ที่ผ่านมาในรัฐบาลชุดนี้ ได้เตรียมความพร้อมในหลายๆ เรื่องเพื่อรับมือกับการที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย กล่าวคือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 1 ใน 5 ของประชากร หรือในสัดส่วนถึง 20% ในอีก 8-9 ปีข้างหน้านี้ หนึ่งในหลายๆมาตรการ ได้แก่ การจัดตั้ง กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หลังผ่านกฎหมายในรัฐบาลอภิสิทธิ์,การให้หักลดหย่อนบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนราย รายละ 3 หมื่นบาท เพื่อส่งเสริมให้คนมีบุตร และที่อยู่ระหว่างพิจารณา อาทิ มาตรการภาษีจูงใจให้เอกชนจ้างงานผู้สูงวัย โดยให้หักลดหย่อนได้ 2 เท่า, การขยายอายุเกษียณของข้าราชการ ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช.
“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ต่อนโยบายและมาตรการดังกล่าว
แนะใช้กลไก “สำรองเลี้ยงชีพ”
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย คนที่อยู่ในวัยทำงานจึงต้องเตรียมตัว อย่างที่เราพบปัญหาในปัจจุบันคือ 38% ของผู้สูงวัยยังต้องพึ่งเงินลูกหลาน แสดงว่าวินัยการออมของคนไทยค่อนข้างมีปัญหา และในอนาคตคนเป็นโสดจะมากขึ้น ลูกหลานน้อยลง การจะไปหวังพึ่งก็จะลำบาก ดังนั้นการบังคับออมเพื่อให้เตรียมตัวเองไปสู่อนาคตจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นเรื่องดีที่ครม.ได้ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.จัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ หรือกบช.
อย่างไรก็ดีนโยบายและวิธีการจัดตั้งกบช. ที่ตนไม่เห็นด้วยคือการที่ภาครัฐต้องการให้จัดตั้งกองทุนใหม่ และบังคับให้ออมเข้าในกองทุนใหม่นี้ ตนมองว่าไม่จำเป็นเพราะสามารถทำได้อยู่แล้วโดยผ่านกลไกเดิมที่มีอยู่คือ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ที่บริษัทเอกชนดำเนินการอยู่ เพราะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพียงแต่ว่าแทนที่จะเป็นภาคสมัครใจก็ให้เป็น “ภาคบังคับ” แทน อีกทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันก็ถูกควบคุมโดยก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์) คือมีกลไกมอนิเตอร์อยู่แล้ว ส่วนผู้ที่จะออมโดยสมัครใจก็มีช่องทางโดยผ่าน RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) และ LTF (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว)
เอกชนบริหารกบช.ให้ผลดีกว่า
“การให้บริษัทเอกชนจัดตั้งและบริหารเอง การทำงานจะเกิดการแข่งขัน มีประสิทธิภาพให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า อีกทั้งยังประหยัดต้นทุน เพราะไม่ต้องไปแยกไปใส่ในกองใหม่ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าบริหารจัดการเพิ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลย เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่ก็ทำหน้าที่ได้อยู่แล้วเพียงแต่เปลี่ยนให้เป็นการออมภาคบังคับแทน” ดร.วรวรรณ กล่าว
บทบาทของภาครัฐควรอยู่ในรูปของ “คณะกรรมการบำนาญแห่งชาติ” โดยมีหน้าที่ดูภาพรวมของกองทุนการออมทั้งระบบ (ประกอบด้วย กอช, กบช.,กบข. (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ), และสปส.หรือสำนักงานประกันสังคม) โดยดูในเชิงนโยบายของการออมทุกระบบ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของการตั้งกองทุนหรือไปเป็นผู้เล่นในตลาดเสียเอง ในขณะที่ผู้บริหารในแต่ละกองทุนการออมก็อาจเข้าเป็นกรรมการ
โดยยกตัวอย่างในเรื่องระบบข้อมูลทะเบียน ซึ่งควรทำเป็นระบบที่มีความเชื่อมโยง, สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าสมาชิกอยู่กองไหน แทนที่แต่ละกองจะทำกันเอง
น.ร.-น.ศ.ออมกอช.ต่ำ
ดร.วรวรรณ ยังกล่าวถึงการติดตามผลดำเนินงานของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ว่าต้องยอมรับว่าการทำงานของกอช.ช่วงแรกค่อนข้างยาก และเป็นความท้าทายผู้บริหารกอช. 3 เรื่องยากคือ
1. จะทำให้คนมาเริ่มออมได้อย่างไร เพราะเป็นภาคสมัครใจ
2. จะบริหารอย่างไรให้สมาชิกที่ออมแล้วมีความต่อเนื่อง
และ 3. ออมแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ถอนเงินออก ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ากอช.จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับงานประ ชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนมาเริ่มออม และเนื่องจากผู้ออมในกอช.มีหลากหลาย ดังนั้นแต่ละช่วงอายุก็ต้องใช้วิธีการและการตลาดที่แตกต่างกันไป
โดยจะเห็นว่าสมาชิกกอช.ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เพราะภาครัฐใช้ยาแรงในการจูงใจ โดยสมทบให้ 100% ขณะที่กลุ่มอายุน้อยกว่า สมทบที่ 50% และ 80 % ตามช่วงอายุ หรือกรณีที่เป็นนักเรียน /นักศึกษา กลับยังออมได้ต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะสมาชิกกลุ่มนี้ยังไม่มีรายได้ ต้องใช้เงินจากผู้ปกครอง ดังนั้นการกระตุ้นการออมจึงต้องผ่านผู้ปกครอง แต่จะทำอย่างไร ผู้ปกครองได้รับรู้ข่าวสารกอช.และยินดีเอาเงินให้ลูกหลานออม ซึ่งนักเรียน/นักศึกษาทั่วประเทศมีหลายสิบล้านคน ถ้าสามารถสร้างวินัยการออมตั้งแต่เด็กได้ก็จะดีกว่า โดยอาจตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนมาออมเงินง่ายเหมือนกับการไปเติมเงินโทรศัพท์มือถือ ทุกวันนี้การไปสมัครสมาชิกกอช. ต้องไปที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือธ.ก.ส.และต้องเป็นเวลาราชการซึ่งไม่แน่ใจว่าได้ขยายเปิดนอกเวลาทำการหรือยัง
“ต้องมาพิจารณาว่าอุปสรรคของกอช. ติดขัดในเรื่องใด ทรัพยากรหรือมีงบประมาณจำกัด ส่วนนี้ถือเป็นบทบาทของคกก.บำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่จะเป็นตัวกลางช่วยเรื่องนี้ หรือการที่คลังควรมาเป็นเจ้าภาพ เจรจากับกองทุนอื่นๆ ให้เกิดการประสานในเรื่องของระบบทะเบียน เช่นในช่วง 2-3 ปีแรกอาจไปร่วมใช้กับกบข. โดยที่กอช.ยอมจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ แทนที่จะไปลงทุนคอมพิวเตอร์แพงๆ เอง ในขณะที่สมาชิกยังมีระดับกว่า 4 แสนราย”
มาตรการภาษียังไม่ตรงจุด
ดร.วรวรรณ ยังสะท้อนมุมมองถึงการทำงานของรัฐบาล ในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ว่าต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้แอกทีฟ แต่ในบางนโยบาย/มาตรการอาจไม่ให้ผลได้มากอย่างที่คิด เช่นการให้หักลดหย่อนภาษีบุตรได้โดยไม่จำกัดจำนวนรายๆ ละไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งในทางปฏิบัติอาจไม่ได้จูงใจให้คนอยากมีลูกมาก เพราะเงินที่ได้ยังน้อยกว่าต้นทุนการเลี้ยงลูก
เช่นเดียวกับสิทธิประโยชน์จูงใจด้านภาษี โดยให้บริษัทเอกชนนำมาหักลดหย่อนได้ 2 เท่า เพื่อให้เกิดการจ้างงานในผู้สูงวัย ก็ไม่แน่ใจว่าจะให้ผลแรงหรือไม่ เพราะภาคเอกชนจะมองประเด็นเรื่อง “ประสิทธิภาพ”เป็นหลัก ต้องชั่งน้ำหนักว่าคุ้มไหมที่จะจ้างผู้สูงอายุท่านนั้นต่อ และแม้ปัจจุบันจะไม่ได้ลดหย่อนภาษีให้หากผู้สูงอายุรายนั้นมีความสามารถเหมาะสมกับงานนั้นๆ จริงก็มีการจ้างงานต่ออยู่แล้ว การให้สิทธิพิเศษทางภาษีจึงไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าจะเกิดการจ้างงานต่อ ในทางกลับกันการรับผู้สูงอายุที่ไม่มีประสิทธิภาพเข้าทำงาน ก็อาจทำให้วัฒนธรรมองค์กรเสียไปด้วย
หนุนขยายเกษียณขรก.บางราย
ส่วนการพิจารณาขยายอายุเกษียณข้าราชการจาก 60 ปี แม้จะเห็นด้วยว่าต้องขยาย แต่ไม่ใช่ว่าข้าราชการเกษียณทุกคนจะได้ โดยเป็นหน้าที่ของภาครัฐต้องหาวิธีการที่จะจูงใจให้เฉพาะคนที่ตั้งใจทำงาน มีประสิทธิภาพจะทำงานต่อเท่านั้น ในขณะที่ภาคเอกชนที่อยู่ในระบบของประกันสังคม ก็ควรจะขยายการได้รับบำเหน็จบำนาญเป็น 60 ปี หรือค่อยๆเพิ่ม โดยอาจยืดอายุเฉลี่ยของประชากร เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ค่อยๆ ปรับเป็น 62 ปี, 65 ปี และ 67 ปี แทนที่จะรับกันเมื่ออายุ 55 ปีเช่นในปัจจุบัน
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ในชื่อ: ผ่ามุมมองมาตรการรับมือสังคมผู้สูงวัยผ่าน’ดร.วรวรรณ’ที่ปรึกษาฯทีดีอาร์ไอ เมื่อ 24 สิงหาคม 2559