บทเรียนสภาวะผู้นำในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19

สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 เป็นปัญหาที่รุนแรงในระดับที่สูงเพราะมีการกระจายไปทั่วโลก และถูกจัดว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงระดับโลก (Pandemic) โดยองค์การอนามัยโลก ในเดือนมีนาคม 20201 ประสบการณ์การจัดการกับวิกฤตินี้ ทำให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของผู้นำประเทศในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคที่แตกต่างกัน เพราะไม่เพียงแต่ผู้นำจะมีบทบาทในการตัดสินใจเลือกดำเนินการมาตรการเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่าจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ ในการนี้ บทบาทของผู้นำภายใต้สถานการณ์วิกฤติจึงจะต้องดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้สามารถรับมือกับการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน 

ในกรณีต่างประเทศ บทบาทของผู้นำที่ถูกวิจารณ์มากกรณีหนึ่ง คือ กรณีผู้นำสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ซึ่งมักจะออกมาปฏิเสธความรุนแรงของโรคระบาด ไม่มีการบังคับใช้การสวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่ชักจูงให้ประชาชนชาวอเมริกันปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมภายใต้สถานการณ์การระบาด2 ผลจากบทบาทความเป็นผู้นำที่ล้มเหลว ทั้งในเชิงการบังคับใช้มาตรการและในเชิงการกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม ทั้งยังรวมไปถึงการใช้สถานการณ์การระบาดเป็นเครื่องมือทางการเมือง โจมตีพรรคการเมืองคู่แข่งเรื่องนโยบายรณรงค์ใส่หน้ากาก นำไปสู่การต่อต้านการใส่หน้ากากในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ได้ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้นของโลก3 ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 2 เมษายน 2564 ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 31 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 5.6 แสนคน เป็นประเทศอันดับที่ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค โดยคิดเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อร้อยละ 9.50 ของประชากร และเสียชีวิตที่อัตรา 1,725 รายต่อประชากร 1 ล้านคน 

อีกกรณีศึกษาต่างประเทศที่สำคัญ คือ กรณีผู้นำประเทศบราซิล ชาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องรับมือกับสถานการณ์การระบาด เช่น ไม่ยอมบังคับใช้มาตราการปิดเมืองในสภาวะที่การระบาดพุ่งสูง ไม่สามารถเป็นแบบอย่างให้แก่ประชาชนได้ โดยไม่ยอมสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเข้าร่วมการประชุมหรือเดินทางในพื้นที่สาธารณะ4 จนทำให้ภายหลังตัวเขาเองได้ติดเชื้อในท้ายที่สุด5 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้นำบราซิลได้ถูกวิจารณ์หนักมากที่สุด คือ การที่ตัวเขาเป็นผู้ปล่อยข่าวปลอม (fake news) เกี่ยวกับการรับมือโรคระบาด ประธานาธิบดีบราซิลได้เคยมีการกล่าวออกสื่อสาธารณะแบบผิดๆ เช่น การออกมากล่าวว่า ประชาชนชาวบราซิลมีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ในตนเองอยู่แล้ว6 หรือการออกมากล่าวว่า ยา Hydroxychloroquine สามารถใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้ จนทำให้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง Facebook ต้องทำการลบคำพูดดังกล่าวของประธานาธิบดีลง เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด7 

การสื่อสารของผู้นำประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยง จะพบว่า สหรัฐอเมริกาและบราซิลเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งนัยหนึ่งบทบาทของผู้นำประเทศในการรับมือกับโรคระบาดผ่านการประกาศใช้มาตรการที่ถูกต้องและการสร้างความเชื่อมั่น หรือรณรงค์ให้เกิดความร่วมมือในการป้องกันโรค มีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยง ในแง่นี้ กรณีการดำเนินงานของผู้นำที่เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้วเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่ผู้นำประเทศและผู้นำในแต่ละภาคส่วนของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องเรียนรู้เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาด 

กรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นบทบาทผู้นำที่มีประสิทธิภาพ คือ การที่นายกรัฐมนตรีของสิงค์โปร์ นาย ลี เซียนลุง ได้ออกมาสื่อสารกับประชาชนของประเทศให้ตระหนักถึงความร้ายแรงของวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ อธิบายถึงมุมมองของภาครัฐต่อโรคระบาด แนวทางการจัดการของภาครัฐ รวมทั้งขอความร่วมมือกับประชาชนทุกคนให้ปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัด ลักษณะของการสื่อสารแสดงให้เห็นว่า มีเข้าใจความทุกข์ยากลำบากที่เกิดขึ้น จากการที่ประชาชนจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่8 

ข้อมูล ณ ปัจจุบัน พบว่า สิงค์โปร์มีจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 6 หมื่นคน และเสียชีวิตรวม 30 คน หรือคิดเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อร้อยละ 1.05 ของประชากร และเสียชีวิตที่อัตรา 5.27 รายต่อประชากร 1 ล้านคน 

เมื่อพิจารณากรณีประเทศไทย พบว่า ช่วงแรกเริ่มของการระบาดก็เกิดปัญหาของการสื่อสารเกิดขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เคยออกมากล่าวออกสื่อว่าโรคโควิด-19 ไม่ใช่สิ่งที่น่าวิตกกังวล9 ซึ่งได้ทำให้ประชาชนไม่เกิดการตระหนักต่ออันตรายของโรค ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมต้อนรับเทศกาลตรุษจีนเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีนให้เกิดความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังคงเปิดรับการท่องเที่ยวจากจีนในช่วงต้นของการระบาด แม้ว่าประเทศจีนจะเป็นประเทศแรกที่เกิดการระบาดของไวรัสก็ตาม 

รูปที่ 1: กิจกรรมต้อนรับเทศกาลตรุษจีน (ณ วันที่ 22 มกราคม 2563) 

https://img4.tnews.co.th/userfiles/images/DSC08622(1).JPG
ที่มา: คมชัดลึก

ข้อมูล ณ ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 28,863 รายและมีจำนวนผู้เสียชีวิต 94 ราย หรือคิดเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อร้อยละ 0.04 ของประชากร และเสียชีวิตที่อัตรา 1.35 รายต่อประชากร 1 ล้านคน 

แม้ว่าสถิติเชิงปริมาณจะพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในระดับที่ต่ำมาก และมีจำนวนผู้เสียชีวิตในอัตราที่ต่ำมากเช่นเดียวกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากภาครัฐมีมาตรการที่เข้มงวดตั้งแต่ต้น และหากผู้นำประเทศและผู้นำองค์คาพยพด้านสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับปัญหาโควิด-19 ตั้งแต่ต้นแล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดน่าจะมีความรุนแรงน้อยลงกว่านี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 

ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการวัคซีนก็เป็นอีกหนึ่งข้อกังวลสำคัญต่อบทบาทของผู้นำประเทศในการรับมือกับโรค ผู้นำประเทศและผู้นำในแต่ละภาคส่วนของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจและการสร้างข้อตกลงเพื่อจัดหาวัคซีนเข้าประเทศ ซึ่งหนึ่งในข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ได้เกิดขึ้น คือ การผูกขาดและไม่สามารถจัดหาวัคซีนที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงกรณีวัคซีนล้มเหลว หรือไม่สามารถกระจายการเข้าถึงและฉีดวัคซีนได้อย่างทันท่วงที11 

ไม่เพียงแค่นี้ บทบาทสำคัญของผู้นำประเทศนอกจากการบริหารจัดการและตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว ยังจะต้องมีการสื่อสารที่ดี ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้ โดยในกรณีการฉีดวัคซีนนั้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ ผู้นำประเทศจะต้องออกมาสร้างความมั่นใจในการใช้วัคซีนว่ามีความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจปฏิบัติตามมาตรการ ไม่มองว่าภาครัฐกำลังใช้ประชาชนเป็นหนูทดลองวัคซีน12 

บทบาทสำคัญของผู้นำในสถานการณ์วิกฤติโดยสรุปจะประกอบด้วย 2 คุณลักษณะสำคัญ คือ 1) บริหารจัดการวิกฤติการณ์และตัดสินใจดำเนินการได้อย่างถูกต้อง มีความชัดเจน และ 2) สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ในประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ และการปฏิบัติตามมาตรการ บทความชิ้นนี้จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ 

1. ผู้นำประเทศและผู้นำในแต่ละภาคส่วนของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องมีความชัดเจนในการตัดสินใจ เช่น การจะใช้มาตรการปิด-เปิดเมืองจะต้องดำเนินการอย่างชัดเจนว่าจะใช้เวลาเท่าไร และมีมาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างไร เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตนเพื่อรับมือกับการปิดเมืองได้อย่างถูกต้อง ไม่เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาเนื่องจากความไม่แน่นอน 

2. ผู้นำประเทศและผู้นำในแต่ละภาคส่วนของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องระมัดระวังการสื่อสารในพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นใหม่ ข้อมูลต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจน เมื่อผู้นำทำการสื่อสารในพื้นที่สาธารณะจะต้องไม่กล่าวในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือยังไม่แน่นอนชัดเจนออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความเข้าใจผิดหรือตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน 

3. ผู้นำประเทศและผู้นำในแต่ละภาคส่วนของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่เหมาะสมต่อประชาชน เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือการฉีดวัคซีน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในแนวทางปฏิบัติ 

4. ผู้นำประเทศและผู้นำในแต่ละภาคส่วนของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องบังคับใช้มาตรการป้องกันความเสี่ยงอย่างจริงจัง และไม่มีการเลือกปฏิบัติ เช่น การคอรัปชั่น (กรณีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว13 หรือกรณีการไม่ปราบปรามบ่อนการพนัน14) เพื่อควบคุมความเสี่ยงไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนว่าภาครัฐบังคับใช้มาตรการต่างๆ จริง 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1 https://www.who.int/director-general/speeches/detail/who-director-general-s-opening-remarks-at-the-media-briefing-on-covid-19—11-march-2020 

2 https://www.reuters.com/article/us-usa-election-trump-coronavirus-idUSKBN26T3OF; https://www.theatlantic.com/politics/archive/2020/11/trumps-lies-about-coronavirus/608647/ 

3 https://time.com/5875411/trump-covid-19-death-rate-interview/ 

4 https://www.theatlantic.com/international/archive/2020/10/donald-trump-jair-bolsonaro-coronavirus/616602/ 

5 https://www.bbc.com/news/world-latin-america-53319517 

6 https://www.businessinsider.com/coronavirus-jair-bolsonaro-suggests-brazilians-immune-to-disease-baseless-2020-3 

7 https://www.bbc.com/news/technology-52106321 

8 https://www.pmo.gov.sg/Newsroom/PM-Lee-Hsien-Loong-on-the-COVID-19-situation-in-Singapore-on-10-April-2020 

9 https://workpointtoday.com/covid-05-12-63/ 

11 https://news.thaipbs.or.th/content/301455 

12 https://www.pptvhd36.com/news/สุขภาพ/140427 

13 https://mgronline.com/crime/detail/9630000130199 

14 https://www.thairath.co.th/news/local/2010959 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย จิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล 
31 มกราคม 2563