ปัญหาการปฏิบัติตามกฎระเบียบในช่วงวิกฤตโควิด-19

ภายใต้สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการลดทอนความเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่จะเกิดขึ้นหลายมาตรการ แต่ในทางปฏิบัติแล้วนั้น กลับพบว่าประชาชนจำนวนมากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา เป็นเหตุให้มาตรการในการรับมือกับโรคระบาดไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมี่ประสิทธิภาพ และไม่สามารถลดทอนความเสี่ยงได้อย่างที่ควรจะเป็น 

มูลเหตุที่ประชาชนไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของภาครัฐสามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ 1) ประชาชนไม่สามารถปฏิบัติตามได้ โดยมีเหตุจำเป็น และ 2) ประชาชนไม่ปฏิบัติตาม เนื่องจากไม่ให้ความสำคัญกับมาตรการภาครัฐ 

ในกรณีแรก กรณีประชาชนไม่สามารถปฏิบัติตามได้เพราะมีเหตุจำเป็นนั้น มักจะปรากฏในกรณีของการใช้งานพื้นที่สาธารณะ เช่น การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือพื้นที่เปิดทางเศรษฐกิจ (ตลาด ห้างร้าน สถานที่ราชการ หรือที่ทำงาน เป็นต้น) ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนนี้ เป็นผลจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่บังคับให้ประชาชนหลายกลุ่มจำเป็นจะต้องเดินทางออกจากบ้านมาทำงาน ไม่สามารถหยุดงานเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาด หรือไม่สามารถปฏิบัติงานจากที่บ้านได้ (work from home) และด้วยความจำเป็นของการต้องใช้งานพื้นที่สาธารณะ ได้เป็นเหตุให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการระยะห่างทางสังคม (social distancing) ได้อย่างที่ควรจะเป็น 

อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่บีบบังคับให้ประชาชนกลุ่มนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เกิดขึ้นจากข้อจำกัดของระบบขนส่งสาธารณะ และการจัดสรรพื้นที่สาธารณะในการดำเนินการทางเศรษฐกิจ ก่อนการระบาด ระบบขนส่งสาธารณะในไทยเองก็มีขีดจำกัดในการให้บริการประชาชนในช่วงเวลาเร่งด่วนอยู่แล้ว และเมื่อการระบาดขยายตัว มาตรการในการป้องกันความเสี่ยงของภาครัฐยิ่งลดทอนพื้นที่ (ลดจำนวนที่นั่ง และเที่ยววิ่ง) ในระบบขนส่งสาธารณะลงจากเดิม1 ในส่วนนี้ แม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้หน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจส่วนต่างๆ สนับสนุนการทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดความหนาแน่นในการใช้บริการลง แต่ในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุจำเป็นทางเศรษฐกิจเป็นผลให้ความหนาแน่นไม่สามารถลดลงได้ เช่นเดียวกับความพยายามปรับลดความหนาแน่นในพื้นที่ต่างๆ ที่มีมาตรการให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในช่วงเวลาหนึ่ง2 ซึ่งในพื้นที่ที่มีความจำเป็นในการดำเนินการ เช่น โรงพยาบาล หรือธนาคาร จะไม่สามารถจำกัดปริมาณผู้ใช้งานได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่จำเป็นที่ไม่สามารถหยุดการใช้บริการได้ 

ในส่วนนี้ จึงเป็นเหตุสำคัญให้เกิดปัญหาการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของภาครัฐ แม้ว่าการลดการเดินทางในพื้นที่สาธารณะ และการงดออกจากบ้าน จะเป็นมาตรการสำคัญที่จะใช้ในการลดความเสี่ยงของการระบาด แต่ด้วยเหตุจำเป็นทางเศรษฐกิจ ประชาชนหลายกลุ่มยังจำเป็นที่จะต้องดำเนินชีวิตตามวิถีชีวิตก่อนการระบาดเพื่อให้มีรายได้ 

ในกรณีที่สอง กรณีประชาชนไม่ปฏิบัติตามเพราะไม่ให้ความสำคัญกับมาตรการภาครัฐนั้น โดยมากมักเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ คือ 1) ประชาชนรู้สึกว่าการปฏิบัติตามไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวก หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตาม เพราะไม่เห็นประโยชน์จากการปฏิบัติตาม และ 2) ประชาชนกลัวการถูกลงโทษ ทั้งเชิงกฎหมายและเชิงสังคม เนื่องจากตนได้ละเมิดมาตรการจนนำไปสู่การได้รับเชื้อ 

การไม่ปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประชาชนไม่เห็นว่ามาตรการของภาครัฐให้ผลลัพธ์เชิงบวก หรือกล่าวคือ ประชาชนไม่เห็นว่า การปฏิบัติตามจะช่วยลดทอนความเสี่ยงลงได้ และหากไม่ปฏิบัติตามก็จะไม่มีการลงโทษแต่อย่างใด กรณีนี้ขยายขึ้นจากการขาดความเชื่อมั่นต่อการควบคุมโรค ตัวอย่างเช่น กรณีการแพร่ระบาดจากกลุ่มสนามมวย3 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐมีส่วนในการแพร่ระบาด4 การจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของแอปพลิเคชันจัดเก็บตำแหน่งของประชาชน (contact tracing application)5 หรือกรณีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศโดยมีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง6 เป็นต้น ส่งผลให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่า การปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐอย่างเคร่งครัดไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะการแพร่ระบาดสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของตน 

ขณะเดียวกัน กลไกการลงโทษทั้งเชิงกฎหมายและเชิงสังคมเองก็มีส่วนสำคัญในการกดดันผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือได้ติดเชื้อแล้ว จากการรายงานพฤติกรรมความเสี่ยง โดยในเชิงกฎหมาย การใช้มาตรการลงโทษแม้ว่านัยหนึ่งจะเป็นกลไกบังคับให้เกิดการปฏิบัติตามเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ อีกนัยหนึ่งก็ได้สร้างความกลัวการถูกลงโทษขึ้น ในส่วนนี้ เป็นเหตุสำคัญให้ผู้ที่มีความเสี่ยง/ผู้ที่ติดเชื้อแล้วตัดสินใจไม่รายงานข้อมูลอย่างครบถ้วน ขณะที่ในเชิงสังคม การขยายตัวของสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ทำให้ประชาชนจำนวนมากสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแสดงออกซึ่งความเห็นต่อประเด็นต่างๆ ในที่สาธารณะได้ จึงเป็นผลให้เกิดมาตรการลงทัณฑ์ทางสังคม โดยใช้การประนามผู้ที่มีความเสี่ยง/ผู้ที่ติดเชื้อในลักษณะต่างๆ ผลจากกลไกทั้งทางกฎหมายและทางสังคมได้ส่งผลให้ผู้ที่มีความเสี่ยง/ผู้ที่ติดเชื้อจำนวนมากตัดสินใจปกปิดข้อมูลความเสี่ยงของตน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษทางกฎหมาย หรือถูกประนามจากสังคม ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รับความเสี่ยงจากสถานที่อโคจรอย่างสถานบันเทิงหรือบ่อนการพนัน ผู้ที่ละเมิดคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานในยามวิกาล หรือ เคอร์ฟิว (โดยจำเป็นหรือไม่จำเป็น) เป็นต้น7 

จากปัญหาทั้งหมดที่นำไปสู่การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของภาครัฐ ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติตามกฎระเบียบ รวมถึงมีกลไกรองรับเหตุจำเป็นสำหรับผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ บทความชิ้นนี้จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ 

1. ภาครัฐจะต้องสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน ว่าการปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยง โดยภาครัฐจะต้องมีบทลงโทษอย่างสมเหตุสมผลต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐ/หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนในการก่อให้เกิดการระบาด เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าภาครัฐมิได้เลือกปฏิบัติ รวมถึงจะต้องแสดงความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลผ่านแอปพลิเคชันจัดเก็บตำแหน่ง ที่ประชาชนจำนวนมากไม่ให้ความร่วมมือ เพราะกังวลต่อความโปร่งใสของการนำข้อมูลไปใช้งานของภาครัฐ 

2. ภาครัฐจะต้องมีมาตรการให้แรงจูงใจในการปฏิบัติตามหรือสนับสนุนการปฏิบัติตาม เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคส่วนธุรกิจ ปฏิบัติตาม ตัวอย่างเช่น การช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการหยุดกิจการ เป็นต้น 

3. ภาครัฐจะต้องมีมาตรการรองรับข้อจำกัดของกฎระเบียบที่ได้บังคับใช้ เนื่องจากจะมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการได้เพราะข้อจำกัดต่างๆ ตัวอย่างเช่น ควรมีมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพ หรือรายได้จากการไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ ควรมีมาตรการรองรับการขนส่งสาธารณะในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยการอุดหนุนให้เกิดการเพิ่มจำนวนรอบในระบบขนส่งสาธารณะ หรือการเหลื่อมเวลาทำงานในส่วนขององค์กรภาครัฐ เพื่อลดความหนาแน่น ทั้งในส่วนของการใช้พื้นที่และระบบขนส่ง 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1 https://www.thairath.co.th/news/business/1810249 

2 https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/guidelines/guideline_green_covid19.pdf 

3 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871604; https://mgronline.com/qol/detail/9630000026049 

4 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/883639 

5 https://news.thaipbs.or.th/content/293028; https://www.dailynews.co.th/politics/776981 

6 https://mgronline.com/crime/detail/9630000130199; https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/917592 

7 https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_5811195 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

(*ชื่อบทความเดิม: ปัญหาการปฏิบัติตามกฎระเบียบ)

โดย จิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล 
28 กุมภาพันธ์ 2563