ขณะที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ บริษัทยักษ์ใหญ่ และบริษัทด้านดิจิทัลเทคโนโลยี กำลังขะมักเขม้นลงทุนวิจัยเทคโนโลยี การเกษตร สมัยใหม่ เพื่อเตรียมรับ “ยุคปฏิวัติเขียวระลอกที่ 2”
แต่ภาค การเกษตร ของไทยกลับเริ่มอ่อนแอลง เพราะภาครัฐไม่ได้ให้ความสนใจด้านการวิจัยและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่อย่างจริงจัง
เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติเขียวครั้งนี้แตกต่างจากครั้งแรก 2 ประการ
ประการแรก การปฏิวัติเขียวครั้งแรกในทศวรรษ 2510 เป็นการปรับปรุงพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของพืชสำคัญที่ใช้เป็นอาหาร แต่การปรับปรุงพันธุ์ยุคใหม่เป็นการคัดเลือกพันธุ์โดยใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมของพืชและสัตว์ (genome selection)
ในไม่ช้านักวิจัยเกษตรและเกษตรกรจะสามารถปลูกทุเรียนที่ไหนก็ได้ โดยได้รสชาติเหมือนกับปลูกที่นนทบุรี เกษตรกรสามารถปลูกพืชผักต่างๆ ให้มีคุณค่าทางโภชนาการ เราสามารถใช้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้ช่วยผลิตปุ๋ยไนโตรเจน หรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น หรือการใช้เทคโนโลยีที่ระบุลักษณะที่แสดงออกทางพันธุกรรม เพิ่มความต้านทานภัยแล้ง และมีรูปลักษณะและขนาดที่ตลาดต้องการ genome selection จะนำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์แบบแม่นยำ (precision breeding)
การเปลี่ยนแปลงสำคัญประการที่ 2 คือ precision agriculture (หรือ farming 4.0) ที่อาศัยความก้าวหน้าด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ส่งข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งในและนอกฟาร์ม เข้ามาประมวลผล/วิเคราะห์เพื่อพยากรณ์และแก้ปัญหาล่วงหน้าให้เกษตรกร เช่น การพัฒนาเครื่องมือและจักรกลการเกษตรอัตโนมัติ หรือการสร้างโปรแกรมที่ช่วยเกษตรกรตัดสินใจด้านการผลิต การใส่ปุ๋ยและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ฯลฯ
เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่นี้กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้า การเกษตร โลกครั้งใหญ่ แม้แต่เกษตรกรยากจนในประเทศกำลังพัฒนาก็เริ่มการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นเพราะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว องค์กรระหว่างประเทศ และมูลนิธิต่างๆ
สำหรับไทย เริ่มมีเกษตรกรมืออาชีพรุ่นใหม่บางกลุ่มและธุรกิจเพื่อสังคมหลายรายนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ แต่ทั้งหมดจะเป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชมูลค่าสูง เช่น เมล่อน ผักอินทรีย์ ดอกไม้และกล้วยไม้ แต่เกษตรกรรายเล็กส่วนใหญ่ที่ปลูกพืชมูลราคาต่ำ (เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยาง) ยังไม่ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปใช้ เหตุผลหลักคือต้นทุนการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ยังสูงมากเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้
สาเหตุอีกประการหนึ่งคือภาครัฐไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่ตลาดต้องการ เพื่อออกเผยแพร่ให้เกษตรกรไทยใช้ เพราะความอ่อนแอด้านการวิจัยและการส่งเสริมเกษตรของภาครัฐ นอกจากจะลงทุนวิจัยน้อยมาก (เพียงปีละ 1,085 ล้านบาท แต่กลับใช้งบอุดหนุนการผลิตและค้าข้าวปีละ 1.272 แสนล้านบาท) เราขาดแคลนนักวิจัยด้านการเกษตรอย่างรุนแรง ระบบวิจัยและส่งเสริมของรัฐไม่สนองกับความต้องการของตลาด ระบบส่งเสริมเกษตรเป็นแบบ “คุณพ่อรู้ดี” ที่ใช้สูตรเดียวกันทั่วประเทศโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของพื้นที่และตัวเกษตรกร ผลก็คือความสามารถในการแข่งขันของไทยเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างเช่นขณะนี้เวียดนามสามารถเพิ่มการส่งออกข้าวไปยังตลาดข้าวสำคัญเช่นจีน เพราะมีพันธุ์ข้าวชนิดใหม่หลายพันธุ์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด อาทิ จัสมิน85 ที่เป็นข้าวหอมพื้นนุ่มถูกปากคนจีน (แต่ขายถูกกว่าข้าวหอมปทุมของไทย) ข้าวหอม DT8 ที่กำลังโด่งดังในแอฟริกา ข้าวหอมนางว้า ข้าวหอม KDM รวมทั้งข้าวขาวพันธุ์ S415, ST21 เป็นต้น แต่ไทยกลับไม่มีพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ตลาดโลกต้องการ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงมีการลักลอบนำพันธุ์ข้าวจากเวียดนามมาปลูกในไทยใน 2-3 ปีที่ผ่านมา
ระบบการวิจัยใหม่ต้องตอบสนองความต้องการของตลาด โดยมีคณะกรรมการเกษตรและอาหารแห่งชาติที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ฝ่าย คือ รัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และเกษตรกร ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดทิศทางวิจัยและประเมินผล มีการปฏิรูประบบแรงจูงใจนักวิจัย และจัดสรรงบในรูปโปรแกรมวิจัยที่ถูกจัดอยู่ในลำดับสำคัญของประเทศ
หน่วยงานรัฐต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ส่งเสริมมาเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนบริษัท/ธุรกิจเพื่อสังคม/นักวิชาการที่ต้องการทำงานด้านส่งเสริมตามความต้องการของเกษตรกร ส่วนรัฐทำหน้าที่จัดสรรทุนส่งเสริมแบบแข่งขัน และประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ นอกจากนี้รัฐควรสนับสนุนให้นักวิชาการติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการใช้ในต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้หรือปรับปรุงดัดแปลงให้เหมาะกับท้องถิ่น และลดต้นทุนของเกษตรกร
หมายเหตุเผยแพร่ ครั้งแรกใน Forbes Thailand เมื่อ 14 กันยายน 2562