เสนอปรับปรุงแผนจัดการน้ำท่วมควบคุมผังเมือง-การใช้ที่ดิน

ปี2016-11-20

ขณะที่รัฐบาลกำลังระดมนักวิชาการ ผู้มีประสบการณ์ด้านน้ำมาเสนอแนะและปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ 12 ปี ให้มีความสมบูรณ์ในการป้องกันปัญหาน้ำรอบด้าน และเร่งรัดโครงการระยะยาวให้มีความรวดเร็วขึ้น โดยกำหนดจะเรียกประชุมเพื่อดูความคืบหน้าของแผนจัดการน้ำอีกครั้งภายในต้นเดือนมกราคม 2560

สถานการณ์น้ำในวันนี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น พื้นที่โดนน้ำท่วมประจำถี่ขึ้น ในเมืองกรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดต่างๆ ก็ท่วมรุนแรงขึ้นทุกปี กลายเป็นปัญหาซ้ำซากสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างหนัก ปัญหาผูกโยงกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำ และปัญหาการขยายตัวของเมืองเข้าไปในพื้นที่ลุ่มกักเก็บน้ำ

ส่งผลให้นักวิชาการและภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวหาแนวทางจัดการการใช้ที่ดินในเมืองเพื่อแก้ไขน้ำท่วม พร้อมชี้ช่องแก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหัวเรือใหญ่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กำลังขับเคลื่อนแนวคิด “เมืองกับการจัดการน้ำ” แนวทางที่สนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านผังเมือง และสร้างหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินใหม่เพื่อพัฒนาสู่เมืองน่าอยู่ผ่านเวทีประชุมระดมความคิดเห็นเมื่อวันก่อน จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

NRE_Seminar-9

ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ปัญหาการใช้ที่ดินเป็นสาเหตุสำคัญของน้ำท่วมเมืองและถนนหนทางต่างๆ เพราะมีจำนวนอาคารและบ้านเรือนเพิ่มขึ้นจนไม่มีที่ให้น้ำอยู่ ไม่มีแหล่งรับน้ำ น้ำฝนต้องระบายลงท่อระบายน้ำอย่างเดียว แถมถนนที่ก่อสร้างก็ขวางทางน้ำ นอกจากน้ำท่วมยังเกิดปัญหาน้ำเสียที่ไม่มีการบำบัด ในช่วงน้ำท่วม สูญเสียทรัพยากรน้ำที่มีค่า ภายหลังวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มีการปรับตัว แต่เน้นสิ่งก่อสร้างและต่างคนต่างทำ ครัวเรือนดีดบ้าน ถมดิน สร้างกำแพง นิคมอุตสาหกรรมก็ทำกำแพงยักษ์ มีการซื้อประกัน ย้ายโรงงาน ซึ่งถ้าหันมาดูชุมชนว่ามีมาตรการแก้ปัญหาน้ำท่วมแค่ไหนก็พบว่าทำกันแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งเมืองและเทศบาลพากันยกถนนสูงขึ้น สร้างคันป้องกันน้ำท่วม ลดพื้นที่น้ำไหล ขุดลอกคลอง ส่วนรัฐบาลสร้างพื้นที่แก้มลิงรับน้ำ ฟลัดเวย์ และถนนวงแหวนรอบ 3

อีกวิธีแก้น้ำท่วมของรัฐคือ สร้างแนวคันกั้นน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มไปหมด สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ทำให้ถ้าเกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้น ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาว กำแพงยักษ์ริมแม่น้ำทำให้น้ำยกตัวไหลเร็วและแรงขึ้น อีกทั้งคันกั้นน้ำใหม่ยังรุกล้ำคลองทั้งสองฝั่งอีกด้วย

ในการวิจัยล่าสุดของทีดีอาร์ไอ ดร.นิพนธ์ระบุว่า การวิจัยพบว่ารัฐละเลยการปรับเปลี่ยน พัฒนาสถาบันด้านการจัดการน้ำและควบคุมการใช้ที่ดินในทุกระดับการปกครอง สถาบันในที่นี้หมายถึง กฎหมาย กฎเกณฑ์ และกระบวนการใช้ที่ดิน อปท.ขาดอิสระตัดสินใจ ขาดอำนาจ บางแห่งมีปัญหาธรรมาภิบาล

“ปัญหาหลังน้ำท่วมใหญ่โครงการก่อสร้างเป็นประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม แต่เกิดภาระกับผู้อยู่นอกคันกั้นน้ำ คนเมืองได้ประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์ยากจน ขาดระบบการชดเชยที่เก็บภาษีจากผู้ได้ประโยชน์ งบก่อสร้างจึงมาจากประชาชนทุกคน พบว่าโครงการใหญ่มีผลกระทบต่อนิเวศน้ำและสิ่งแวดล้อม จะต้องปรับกระบวนการอีไอเอให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการควบคุมการใช้ที่ดินขนาดใหญ่ในเมืองและชานเมือง เช่น หมู่บ้านจัดสรร คอนโดฯ ศูนย์การค้า ขาดแนวคิดการลิดรอนสิทธิ์ จะใช้แนวคิดผังเมืองแบบดั้งเดิมไม่พอ” ดร.นิพนธ์ชี้ปัญหา

สำหรับแนวทางการควบคุมการพัฒนาการใช้ที่ดินระยะยาว นักวิชาการทีดีอาร์ไอย้ำต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านผังเมือง มีกฎหมายและเครื่องมือใหม่ๆ ที่เน้นปัจจัยที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง เช่น ภาษีที่ดิน การชดเชยที่เป็นธรรม เปิดกระบวนการที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจริงจัง นอกจากนี้ ต้องพัฒนาแบบบูรณาการทั้งระบบ ตั้งแต่ปรับปรุงระบบจัดการน้ำ ป้องกันน้ำท่วม นำน้ำฝนมาใช้ประโยชน์ป้องกันสิ่งแวดล้อม การออกแบบใช้ที่ดินสอดคล้องกับธรรมชาติของน้ำ

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ แนวคิดเรื่องเมืองฟองน้ำ ที่กำลังตื่นตัวในประเทศตะวันตกและจีน โดยเฉพาะจีน เมืองที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและเกิดน้ำท่วมรุนแรง มี 6 กิจกรรมการพัฒนา คือ ใช้วิธีคิดแบบบูรณาการทั้งระบบ พัฒนากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เหมาะกับแต่ละท้องที่ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองกับหน่วยราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ค้นหานวัตกรรมในการระดมทรัพยากรการเงินสำหรับเมือง ออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ภูมิศาสตร์แต่ละพื้นที่ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติกับเมืองในต่างประเทศ

ด้าน อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายปัญหา พบการพัฒนาเมืองในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมมาก ทั้งโครงการของรัฐและเอกชน เมืองขยายในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นทางระบายน้ำ ทั้งแม่น้ำลำคลอง ฟลัดเวย์ มีการถมที่ดินที่ทำให้น้ำไปท่วมบ้านคนอื่น การสร้างกำแพงป้องน้ำท่วมที่ดินตนเอง แต่ผู้อื่นได้รับผลกระทบ เห็นว่าประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดการน้ำท่วมระยะกลางและระยะยาวขึ้นอยู่กับการวางแผนใช้ที่ดินในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและการสูญเสียจากน้ำท่วม โดยต้องปรับรูปแบบและความหนาแน่นการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของน้ำท่วม การปรับตัวไม่ใช่แค่ดีดบ้าน ถมที่ให้สูง ตัวเองรอด แต่เพื่อนบ้านไม่รอด

“นโยบาย แผน โครงการจัดการน้ำเน้นก่อสร้าง ให้ความสำคัญน้อยมากกับเรื่องการใช้ที่ดินและปรับเปลี่ยนกฎกติกา โดยเฉพาะกติการะดับประเทศ แทบไม่เห็นนโยบายใช้ที่ดินบูรณาการกับการจัดการน้ำ สนช.พยายามจะออกนโยบายการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีกลไกบังคับใช้ แต่ปัจจุบันยังเป็นวุ้นอยู่ แม้จะมีการวางผังภาคโดยกรมโยธาธิการฯ แต่ติดขัดข้อกฎหมายและขอบเขตอำนาจผังเมืองเองไม่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ทั้งที่การวางแผนภาคต้องข้ามเขตการปกครอง ขาดกลไกประสานข้ามจังหวัด” อภิวัฒน์กล่าว

ส่วนข้อเสนอนั้น นักวิชาการด้านออกแบบและพัฒนาเมืองกล่าวว่า ต้องควบคุมความหนาแน่นการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะในแถบชานเมืองและพื้นที่เสี่ยงภัย การพัฒนามาตรการด้านผังเมืองที่เอื้อต่อการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ประสานประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น การโอนสิทธิการพัฒนาสำหรับพื้นที่ฟลัดเวย์ เชื่อมระบบโซนนิ่งกับระบบภาษีทรัพย์สินนำรายได้ไปใช้สร้างความเป็นธรรมพื้นที่น้ำท่วมกับพื้นที่น้ำไม่ท่วม

ในทัศนะ รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิชาการด้านวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า น้ำท่วมมักไม่สร้างปัญหาให้กับภาคชนบท แต่จะเป็นปัญหากับภาคเมืองเป็นหลัก พื้นที่เกษตรกรรมน้ำท่วมมีคุณค่าช่วยเสริมธาตุอาหารในดินให้อุดมสมบูรณ์  ลดใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยตัดตอนการแพร่กระจายศัตรูพืช เช่น หนูนา แมลง หลังน้ำท่วมใหญ่ จ.นครปฐม ยกระดับถนนกลายเป็นคันป้องกันน้ำท่วมไปในตัว ได้รับข้อมูลจากเกษตรกรว่า พื้นที่น้ำไม่ท่วมต้องใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น เพราะดินขาดความสมบูรณ์ แถมมีศัตรูพืชตลอดปี

NRE_Seminar-2

นักวิชาการทีดีอาร์ไอบอกว่า แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เมืองควรมีการรวมศูนย์เพื่อกำหนดเขตพื้นที่ป้องน้ำท่วมร่วมกัน ไม่ควรให้ กทม.กำหนดฝ่ายเดียว ภาพน้ำท่วมปี 54 ยังคลางแคลงใจ ทำไม กทม.ไม่ท่วม แต่ จ.นนทบุรีและปทุมธานีท่วมได้ นอกจากนี้ ควรรวมศูนย์กำหนดระดับความสูงของฝายกั้นน้ำ ไม่ควรให้แต่ละจังหวัดกำหนดความสูงเอง กรณีพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาหรือแม่น้ำปิงเป็นแบบต่างคนต่างทำ ขึ้นกับงบประมาณจังหวัด แก้ปัญหาแบบผลักภาระ ไร้ประสิทธิภาพ

“ความสูงของพนังกั้นน้ำเจ้าพระยาควรสูงกี่เมตร ถ้าน้ำมามากกว่านั้นใช้โหมดเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ต้องมีความเท่าเทียมและเป็นธรรม ส่วนการกระจายอำนาจมาใช้เรื่องให้ข่าวสารประชาชนเพื่อให้แต่ละพื้นที่อพยพชาวบ้านได้ทันเวลา รวมถึงให้แต่ละพื้นที่หาแนวทางอยู่ร่วมกับน้ำ” รศ.ดร.อดิศร์ ย้ำ

กรณีกำหนดเขตพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม นักวิชาการผู้นี้กล่าวทิ้งท้ายว่า ควรประกาศและกำหนดเขตพื้นที่รับน้ำและพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมให้ชัดเจน กำหนดวันเวลาที่จะปล่อยน้ำให้ชัดเจน อาจมีการเก็บภาษีน้ำท่วมจากประชาชนที่อาศัยในเขตป้องกันน้ำท่วม นำเงินไปจ่ายชดเชยพื้นที่ถูกใช้เป็นที่รับน้ำ การดำเนินเช่นนี้ต้องทำโดยรัฐบาล เพราะต้องมีการถ่ายโอนเงินข้ามเขตจังหวัด ลำพังการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถทำได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐควรทบทวนแผนจัดการน้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคมไทยว่าจะมีความเป็นธรรมและไม่สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรก ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2559 ในชื่อ จี้รัฐปรับปรุงแผนจัดการน้ำท่วมควบคุมผังเมือง-การใช้ที่ดิน