การผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในยุคไทยแลนด์ 4.0

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทุกคนต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่า ประเทศไทยยังมีกลิ่นอายของประเทศที่มีประชากรทำมาหากินในภาคเกษตรอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 11.6 ล้านคน (ลดลงไป 1 ล้านคนใน 10 ปี) แต่สร้างรายได้ให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในปี 2560 ได้เพียง 0.61 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 5.9 ของ GDP โดยรวมเท่านั้น เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ภาคเกษตรจึงไม่ใช่แหล่งรายได้ที่สำคัญ แต่เป็นวัตถุดิบที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

จุดเด่นของภาคเกษตรยังคงเป็นแหล่งอาหารของคนไทยและสามารถทำหน้าที่เป็นครัวโลกได้ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนภาคการเกษตรส่วนใหญ่ร่ำรวยได้ จุดแข็งของภาคเกษตร คือ มีที่ดินมากกว่า 60 ล้านไร่ มีน้ำชลประทานมากกว่า 30 ล้านไร่ มีคนทำงานเกือบ 12 ล้านคน จุดอ่อนของเกษตรกร คือ มากกว่า 8 ล้านคน หรือมากกว่าร้อยละ 70 มีภูมิหลังการศึกษาระดับประถมศึกษา หรือต่ำกว่า อายุเฉลี่ยเกือบ 60 ปี จัดเป็นเกษตรกรผู้สูงอายุ จัดอยู่ในระดับเกษตร 1.0 ที่ยากจะยกระดับด้วยเทคโนโลยี แต่ยังมีเกษตรกรอีกมากกว่า 3 ล้านคน ที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับประถม มีความหวังที่จะพัฒนาให้เป็นเกษตรกร 4.0 (smart farmer) ได้จำนวนหนึ่ง

จุดอ่อนที่ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ คือ เกษตรกรติดกับดักรายได้ต่ำ ไม่แน่นอน และหนี้สินล้นพ้นตัว ถึงแม้จะทำงานหนัก (มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน) แต่ก็ได้เงินน้อยมาก ส่วนมากมีเงินออมน้อย และในที่สุดตกอยู่ในสภาพจนก่อนชราภาพ

ทางออกจึงเหลือไม่มากที่จะพัฒนาเกษตรกร เช่น อาจจะแบ่งเกษตรกร เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก คือ พวกที่ตั้งเป้าไว้เพียงทำอย่างไรให้มีกิน หมดหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น วิธีการก็คือปฏิบัติตามแนวทางรัฐบาล ซึ่งส่งเสริมโดยเน้นการพัฒนาด้วย “ศาสตร์พระราชา” หรือ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผสมผสานกับทฤษฎีใหม่” โดยรัฐบาลอาจจะต้อง set zero เกษตรกรเหล่านี้ก่อน คือ หยุดพักหนี้และดอกเบี้ยอย่างน้อย 5 ปีก่อน เป็นแรงจูงใจให้เข้าโครงการฟื้นชีวิต ซึ่งเชื่อว่าพวกเขาจะมีกินและมีเงินทยอยใช้หนี้และดอกเบี้ยคืนได้ตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป ภายในระยะเวลาอีก 10 ปี ก็น่าจะปลดหนี้ได้เป็นส่วนใหญ่

กลุ่มที่ 2 คือ พวกที่พอมีความรู้ ให้เน้นทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ด้วยการทำการเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการฟาร์มสมัยใหม่ และสนับสนุนให้รวมแปลงให้เป็นเกษตรแปลงใหญ่ ตามแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการมาบ้างแล้ว โจทย์ที่เหลือจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องทุ่มเทให้กลุ่มเกษตรกรทำการผลิตเชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ (เกษตร 4.0) โดยใช้ตลาดนำทาง หากดำเนินการจนประสบผลสำเร็จจะทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถปลดหนี้ มีเงินออมเพื่อคุณภาพชีวิตของครอบครัว สำหรับแรงงานที่ขายแรงงานอยู่ในภาคการเกษตรมากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันได้ค่าแรงค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยประมาณ 5,000 บาท หรือประมาณ 200 บาทต่อวัน ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ก็จะพลอยได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับสาขาบริการ ซึ่งเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดที่มีสัดส่วนใน GDP 6.03 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 58.5 มีแรงงานที่อยู่ในสาขานี้มากกว่าสาขาการเกษตรและอุตสาหกรรม ในต้นปี 2561 มีแรงงานจำนวนประมาณ 17 ล้านคน หรือมากกว่าร้อยละ 45.5 สาขา อาจจะกล่าวได้ว่า สาขาบริการ สามารถดูดซับ กำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปี และแรงงานที่เคลื่อนย้ายมาจากสาขาเกษตร ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน สาขานี้มีระดับการศึกษาตรงกันข้ามกับสาขาเกษตร คือ มีผู้จบระดับสูงกว่าระดับประถมศึกษา ประมาณ 12 ล้านคน หรือร้อยละ 70 และเป็นแหล่งรองรับผู้จบปริญญาตรี และปริญญาโท สูงที่สุดเทียบกับทุกสาขาบริการ จำนวน 4.7 ล้านคน หรือร้อยละ 28

โดยสาขาย่อยที่เป็นองค์ประกอบใหญ่ ๆ คือ สาขาขายส่ง ขายปลีก และซ่อมบำรุง มีแรงงานมากกว่า 6 ล้านคน และสาขาโรงแรม ท่องเที่ยว และภัตตาคาร เกือบ 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิหลังการศึกษาค่อนข้างดี น่าจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และบริการ 4.0 ได้ดีในภาพรวม โดยสาขาที่ต้องพึ่งพาสมรรถนะความเป็นไทย (Thainess) บางสาขาบริการที่มีการแข่งขันสูง และมีข้อจำกัดในการสร้างรายได้ ต้องหันมาลดต้นทุนเป็นสำคัญ เช่น สาขาที่เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวกลางทางการเงิน มีคนทำงานมากกว่า 4 แสนคน

การรุกเข้ามาของโลกดิจิทัล เช่น FinTech ทำให้เกิดบริการออนไลน์ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องมีสาขาบริการจำนวนมากใกล้ผู้รับบริการ ไม่จำเป็นและไม่คุ้มทุนอีกต่อไป ทำให้ต้องปิดสาขา ถ้าพนักงานไม่สามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องลาออก อีกสาขาที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงมีคนทำงานเพิ่มขึ้นปีละหมื่นคนต่อเนื่องมานับ 10 ปี มีคนทำงานในปัจจุบันมากกว่า 1.1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นบุคลากรครูและอาจารย์จำนวนมาก ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอน 2 เรื่อง คือ ไม่มีความรู้ที่ทันสมัยเพียงพอที่จะสอนเด็กนักเรียนและนักศึกษาให้ทันยุคทันสมัย (ในศตวรรษที่ 21) อาจจะมีบางส่วนต้องลาออกไป

อีกปัญหาที่ต้องเผชิญคือ ถึงแม้ครูอาจารย์จะปรับตัวได้ดี แต่ไม่มีเด็กนักเรียนนักศึกษาให้สอน เพราะเด็กเข้าเรียนลดลง จากที่เคยเข้าเรียนชั้น ป.1 ไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านคน ปัจจุบันเหลือเพียง 0.7 ล้านคนเศษเท่านั้น ผลต่อเนื่องก็คือจำนวนเด็กต่อชั้นเรียนในระดับ สพฐ. หรือนักศึกษาที่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย บางสาขาวิชามีเด็กลดลง และ/หรือไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนแบบเดิม ๆ แต่ปรับเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ (ในอนาคต) ผลคือปริมาณค่าเล่าเรียนและเงินอุดหนุนมีไม่พอจ่ายเงินเดือนครูอาจารย์ และค่าดูแลอาคารสถานที่ในภาวะการแข่งขันสูง ในที่สุดผู้แพ้ก็ต้องปิดสาขาวิชา และ/หรือต้องปิดสถานศึกษา ยกเลิกการจ้างครู ซึ่งน่าจะเกิดก่อนกับการศึกษาเอกชนที่ปรับตัวเองไม่ได้ในทุกระดับการศึกษา

ส่วนสาขาอุตสาหกรรม ที่เป็นความหวังของประเทศต้องเผชิญการแข่งขันทั้งภายนอกและภายในประเทศ โดยภาพรวมมีความสำคัญต่อประเทศที่มีผลต่อปริมาณ GDP คิดเป็น 3.67 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.6 เน้นเฉพาะสาขาย่อยที่สำคัญที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า GDP 2.82 ล้านล้านบาท ในปี 2560 และมีแรงงานประมาณ 6.3 ล้านคน ในต้นปี 2561 ภูมิหลังการศึกษาระดับล่าง (ม.ต้น หรือต่ำกว่า) ถึง 3.47 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55.2 ระดับกลาง (ปวช. ม.ปลาย ปวส.) จำนวน 1.83 ล้านคน หรือร้อยละ 29.0 และระดับสูง (ป.ตรีขึ้นไป) จำนวน 1 ล้านคน หรือร้อยละ 15.8

อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดเป็นมูลค่าเพิ่มต่อหัว สาขาการผลิตนี้มีค่า 447,619 บาทต่อคนต่อปี เปรียบเทียบกับสาขาบริการ และสาขาเกษตร คือ 354,706 บาท และ 51,758 บาทตามลำดับ การมุ่งเป้าไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับรายได้ โดยภาพรวมจาก 276,300 เป็น 480,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยอาศัยอุตสาหกรรมการผลิต (เน้นไป 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย) จึงเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศที่เป็นไปได้ จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอพบว่า การขยายตัวของผลิตภาพควรเกินร้อยละ 4 หรือ 5 ต่อเนื่องกันนับ 10 ปี จึงจะทำให้ประเทศไทยพ้นกับดักของประเทศกำลังพัฒนาได้

ทางออกของประเทศไทย นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนประเทศไทยด้วยอุตสาหกรรม 4.0 การที่ประเทศไทยจะมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยให้น้ำหนักกับอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งปัจจุบันมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่มากนักที่ได้พัฒนาตัวเองมาถึงอุตสาหกรรม 3.5 การที่มีจำนวนอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถสูงพร้อมที่จะปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจำนวนไม่มาก จึงต้องการแรงงานเลือดใหม่มากกว่าแรงงานเดิมที่มีอยู่ในระบบ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 45 ที่จะพัฒนาผ่านระบบการฝึกอบรมที่เข้มข้น เพื่อให้เป็นแรงงานผลิตภาพสูง

ส่วนของแรงงานรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะสูงพอที่จะทำงานในอนาคตได้ ต้องเป็นแรงงานที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ มีความรอบรู้ โดยผ่านการศึกษาในระบบ STEAM education หรือผ่านการฝึกฝนภายใต้กรอบของ twenty first century skills มาแล้ว สามารถทำงานที่ต้องใช้สมรรถนะด้าน problem solving skills, critical thinking skills, communication skills เป็นต้น เพื่อให้สามารถทำงานสร้างสรรค์ ทำสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ จนเกิดเป็น creative workforce จำนวนมาก และกลายเป็น innovative workforce ในที่สุด

การทำงานในอุตสาหกรรมรุ่นใหม่นี้ มี 2 กลุ่มหลักที่มีความต้องการสูงมาก คือ แรงงานระดับ technicians ที่ผ่านการเรียนรู้จากสถาบันอาชีวศึกษาที่น่าเชื่อถือ ทำงานร่วมกับสถานประกอบการอย่างใกล้ชิด 5 แสนคน ใน 10 ปีข้างหน้า โดยการคัดเลือกจากสถาบันอาชีวศึกษาเกือบ 850 แห่ง ทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ จากนักศึกษาทุกชั้นปีเกือบล้านคน โดยรัฐการันตีว่าเรียนจบแล้วได้งานทำแน่นอน และมีเงินเดือนมากกว่าผู้จบที่ไม่ได้ศึกษาในสถาบันที่รัฐส่งเสริม

อีกกลุ่มคือ ผู้เรียนในระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยเฉพาะสาขา S&T ควรสนับสนุนทุนให้ไปเรียนที่ต่างประเทศ ระหว่างนี้อาจต้องนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาก่อน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้นักวิจัยไทย หรือส่งคนไทยที่จบ ป.โท และ ป.เอก ไปเรียนเพิ่มเติมหลังจบปริญญาเพื่อเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนาประเทศในระยะสั้น 1-3 ปีข้างหน้า ในสาขาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี (SMEs) ที่มีจำนวนมาก ต้องปรับตัวให้ทันกับการปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยเน้นการเพิ่มผลิตภาพเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ความอยู่รอดเกิดจากการบริหารความเสี่ยงที่ดี โดยมีการตัดสินใจอันเกิดจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์จากข้อมูลรอบด้าน (ข้อมูล big data) ทุกขั้นตอน ต้องตื่นตัวและรู้เท่าทันการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ กติกา ตามบรรทัดฐานโลกยุคใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญที่สุด คือ อย่าลืมเรื่องทรัพยากรมนุษย์ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นสาขาการเกษตร บริการ หรืออุตสาหกรรม หากผู้ประกอบการอยู่ในความประมาท ไม่คิดปรับตัวให้รู้เท่าทันโลกยุคใหม่(ภายใต้ digital era) ในที่สุดคงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ผลที่ตามมา ประเทศชาติก็คงไม่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังที่คาดหวังไว้