การวิเคราะห์ประสิทธิผลของการให้บริการการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง: กรณีศึกษาจังหวัดอุดรธานี

จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งผลการประเมินภาวะสุขภาพร่างกาย พบว่าประมาณร้อยละ 16 ของผู้สูงอายุ มีสุขภาพไม่ดีและประสบปัญหาในการช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การกินอาหาร การใส่เสื้อผ้า การอาบน้ำ เห็นได้ชัดว่าพออายุมากขึ้นเราจะมีสุขภาวะที่ถดถอยและความสามารถในการดูแลตัวเองลดลง

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการนำ ระบบการดูแลระยะยาวที่บ้าน หรือ long-term care (โครงการ LTC) มาใช้ในพื้นที่นำร่องของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อส่งเสริมการให้บริการดูแลระยะยาวแก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ การกำหนดรูปแบบ/แนวทางที่ชัดเจนในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน มีการติดตามผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่สามารถสนับสนุนให้เกิดระบบบริการดูแลระยะยาวแก่ผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงและยังทำให้เกิดการมีส่วนร่วมต่างๆในการดำเนินการทั้งภาาครัฐ ภาคท้องถิ่น และภาคชุมชน

ซึ่งผลการเก็บข้อมูลจาก โครงการ LTC พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้มากขึ้น มีสุขภาพดีขึ้นทั้งกายและใจ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการติดตามและวิเคราะห์การดำเนินงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้เกิดการพัฒนาการดำเนินงานและส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

อ่านเพิ่มเติมได้ใน รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการการวิเคราะห์ประสิทธิผลของการให้บริการการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง: กรณีศึกษาจังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้รับการอนุญาตจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการเผยแพร่งานวิจัย

Download