ตรวจการบ้านมาตรการไฟฟ้าฟรีช่วยคนจน

ภวินทร์ เตวียนันท์

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามใช้นโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยด้วยการอุดหนุนบริการและสาธารณูปโภคพื้นฐาน

โดยหนึ่งในนโยบายที่ภาครัฐใช้ช่วยเหลือ คือ “มาตรการไฟฟ้าฟรี” ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551ในรูปแบบของมาตรการชั่วคราว เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และ กลายเป็นมาตรการถาวรเมื่อกลางปี พ.ศ. 2554 โดยช่วงแรกมีเงื่อนไขว่าหากมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยจะได้รับการยกเว้น ค่าไฟฟ้าทั้งหมด

แต่เพื่อป้องกันการรั่วไหลและป้องกัน มิให้ผู้บริโภคกลุ่มอื่นต้องรับภาระในการชดเชยจนเกินไป ภาครัฐจึงได้มีการปรับหลักเกณฑ์ ในการอุดหนุนหลายครั้ง โดยในปัจจุบันมาตรการดังกล่าวจะให้สิทธิไฟฟ้าฟรีแก่ ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยติดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปเท่านั้น

ทีดีอาร์ไอ ได้ทำการประเมินผลสำเร็จของมาตรการไฟฟ้าฟรีใน 5 ด้าน เพื่อพิจารณาว่า มาตรการที่ผ่านมาได้ช่วยลดภาระของครัวเรือน ได้อย่างครอบคลุม และตรงกลุ่มเป้าหมายหรือไม่

ด้านการเข้าถึงสิทธิ พบว่านโยบายไฟฟ้าฟรีเข้าถึงคนจนได้ดี เมื่อดูเป็นเชิงพื้นที่รายจังหวัด พบว่าจังหวัดใดที่มีครัวเรือนยากจนมาก ก็ยิ่งมีผู้ที่ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรีมากตามไปด้วย และการได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี สามารถลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนได้เฉลี่ย 2% ต่อเดือน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีครัวเรือนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับสิทธินี้ ได้แก่ ครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และผู้อาศัยในห้องเช่าหรือเพิงพักชั่วคราวที่ไม่ได้เป็นเจ้าของมิเตอร์ ซึ่งกลุ่มหลังนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ด้านการรั่วไหลของสิทธิ เนื่องจากเกณฑ์ การได้สิทธิไฟฟ้าฟรีขึ้นกับขนาดของมิเตอร์และปริมาณการใช้ไฟฟ้ารายเดือนเท่านั้น ทำให้มีโอกาสเกิดการรั่วไหลของสิทธิไปยัง กลุ่มที่ไม่ใช่คนยากจนจริง โดยเฉพาะกลุ่มคนไม่จนที่มีบ้านหลังที่ 2 ซึ่งมีโอกาสได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรีในเดือนที่ไม่ได้เข้าพัก

จากการวิเคราะห์พบว่าภาระอุดหนุนครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 50 หน่วย แต่ไม่ติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งอาจเป็นครัวเรือน หลังที่ 2 สูงถึง 830 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2557

ด้านความพอเพียงและความเท่าเทียมของสิทธิ การศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2559 ระบุว่าครัวเรือน ที่มีสมาชิกเฉลี่ย 2.4 คน มีความต้องการไฟฟ้า เฉลี่ยประมาณ 60 หน่วยต่อเดือน ขณะที่ข้อมูล จากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี พ.ศ. 2558 พบว่าครัวเรือนยากจน ในไทยมีขนาดเฉลี่ย 3.5 คน จึงบ่งชี้ว่าสิทธิไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยต่อมิเตอร์ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอและไม่เป็นธรรมกลับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นครัวเรือนขนาดกลางและใหญ่

ด้านพฤติกรรมใช้ไฟ จากข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายมิเตอร์ของครัวเรือน ในช่วงปี พ.ศ. 2555 – 2558 พบว่าเกณฑ์การให้สิทธิ ไฟฟ้าฟรี จูงใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า โดยผู้ที่ปกติ ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 50 หน่วย จะใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เล็กน้อย เพราะไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าตราบใด ที่ยังใช้ต่ำกว่า 50 หน่วย ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าอีกส่วนหนึ่งซึ่งปกติใช้สูงกว่า 50 หน่วย จะพยายามลดการใช้ไฟฟ้าลงให้ต่ำกว่า 50 หน่วยเพื่อให้ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี ซึ่งการ บิดเบือนพฤติกรรมทั้ 2 ประเภทนี้ ส่งผลให้ ภาระในการอุดหนุนนโยบายเพิ่มสูงขึ้น

ด้านภาระการอุดหนุน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลได้เปลี่ยนรูปแบบการอุดหนุนมาตรการไฟฟ้าฟรี มาเป็นการอุดหนุนแบบไขว้ โดยกระจายภาระการอุดหนุนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ที่เป็นกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ องค์กร ไม่แสวงหาผลกำไร ธุรกิจเฉพาะอย่าง และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว ที่แม้จะมีการปรับนโยบาย เพื่อลดภาระการอุดหนุนลงเรื่อย ๆ จนอยู่ที่2.58 สตางค์ต่อหน่วย โดยภาระเงินอุดหนุนดังกล่าวก็ยังทำให้ต้นทุนการผลิตของกิจการขนาดกลาง-ใหญ่ เพิ่มขึ้น 0.87% ต่อหน่วยไฟฟ้าเมื่อเทียบกับ กรณีไม่อุดหนุน ซึ่งเมื่อคูณด้วยหน่วยไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า 2 ประเภทนี้แล้ว คิดเป็นเงิน ไม่น้อย และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถ ในการแข่งขันได้

เห็นได้ว่านโยบายไฟฟ้าฟรี แม้จะช่วย ลดภาระของครัวเรือนได้ในระดับหนึ่ง แต่การกำหนดสิทธิไฟฟ้าฟรีจากข้อมูลขนาดมิเตอร์และจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละเดือนเท่านั้น นอกจากจะกีดกันคนจนบางกลุ่มให้เข้าไม่ถึงสิทธิ และก่อให้เกิดการ รั่วไหลของสิทธิไปยังครัวเรือนที่ไม่จนแล้ว ยังจูงใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบิดเบือนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย

ปัญหานี้จะทุเลาลง หากรัฐบาลสามารถระบุตัวคนจนหรือครัวเรือนยากจนได้แม่นยำ และอุดหนุนค่าไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภคอื่น ๆ ด้วยวิธีเหมาจ่ายแทนการอิงจากระดับ การใช้ไฟฟ้า ซึ่งมาตรการช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อยผ่านการลงทะเบียนคนจน ถือว่าเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะมุ่งเน้น การระบุตัวคนจนที่แท้จริง และเกณฑ์การช่วยเหลือไม่ได้ขึ้นกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภคนั้นๆ

แต่การจะดำเนินมาตรการช่วยเหลือคนจนให้สัมฤทธิ์ผล ภาครัฐควรคำนึงถึง ปัจจัยสำคัญ ประการแรก คือ การระบุตัวคนจน ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ มากที่สุด โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและ ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ เช่น ฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำประปา การเสียภาษี ทะเบียนบ้าน ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อใช้ในการตรวจสอบสถานะและระบุตำแหน่งคนจน และประการที่ 2 คือ การกำหนดระดับ สวัสดิการ ต้องพอเพียงสำหรับความต้องการพื้นฐาน และไม่สูงเกินไปจนเป็นภาระต่อประชาชนผู้เสียภาษี


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 24 สิงหาคม 2560