เพิ่มงบดูแลสุขภาพ สร้างความมั่นใจคุณภาพ-บริการ

ปี2016-07-16

ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่ผ่านมาคือการไม่มีฉันทามติในเรื่องระบบสุขภาพของประเทศว่าจะทำอย่างไร จะเดินไปทางไหน จะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคนหรือไม่ เมื่อเทียบกับระบบการรักษาพยาบาลของประเทศในแถบตะวันตกที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทุกคนจะใช้บริการในระบบ เช่น แคนาดา ที่มีระบบสุขภาพระบบเดียวให้บริการประชาชน ดังนั้น ประชาชนจะติดตามดูการให้บริการและคอยกดดันให้รัฐปรับปรุงระบบบริการอย่างต่อเนื่อง”  ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าว

Wirot (4)
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง

แต่เมื่อตั้งคำถามถึงระบบสุขภาพในประเทศไทย ดร.วิโรจน์ บอกว่าสำหรับประเทศไทยนั้นได้ชื่อว่ามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ให้บริการโดยสถานพยาบาลของรัฐเป็นหลัก ยกเว้นโครงการประกันสังคมที่ผู้มีสิทธเลือกใช้โรงพยาบาลเอกชนได้ แต่ในภาคปฏิบัติจะเห็นได้ว่าคนจำนวนมากไม่ได้ใช้บริการในโครงการที่ตนเองมีสิทธิ แต่เลือกที่ไปจ่ายเงินเอง ไม่ว่าจะโดยการข้ามขั้นตอนไปรับการรักษาที่โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ เพราะหากพิจารณาจากจำนวนเตียงในโรงพยาบาลเอกชนจะพบว่ามีความใกล้เคียงกับโรงพยาบาลรัฐ อีกทั้งมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

“คนจำนวนมากไปใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชน บ่งชี้ว่าคนไทยจำนวนมากไม่มั่นใจในคุณภาพของการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือบางส่วนอาจรู้สึกว่าเสียเวลารอนาน เมื่อเทียบกับบริการที่ได้รับ”

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของรัฐบาลคือ ทรัพยากรไม่เพียงพอ ซึ่งหลักๆ ก็คือ มีงบประมาณและบุคลากรไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อระบบการให้บริการสุขภาพกับประชาชน อย่างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นั้น ถือเป็นระบบดูแลสุขภาพประชาชนมากที่สุดกว่า 48-49 ล้านคน ก็ดำเนินโครงการติดขัดมาโดยตลอด

หลายรัฐบาลพยายามแช่แข็งงบประมาณ อย่างในปีงบประมาณ 2560 โครงการบัตรทองได้ค่าหัวเพิ่มเพียงร้อยละ 1 เศษๆ ซึ่งเมื่อหักเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นแล้ว งบสำหรับใช้ในการรักษาพยาบาลลดลง ซึ่งมีผลต่อบริการที่ประชาชนได้รับด้วย ส่วนการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล ที่ผ่านมาขาดแคลนอยู่แล้ว และมีความต้องการมากขึ้นเมื่อรัฐบาลมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลกลับส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลคนไข้ต่างชาติ (เมดิเคิล ฮับ) ซึ่งยิ่งทำให้ขาดแคลนบุคลากรมากขึ้น เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งถูกดึงไปอยู่กับเอกชนตามกำลังซื้อที่เหนือกว่าของต่างชาติและภาคเอกชน

ดร.วิโรจน์กล่าวอีกว่า ในส่วนของกองทุนประกันสังคมนั้น ผู้ประกันตนส่วนใหญ่เป็นคนในวัยทำงาน ปัญหาสุขภาพอาจมีปัญหาน้อยกว่ากองทุนอื่นๆ ซึ่งความแตกต่างของประกันสังคมกับบัตรทอง คือเรื่องของการให้สิทธิเลือกสถานพยาบาล ขณะเดียวกัน การที่ประกันสังคมมีสมาชิกเป็นวัยทำงาน ทำให้มีอัตราใช้บริการที่ไม่สูง ก็น่าจะทำให้ต้นทุนอาจจะต่ำกว่าบัตรทอง แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีข้อกังขาในด้านคุณภาพว่าระบบการจ่ายเงินที่ส่วนสำคัญเป็นการเหมาจ่ายเป็นรายหัวให้โรงพยาบาล ที่อาจทำให้เกิดการบริการที่ต่ำกว่า กล่าวคือ ไม่ว่าคนจะเข้ามารักษาพยาบาลหรือไม่ โรงพยาบาลก็ได้เงินอยู่แล้ว แรงจูงใจคือ ยิ่งคนเข้ามาใช้บริการน้อยลงยิ่งดี

หากจะทำระบบที่ดีนั้น รัฐบาลจะต้องทำระบบที่ทำให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพและบริการ ในบุคลากรทางการแพทย์ รัฐจะต้องใช้งบเพิ่มอีกจำนวนมากเพื่อปรับปรุงระบบบริการด้านสุขภาพของประเทศ ต้องนำเงินเข้ามาลงทุนในระบบสุขภาพเพิ่ม อาจต้องปรับลดงบบางด้าน หรือหากมองในเรื่องการเก็บภาษีเพิ่ม แต่ก็จะมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่พอใจ เพราะมองว่าบริการของรัฐไม่ดี และอยากจะมีสิทธิในการเลือกโรงพยาบาลด้วยตัวเองดร.วิโรจน์กล่าว


ด้าน นายจอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า มองว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบที่ดี พัฒนาจากจุดเริ่มต้นได้ดี โดยเฉพาะเมื่อมีผู้แทนภาคประชาชนเข้าไปร่วม แต่อยากให้มีสัดส่วนตัวแทนผู้ใช้บริการเข้าไปมากขึ้น ตอนที่เริ่มขึ้นในร่างเดิมที่ภาคประชาชนเสนอ 9 ด้าน แต่ได้ตัวแทนเข้าไปเพียง 5 ด้าน

ทั้งนี้ อยากเห็นระบบหลักประกันสุขภาพระบบเดียว หมายความว่าควรมีการรวมกองทุนด้านการรักษาพยาบาลเข้าด้วยกัน คือกองทุนประกันสังคม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ควรเข้ามาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อความก้าวหน้าของระบบสุขภาพ ทำให้ประชาชนทั้งประเทศอยู่ในระบบเดียวกัน โดยเชื่อว่ามีผลดีหลายอย่าง ทั้งการช่วยกันพัฒนาระบบให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้เกิดความเท่าเทียมในด้านการรักษาพยาบาลและประหยัดงบประมาณ ถือเป็นการสร้างความเท่าเทียมในสิทธิ

แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ตัดสิทธิด้านอื่นๆ อยากให้รวมแค่ด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น เพื่อความเท่าเทียม อย่างกองทุนประกันสังคมนั้น ก็ถูกเก็บเบี้ยประกันสังคม ถูกเก็บภาษีเข้าไปในระบบหลักประกันสุขภาพที่ดูแลประชาชนทั้งประเทศด้วย แต่คนที่อยู่ในประกันสังคมไม่สามารถเข้ามาใช้ได้ ดังนั้น ควรเอาส่วนสุขภาพของประกันสังคมมารวมกันในระบบประกันสุขภาพนายจอนกล่าว และมองว่าสิทธิประโยชน์ในบัตรทองบางส่วนดีกว่าประกันสังคม และบางส่วนประกันสังคมต้องมาเพิ่มภายหลังบัตรทอง แต่สิ่งที่คนในบัตรทองอาจจะเสียดายคือ มีโรงพยาบาลเอกชนให้บริการประกันสังคม แต่ไม่ได้ให้บริการกับบัตรทอง ก็อาจต้องมีการแก้ไข ซึ่งในความเห็น โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งในประเทศควรมีข้อกำหนดว่า ควรแบ่งเตียงและให้บริการส่วนหนึ่งกับบัตรทองด้วย

นายจอนกล่าวว่า หากมองในประเทศอื่นจะพบว่าโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นลักษณะมูลนิธิ แต่โรงพยาบาลเอกชนในไทยกลับแสวงหากำไร และดึงทรัพยากรต่างๆ จากรัฐไปจำนวนมาก โดยเฉพาะบุคลากรที่จบการศึกษาจากสถานศึกษาของรัฐ ความจริงบุคลากรของเอกชนควรมาจากโรงเรียนแพทย์ของเอกชนเอง และคนที่ศึกษาในสถานศึกษาของรัฐทั้งแพทย์และพยาบาล ควรทำงานให้รัฐในระยะยาว และหากจะออกไปทำงานในภาคเอกชน ควรมีค่าปรับที่คุ้มค่ากับการลงทุนของรัฐในการให้การศึกษา ดังนั้น มองว่าควรมีกฎหมายกำหนดโควต้าส่วนหนึ่งของเตียงและคนไข้ในโรงพยาบาลเอกชนให้รับคนไข้ในระบบหลักประกันสุขภาพ อาจเป็นร้อยละ 25 นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ไปทำงานเอกชนเพราะค่าตอบแทน จึงมองว่าควรมีการเพิ่มค่าตอบแทนให้แพทย์และพยาบาลเพื่อลดช่องว่างระหว่างรัฐกับเอกชน แต่จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของระบบหลักประกันสุขภาพแพงขึ้น หากจะรวมกองทุนการรักษาพยาบาลในไทยและดึงโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาร่วมรักษาในระบบบัตรทองนั้น จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในกลุ่มโรคราคาแพงให้สูงขึ้น เพื่อให้เอกชนอยู่ได้แต่รัฐก็ต้องจ่ายได้ด้วย

ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นบริการของรัฐสำหรับทุกคนในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อให้ระบบพัฒนาได้ต่อไปก็ต้องปรับเปลี่ยนระบบการเก็บภาษี อาจมองในเรื่องการเก็บภาษีพิเศษเพื่อเข้าระบบหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะ เพราะหากมีการรวมกองทุนแล้ว การเพิ่มอัตราการเก็บภาษีเพื่อนำไปใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพจากผู้ที่พอจะจ่ายได้ ก็ถือว่าไม่สร้างภาระให้ประชาชนรายได้น้อย แต่ถ้าร่วมจ่าย ถือเป็นการสร้างภาระให้ผู้มีรายได้ต่ำนายจอนกล่าว และว่าหากจะรวมกองทุนด้านสุขภาพของประเทศไทย จะต้องมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาให้มีความเท่าเทียม มีระบบการจัดซื้อยาระบบเดียวทั่วประเทศ และต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย

หากมีนโยบายและแผนดำเนินงานชัดเจน เชื่อว่าภายใน 5 ปี จะมีการรวมกองทุนเข้าด้วยกันได้ อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะดำเนินการหรือไม่


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อ 16 กรกฎาคม 2559 ในชื่อ: เพิ่มงบดูแลสุขภาพ สร้างความมั่นใจคุณภาพ-บริการ