TEP เปิด “3 ปัญหาเก่า” “2 ความท้าทายใหม่” การศึกษาไทย ชวนภาคการเมืองล้อมวงคุยนโยบายแก้ไข สร้างคนไทยให้ทันโลก

ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลกเวทีเสวนา เสนอ “3 ปัญหาเก่า” “2 ความท้าทายใหม่” การศึกษาไทย เพื่อสร้าง “สัญญาประชาคม” ระหว่างพรรคการเมือง เครือข่ายด้านการศึกษา และประชาชน ในการกำหนดนโยบายแก้ไขการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ ตัวแทนทุกพรรคเห็นพ้อง นโยบายการศึกษาไทยต้องต่อเนื่องหวังผลระยะยาว สร้างการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา และใช้บทเรียนจากการปฏิบัติงานที่ได้ผลมาขยายผล มุ่งพัฒนาคนไทยให้สามารถปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

 

วันที่ 2 ธ.ค. 2561 ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute :TDRI)  จัดเวทีเสวนา “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก”  เวทีเสวนาทางการศึกษาที่ตัวแทนพรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคภูมิใจไทย และ พรรคชาติไทยพัฒนา มาร่วมคิดแก้โจทย์ปัญหาการศึกษาไทย เพื่อหาทางออกเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทประเทศไทยและตอบสนองความต้องการของสังคม

ในช่วงต้นของกิจกรรมเสวนา ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ตัวแทนภาคีเพื่อการศึกษาไทยและประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะมีความพยายามปฏิรูปการศึกษาตลอดช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษาไทยแทบไม่มีพัฒนาการ “3 ปัญหาเรื้อรัง” ยังคงอยู่ ซึ่งประกอบด้วย คุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง และประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากรต่ำ แต่การแก้ปัญหาเรื้อรังเดิมไม่เพียงพอแล้ว สังคมไทยกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง การศึกษาจำเป็นต้องตอบโจทย์อนาคตของคนไทยรุ่นใหม่ซึ่งจะต้องเผชิญกับ “2 ความท้าทายใหม่” อันได้แก่ สภาวะสังคมสูงวัยและยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี (Technology Disruption)  ในขณะที่จำนวนแรงงานที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรผลักดันให้ระบบการศึกษาต้องเร่งสร้างแรงงานทักษะสูง ความเสี่ยงจากการถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้ห้องเรียนไทยควรหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนา “ทักษะ 3H” ซึ่งประกอบด้วย ความละเอียดประสาทสัมผัสและมือ (Hand) ความคิดสร้างสรรค์ (Head) และความฉลาดทางสังคม (Heart)

“3 ปัญหาเก่า” และ “2 ความท้าทายใหม่” คือ ประเด็นการพัฒนาคนที่มีความเร่งด่วนเทียบเท่ากับปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาการเมือง ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มแก้ไขไปพร้อมกันในวันนี้ มิเช่นนั้นการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไทยจะไม่มีทางยั่งยืนได้ในอนาคตเพราะปรับตัวไม่ทันโลก  เพื่อให้นโยบายการศึกษานำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ภาคนโยบายจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการกำหนดและดำเนินนโยบาย  ที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยขาดเสถียรภาพอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการบ่อยครั้ง

โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษามาแล้วกว่า 21 คน ซึ่งทำให้นโยบายเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และเนื่องจากระยะเวลาดำรงตำแหน่งเฉลี่ยต่ำกว่า 1 ปี รัฐมนตรีส่วนใหญ่จึงมักจะเลือกใช้นโยบายที่หวังผลระยะสั้น (quick win) โดยดำเนินโครงการต่างๆ มากกว่าจะปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ดังนั้น เพื่อไม่ให้การดำเนินนโยบายสะดุดก่อนเห็นผล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการควรได้รับโอกาสให้ทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเพียงพอที่จะเห็นผลการดำเนินนโยบายใดนโยบายหนึ่ง

นอกจากปัญหาเรื่องการขาดเสถียรภาพ นโยบายและมาตราการต่างๆ จากหลายรัฐบาลมักถูกกำหนดขึ้นโดยไม่มีการศึกษาข้อมูลทางวิชาการ และขาดการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อประเมินผลว่านโยบายใดได้ผลในการยกระดับการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้น เพื่อเพิ่มคุณภาพของนโยบาย ภาคนโยบายจึงควรหันมาใช้หลักฐานการวิจัยและการปฏิบัติจริงเป็นฐานในการกำหนดนโยบาย รวมถึงยึดหลักการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทดลองนโยบายและสร้างนวัตกรรม การเตรียมความพร้อมของผู้ปฏิบัติทั้งในด้านความรู้ และการรับฟังเสียงสะท้อนกลับ เก็บข้อมูลควบคู่ไปกับการวิจัย โดยโครงการตัวอย่างที่สะท้อนหลักการนี้ได้ดีคือ การสร้าง “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”  และเพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลวที่ผ่านมาจากการกำหนดนโยบายแบบสั่งการบนลงล่าง (top-down) ภาคนโยบายควรรับฟังความคิดเห็นและมีการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและความเข้าใจในหลักการของนโยบายโดยทั่วกัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของการนำนโยบายไปใช้  นอกจากร่วมคิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาคนโยบายควรร่วมทำกับหน่วยงานปฏิบัติการ  ด้วยการกระจายอำนาจการคัดสินใจไปให้ผู้ที่อยู่ใกล้ปัญหา หรือ “หน้างาน” เช่น เขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาได้อย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จในพื้นที่

เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการกำหนดนโยบายแบบ “ร่วมมือ” ภาคีเพื่อการศึกษาไทยจึงจัดงานเสวนานี้ขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดบทสนทนาระหว่างพรรคการเมือง อันจะนำไปสู่ “สัญญาประชาคม” ต่อแนวทางการกำหนดและดำเนินนโยบายการศึกษาในอนาคต

จากการรวบรวมและวิเคราะห์ผล ภาคีเพื่อการศึกษาไทยเสนอว่า การเพิ่มงบประมาณสนับสนุนเป็นข้อเสนอแนะหลักในการยกระดับคุณภาพการศึกษาระดับปฐมวัยและอาชีวศึกษา ส่วนข้อเสนอของการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ การเสริมพลังให้โรงเรียนและบุคลากรสามารถจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนและบริบทพื้นที่ได้ และเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รัฐควรให้ความสนับสนุนผ่านกลไกทางการเงินแบบ demand-side financing และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ต่อเนื่องควรปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อรองรับความต้องการการประกอบสร้างตัวเองใหม่ (reinvent) ที่หลากหลายและเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ในช่วงเวทีสนทนา ตัวแทนพรรคการเมืองจาก 7 พรรคได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อข้อเสนอของภาคีเพื่อการศึกษาไทย ประเด็นสำคัญที่ทุกพรรคเห็นร่วมกัน คือ การกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาลงไปที่ระดับภูมิภาค ระดับท้องถิ่น ระดับโรงเรียน และสร้างความมีส่วนร่วมในทุกระดับ รวมถึงพ่อแม่และชุมชน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียนและสร้างนักเรียนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตได้ นอกจากนี้ ทุกพรรคยังมีความเห็นร่วมกันว่า นโยบายการศึกษาต้องต่อเนื่องโดยใช้บทเรียนจากการปฏิบัติงานที่ได้ผลมาขยายผล และแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี ก็ควรร่วมกันสานต่อนโยบายที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ ตัวแทนพรรคการเมืองยังได้ตอบคำถามจากประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น ตัวแทนเครือข่ายพ่อแม่ เครือข่ายธุรกิจและเครือข่ายคนรุ่นใหม่ และได้นำเสนอแนวคิดนโยบายการศึกษาของพรรค โดย คุณกรณ์ จาติกวณิช จากพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันให้นักเรียนชั้นประถมและมัธยมและสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับบริการได้อย่างทั่วถึง ดร.พะโยม ชิณวงศ์ จากพรรคภูมิใจไทย อยากสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม และสนับสนุนเอกชนในการจัดอาชีวะทวิภาคีเพื่อให้นักเรียนอาชีวะได้มีประสบการณ์ทำงานจริง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ จากพรรคพลังประชารัฐ มุ่งสู่การศึกษาเชิงพื้นที่ เสริมแรงชุมชน และกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) ผ่านโมเดลบวร และใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย มองว่าความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาและองค์กรที่ทำงานด้านการศึกษามีอยู่มากมาย เหลือแต่การลงมือทำ โดยคัดเลือกคนที่ดีที่สุดเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาและดึงองค์กรต่างๆเข้ามาร่วมมือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย เห็นว่าการพัฒนาคนควรเป็นวาระแห่งชาติและเน้นจัดการศึกษาโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง เช่น จัดสรรเงินแก่นักเรียนเพื่อเลือกเรียนหลักสูตรต่างๆ ทั้งในมหาวิทยาลัยและออนไลน์ คุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ จากพรรคอนาคตใหม่ มองว่าระยะสั้น จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนผ่านเมกะโปรเจกต์ด้านการศึกษา และเพิ่มอุปกรณ์ในระดับอาชีวะให้ทันสมัย ระยะกลาง เปลี่ยนการบริหารจัดการภายในกระทรวงศึกษาให้มีประสิทธิภาพและสร้างความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในระยะยาว ควรเพิ่มศักยภาพครูและนักเรียนผ่านการพัฒนาหลักสูตรและเพิ่มคุณภาพการอบรมครู คุณกัญจนา ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงปลอดการเมืองโดยมีรัฐมนตรีคนกลาง ไม่เปลี่ยนคนตามความผกผันทางการเมือง และให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับปฐมวัยซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนามนุษย์

เวทีนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างสัญญาประชาคมระหว่างภาคประชาชนและภาคการเมือง ซึ่งภาคีเพื่อการศึกษาไทยจะดำเนินงานต่อไปอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง ภาคีเพื่อการศึกษาไทยเกิดจากการรวมตัวขององค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายของบุคคลที่มีความสนใจ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาระบบการศึกษาไทยเพื่อพัฒนาคนไทยให้เต็มศักยภาพ ด้วยความเชื่อว่า การศึกษาที่ดีเกิดจากความมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม