านบาท หรือ 6.34% กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 3,496.41ล้านบาท หรือ 0.26% กองทุนในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ 10,401 ล้านบาท หรือ 0.79% ธนาคารพาณิชย์ 398,906 ล้านบาทหรือ 30.16%

“สถานะความเป็นหนี้ของเกษตรกร ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนเกษตร ส่วนใหญ่ 66% ยังคงพึ่งเงินกู้ยืมจาก แหล่งเงินทุนต่างๆ โดยเกษตรกรจะกู้ยืมจาก ธ.ก.ส. เป็นหลัก รองลงมาเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เช่น AEON และองค์กรการเงินกึ่งทางการ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง”นาย นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าว

10-6-2015 8-25-03 PM
ที่มารูปภาพ: กรุงเทพธุรกิจ

อัตราหนี้คงค้างสูงกว่ารายได้

นายนิพนธ์ กล่าวว่า โดยปริมาณหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนเกษตรกร หลังวิกฤติเมื่อ ปี 2540 เกษตรกรไทยเริ่มก่อหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2543 โดยครัวเรือนเกษตร ที่ไม่จน กู้ยืมเงินในปริมาณที่สูงกว่าครัวเรือนเกษตรยากจนถึงเกือบ 2 เท่าตัว และครัวเรือนเกษตรที่อยู่ในกลุ่มที่ร่ำรวยสุด 20% มีหนี้สิน ที่แท้จริงสูงกว่าครัวเรือนเกษตรในกลุ่มที่จน 20% ประมาณ 6 เท่าความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเกษตรในการชำระหนี้เงินกู้โดยรวม ในปี 2556 เริ่มเห็นความเสี่ยงชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเกษตรที่ไม่จน มีสัดส่วนหนี้คงค้างสูงกว่ารายได้ โดยเฉลี่ยถึง 25 เท่า ขณะที่กลุ่มที่จนสุด 20% มีสัดส่วนหนี้คงค้างสูงกว่ารายได้โดยเฉลี่ย 13 เท่า

จากข้อมูลยอดหนี้คงค้างของเกษตรกรปี 2557 เทียบกับปี 2554 พบว่า แหล่งเงินกู้ยืมที่เกษตรกรมีหนี้สินคงค้างเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 28% กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพิ่มขึ้น 22% และ ธ.ก.ส. เพิ่มขึ้น 9% สำหรับแหล่งเงินกู้ยืมที่เกษตรกรมีหนี้สินคงค้างลดลง ได้แก่ กองทุนในกำกับดูแลของ กระทรวงเกษตรฯ ลดลง 13% และสหกรณ์ภาคการเกษตรลดลง 4.8% ครัวเรือนเกษตรมีหนี้สินต่อครัวเรือน 68,000 บาท ขณะที่ครัวเรือนไทยทั้งประเทศ มีหนี้สิน 122,700 บาท แต่ครัวเรือนเกษตรกลับมีหนี้ต่อรายได้ทั้งปี 87% สูงกว่าหนี้ต่อรายได้ทั้งปีของครัวเรือนไทยทั้งประเทศ 84%

ครัวเรือนยากจนมีหนี้สูงถึง142%

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ครัวเรือนเกษตรยากจนมีหนี้ต่อรายได้ 142% สูงกว่า ครัวเรือนเกษตรไม่จนที่มีหนี้ต่อรายได้ 63% ขณะที่เกษตรกรขาดความเชี่ยวชาญจัดการด้านการเงินและการกระจายความเสี่ยงการทำเกษตร ดังนั้นการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร มาตรการระยะสั้น รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการ ช่วยให้เกษตรกรและสมาชิกในครัวเรือนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ รวมทั้งมาตรการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินกับเด็กเล็ก ผู้หญิง คนชรา เช่น การสร้างงานและอาชีพเพื่อให้ครัวเรือนเกษตรมีสมรรถนะทางด้านการเงิน ที่เข้มแข็งมากขึ้น การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร โดยไม่ลดแรงจูงใจของลูกหนี้เกษตรกรที่มีประวัติดี ควรจะประเมินลูกหนี้เป็นรายบุคคล ไม่ใช้มาตรการเหมารวม เพราะพฤติกรรมของลูกหนี้แต่ละประเภทแตกต่างกันมาก

แนะส่งเสริมปรับเปลี่ยนประกอบอาชีพ

ส่วนมาตรการระยะยาวควรส่งเสริม ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการประกอบ อาชีพ สร้างความหลากหลายในระบบการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยภาครัฐต้องให้การสนับสนุนทางด้านกลไกทางสถาบันและการลงทุนที่สำคัญๆ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้กลยุทธ์ทางด้าน การแปรรูปและการทำการตลาดมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรายได้หรือมูลค่าเพิ่มให้กับ ครัวเรือน ต้องให้ความสำคัญกับการวิจัย และพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม และ ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงวิทยาการใหม่ๆ ได้มากขึ้น ภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และโรงเรียน ร่วมมือกันผลักดันการสร้างความรู้และทักษะการบริหารจัดการทางการเงินที่ดีให้กับทุกภาคส่วน อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาหนี้สินเกษตรกร

ระบุ 13 กองทุนขาดประเมินผล

นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอยังศึกษาถึง กองทุนในกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ มี 13 แห่ง ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อ การชลประทาน กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กองทุนจัดรูปที่ดินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตเชื้อไรโซเบียม เงินทุนหมุนเวียนในการผลิตพันธุ์ปลา พันธุ์กุ้ง และพันธุ์สัตว์น้ำอื่นๆ เงินทุน หมุนเวียนยางพารา เงินทุนหมุนเวียน เพื่อผลิตวัคซีนจำหน่าย กองทุนเพื่อพัฒนาการผลิตถั่วเหลืองเงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน

การดำเนินงานของกองทุน ขาดประเมินผลลัพธ์ความสำเร็จการดำเนินงานกองทุน หลายกองทุนมีภารกิจบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน ขณะที่กองทุนต่างๆ ไม่ได้มีการบูรณาการงานร่วมกัน ที่จะทำให้การดำเนินนโยบาย มีประสิทธิภาพ หลายกองทุนดำเนินกิจกรรมในส่วนที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการ ได้อยู่แล้ว
กองทุนส่วนใหญ่เน้นที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแก่เกษตรกร แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักมากนักกับการวิจัยและพัฒนาอันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างภาคเกษตร ในระยะยาว

จี้ทบทวนบทบาทภารกิจกองทุน

ดังนั้น ควรทบทวนบทบาทและภารกิจของแต่ละกองทุน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีกิจกรรมที่คล้ายคลึงหรือทับซ้อนกัน เพื่อนำไปสู่การดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การพัฒนาภาคเกษตรไทย เช่น กองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ กองทุนจัดรูปที่ดิน และกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมฯทบทวนบทบาทของบางกองทุน เพื่อเป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้สำหรับภาคเกษตรในระยะยาว มากกว่าที่จะทำการค้าเหมือนภาคเอกชน

กองทุนที่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือ ควรให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และภาคเอกชน มากขึ้นกองทุนควรพัฒนาระบบการประเมิน ติดตาม ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในสินเชื่อให้ตรง รวมทั้งควรบูรณาการภารกิจร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ช่วยพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรได้ระยะยาว

——————–

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2558 ในชื่อ ‘ทีดีอาร์ไอ’เผย ปี57 เกษตรกรหนี้พุ่ง 1.3 ล้านล้าน