สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
ขณะที่แรงงานไทยกำลังตกงาน ที่ญี่ปุ่นสถานการณ์ ดูเหมือนจะตรงกันข้าม คือหาคนงานยากเมื่อไม่กี่วันนี้ผู้เขียนนั่งดูรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นออกข่าวเล็กๆ แต่น่าสนใจว่า ญี่ปุ่นกำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในปีที่ผ่านมา โดยมีบริษัทห้างร้านราว 500 แห่ง ต้องปิดกิจการเนื่องจากเหตุผลด้านการขาดแคลนแรงงาน โดยส่วนใหญ่ (270 แห่ง) หาคนรับช่วงต่อไม่ได้ 78 แห่ง หาลูกจ้างไม่ได้ 44 แห่ง คนงานลาออกหรือเกษียณ และ 34 แห่ง เลิกกิจการเนื่องจากต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจนมีศัพท์เรียกการขาดแคลนแรงงานว่า “hitode busoku”
สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่นเช่นนี้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นต่อไป ในปัจจุบัน ความต้องการแรงงานทุก 15 ตำแหน่ง จะหาคนได้เพียง 10 ตำแหน่ง ซึ่งในบางพื้นที่หรือบางสาขาอาชีพสถานการณ์จะหนักกว่านี้ ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์ในปีนี้จะหนักมากขึ้นเพราะญี่ปุ่นกำลังจะจัดกีฬาโอลิมปิกเพราะปัจจุบันญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวเข้าญี่ปุ่นปีละ 31 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่านั้นช่วงงานโอลิมปิก (กรกฎาคม-สิงหาคม 2563)
ผู้เชี่ยวชาญคาดประมาณว่าในปี 2573 หรืออีกสิบปีข้างหน้าญี่ปุ่นจะต้องการแรงงาน 70.7 ล้านคน โดยจะมีอุปทานแรงงานราว 64.3 ล้านคน ทำให้จะมีการขาดแคลนแรงงานถึง 6.4 ล้านคน
งานประเภทใดที่ขาดแคลนแรงงาน-ในต้นปีผ่านมา จากสถิติของญี่ปุ่น (Teikoku Databank) มีผู้เอาไปจัดอันดับ 10 งานที่ประสบปัญหาความขาดแคลนแรงงาน (ญี่ปุ่น) มาก ดังนี้ คือ
อันดับ 10-อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่พบว่ามีแรงงานน้อยมาก แม้แต่บริษัทใหญ่ๆ อย่างโตโยต้าก็ยังดิ้นรนหาแรงงานและต้องออกนโยบายเอาใจแรงงานไว้ เช่น อนุญาตให้ย้ายโรงงานได้ถ้าต้องการ เป็นต้น อันดับ 9-งานขายของหน้าร้าน พบว่าแรงงานที่ทำงานในกิจการขายของต้องทำงานวันละหลายชั่วโมง ได้ค่าจ้างต่ำ มีวันหยุดน้อย คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานในร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านเครื่องไฟฟ้า
อันดับ 8-งานวิทยุกระจายเสียง พบว่าในปี 2560 ร้อยละ 80 ของบริษัทกระจายเสียงขาดแคลนแรงงาน คนที่เคยทำงานแบบนี้บอกว่าเป็นงานหนัก ต้องทำงานวันละหลายชั่วโมง และค่าจ้างไม่ค่อยคุ้ม และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ การขยายตัวของเว็บไซต์ เช่น You Tube และ Netflix ทำให้งานทีวีน่าสนใจน้อยลง อันดับ 7-งานร้านอาหารและภัตตาคาร ดูเผินๆ ก็น่าทำเพราะเวลารับคน ทางร้านมักจะติดป้ายว่า “ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์” แต่ความจริงมีเรื่องต้องเรียนรู้มากมายโดยไม่ค่อยมีคำอธิบาย ต้องฝึกงานหลายอย่าง บางร้านอาจกำหนดให้ฝึกงานถึง 3 เดือน ทำให้ภาพพจน์ของงานร้านอาหารไม่ค่อยจะดีนักสำหรับแรงงานญี่ปุ่น จึงเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเข้ายึดพื้นที่
อันดับ 6-งานให้เช่าเครื่องใช้ อันนี้อาจคาดไม่ถึงแต่ในญี่ปุ่นมีการขาดแคลนคนที่จะดูแลกิจการให้เช่า ในปี 2559 ร้อยละของคนที่ทำงานนี้อายุเกิน 60 ปี ซึ่งจำนวนคนงานสูงอายุดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ งานประเภทนี้ในญี่ปุ่นถือเป็นงาน 3 D คือ Difficult, Dirty, และ Dangerous จึงไม่ค่อยมีใครอยากทำ อันดับ 5-งานก่อสร้าง จำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ลดลงเรื่อยๆ จาก 4.5 ล้านคน ในปี 2531 เหลือ 3.3 ล้านคนในปี 2554 และกำลังลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากงานประเภทนี้คนรุ่นใหม่ไม่ชอบทำเพราะเป็นงานประเภท 3 D และสิ่งที่น่าวิตกคือในปีนี้ญี่ปุ่นกำลังจะจัดงานโอลิมปิกที่โตเกียวซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างสนามกีฬาประเภทต่างๆ มากมายรวมทั้งสนามกีฬาใหญ่ และพบว่ามีการเอารัดเอาเปรียบแรงงานจำนวนมาก
อันดับ 4-งานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) อันนี้เป็นเรื่องของการเตรียมงานโอลิมปิกซึ่งมีผู้เป็นห่วงว่าจะไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพียงพอ ร้อยละ 90 ของบริการ รปภ.เอกชนกำลังขาดแรงงาน ร้อยละ 80 ของบริษัทรปภ.บอกว่าเหตุผลส่วนหนึ่งคือค่าจ้างต่ำ และชั่วโมงทำงานสูงกว่างานอื่น อันดับ 3-พนักงานขับรถ งานนี้ส่วนใหญ่มากับบริการขายออนไลน์ เช่น You Tube Amazon Uber-food Grab-food ซึ่งต้องการพนักงานขับรถบรรทุกและพนักงานขับรถอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาก ปัญหานี้ในญี่ปุ่นส่วนหนึ่งมาจากการขอใบขับขี่รถสาธารณะค่อนข้างเข้มงวด
อันดับ 2-งานเกษตรกรรม ในญี่ปุ่นในปัจจุบัน ร้อยละ 70 ของเกษตรกรอายุ 65 ปีขึ้นไป มีผู้ให้ความเห็นว่าความยากของการเริ่มงานเกษตรกรรมทำให้คนหนุ่มสาวไม่อยากทำงานเกษตรกรรม เกษตรกรใหม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมาก ชาวนาญี่ปุ่นอาจมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 7 แสนเยน (เกือบ 2 แสนบาท) กว่าจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต
และอันดับ 1-เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) แทบไม่น่าเชื่อว่าในขณะที่อุตสาหกรรมไอทีขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลับพบว่ามีการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้น ตัวเลขประมาณการชี้ว่าในเวลา 10 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นจะขาดแคลนแรงงานไอทีถึง 8 แสนคน นอกจากความต้องการแรงงานไอทีจะเพิ่มจำนวนขึ้น คุณภาพก็ต้องมีการฝึกอบรมมากขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา งานไอทีเองก็ต้องใช้เวลาทำงานนาน ยาก แต่เงินเดือนไม่สูง รวมทั้งในญี่ปุ่นไม่ค่อยมีบริษัทเอกชนด้านไอที คนรุ่นใหม่จึงยังไม่ค่อยอยากทำ
สาเหตุความขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่น ประการหนึ่งซึ่งเป็นที่ทราบกันดีคือ ประชากรญี่ปุ่นเป็นสังคมสูงวัยมานานแล้ว มีผู้สูงอายุมาก ในขณะที่เด็กเกิดใหม่น้อย กำลังแรงงานหดตัว นอกจากนั้นแล้วแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ลักษณะงาน และค่าจ้าง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นก็มีส่วนทำให้ขาดแคลนแรงงาน
ญี่ปุ่นทำอย่างไร?รัฐบาลญี่ปุ่นก็พยายามแก้ปัญหาหลายวิธี เช่น พยายามส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุและสตรี การนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรมาใช้ การปรับปรุงสภาพการทำงาน เช่น ลดชั่วโมงทำงาน การเพิ่มค่าจ้าง แต่ที่สำคัญมากคือการเพิ่มการนำเข้าแรงงานต่างด้าวซึ่งแต่ก่อนญี่ปุ่นมีความเป็นเอกภาพทางชาติพันธุ์สูง แต่มาบัดนี้สถานการณ์บังคับให้จำเป็นต้องพึ่งและหาแรงงานต่างชาติโดยเร่งด่วน
ในปี 2560 ญี่ปุ่นมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 1.3 ล้านคน โดยตอนนั้นญี่ปุ่นจะให้วีซ่าระยะยาวเฉพาะแรงงานวิชาชีพ และแรงงานต่างด้าวมี 5 ประเภท คือ (1) ผู้มีความรู้และทักษะระดับสูง เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือนักกฎหมาย (2) คนที่มีสิทธิทางกฎหมายเช่น มีเชื้อสายญี่ปุ่น ผู้มีถิ่นพำนักถาวร หรือมีคู่สมรสชาวญี่ปุ่น (3) ผู้ฝึกงาน ที่ทำงานในโรงงานหรือฟาร์มในเวลาที่กำหนดและได้รับค่าตอบแทนและมีวัตถุประสงค์จะนำความรู้และทักษะที่ได้กลับไปบ้านเกิดเมืองนอนตามโครงการ Technical Intern Training Program (TITP) (ผ่านองค์การ International Manpower Development Organization: IM Japan) (4) ผู้ปฏิบัติงานประเภทที่กำหนดและได้รับเงินเดือน เช่น พยาบาล ผู้ดูแลคนป่วย ที่เข้าเมืองภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและผู้ที่เข้าเมืองตามข้อตกลงการทำงานช่วงวันหยุด (5) คนที่เข้าร่วมกิจกรรมนอกประเภทวีซ่า เช่น นักศึกษาต่างชาติที่ทำงานบางเวลาในร้านสะดวกซื้อหรือร้านอาหารไม่เกินสัปดาห์ละ 28 ชั่วโมง
ที่ผ่านมา แรงงานต่างด้าวในญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยทำงานสายพานการผลิต นักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่ทำงานภาคบริการในเมืองโดยเรียนไปทำงานไป ส่วนแรงงานหลบหนีเข้าเมืองมักจะทำงานไร้ทักษะในงานก่อสร้าง
การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของญี่ปุ่นคือการเปิดทางรับแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นโดยออกกฎหมายเพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานต่างด้าวกึ่งทักษะให้สามารถทำงานและอยู่อาศัยในญี่ปุ่นได้เป็นเวลา 5 ปี กฎหมายนี้ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2562 และนับว่าเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างมีปัญหาสำหรับประเทศญี่ปุ่นที่ค่อนข้างชาตินิยมและมีเอกภาพทางชาติพันธุ์สูง (คนญี่ปุ่นหลายคนวิจารณ์ว่ารัฐบาลตนกำลังผิดพลาดเพราะจะทำให้เกิดปัญหาคนญี่ปุ่นถูกแย่งงาน ปัญหาความกลมกลืนทางสังคม และปัญหาความมั่นคงของประเทศ)
ภายใต้กฎหมายใหม่ดังกล่าวจะให้วีซ่าประเภท “แรงงานที่มีทักษะที่กำหนด” (tokuteigino) โดยแยกเป็น 2 ประเภท (ก) ทักษะที่กำหนด บัญชี 1 สำหรับแรงงานทักษะน้อยชาวต่างชาติ ให้อยู่ทำงานในญี่ปุ่นได้ไม่เกิน 5 ปี โดยไม่สามารถนำครอบครัวไปอยู่ด้วย สามารถทำงานได้ 14 งานที่กำหนด รวมทั้งงานเกษตร ก่อสร้าง ต่อเรือและพนักงานต้อนรับ (ข) ทักษะที่กำหนด บัญชี 2 สำหรับแรงงานทักษะ/วิชาชีพ อนุญาตให้พาครอบครัวไปอยู่ด้วยและได้รับอนุญาตให้อยู่ญี่ปุ่นได้โดยไม่มีกำหนดรวมทั้งสามารถขอเปลี่ยนวีซ่าได้หลังหมดสัญญาจ้าง
ภายใต้กฎหมายนี้ญี่ปุ่นคาดว่าในปี 2562 จะรับแรงงานต่างด้าวได้ 5 หมื่นคน โดยจะทำงานภาคเกษตร 7.3 พันคน และทำงานร้านอาหารและดูแลผู้ป่วยอีก 5.5 พันคน ทั้งนี้ คาดว่าจะเพิ่มแรงงานต่างด้าวระดับแรงงานได้ 3.5 แสนคน ภายในเวลา 5 ปี
มาตรการการแก้กฎหมายคนเข้าเมืองดังกล่าวนับว่าเป็นที่พึ่งสุดท้ายของญี่ปุ่นในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเอาอยู่หรือแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่
ประสบการณ์ของญี่ปุ่นในเรื่องนี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้เกี่ยวข้องในประเทศไทย 2 ด้าน คือ ด้านแรก การส่งแรงงานออกไปทำงานต่างประเทศ ควรจะมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานไทยไปหากิน (อย่างถูกกฎหมาย) ที่ญี่ปุ่นมากขึ้นหรือไม่ เพียงใด เพราะถ้าจะรอเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในช่วง 2-3 ปีหน้านี้ยังมองไม่เห็น
ด้านที่สอง ด้านการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย มีข้อคิด 2 ประการคือ ประการแรก ขณะนี้มีประเทศที่ต้องการแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจังอย่างญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานข้ามชาติมีการแข่งขันสูงมากขึ้น จะมีแรงงานสามสัญชาติหันไปญี่ปุ่นและประเทศอื่นมากน้อยเพียงใด และประการที่สอง คือแรงงานข้ามชาติมีค่า (Value added) มากขึ้น ควรดูแลรักษาไว้อย่างไร
ฝากกระทรวงแรงงานเก็บเอาไปคิดครับ
หมายเหตุเผยแพร่ครั้งใน คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ มติชน เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2563