วิเคราะห์ปัญหาเรือนจำแออัดกับความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

หลักการข้อหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ก็คือ การเน้นระบบป้องกันในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด1 หรือก็คือ หลักการ “ให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด” 

คณะผู้วิจัยได้พิจารณาในหลักการนี้ และพบว่าพื้นที่ที่เข้าข่ายว่าจะมีความเสี่ยงสูงที่สุด คือ พื้นที่ที่พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมบีบบังคับให้ไม่สามารถที่จะลดความเสี่ยงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งประกอบไปด้วย โรงเรียนเด็กปฐมวัย (เด็กเล็กไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้) โรงงาน (การแออัดกันในการทำงาน) สถานดูแลผู้สูงอายุ บ้านพักคนชรา และสถานดูแลคนพิการ (อุปสรรคทางกายภาพทำให้ไม่สามารถที่จะป้องกันควบคุมการระบาดได้อย่างเต็มที่) แคมป์แรงงานต่างด้าว และพื้นที่ในชุมชนแออัด (พฤติกรรมการอยู่อาศัยที่แออัดจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรค) รวมไปถึงทัณฑสถาน (สถานที่ถูกคุมขังมีความแออัด ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด) 

ในบทความนี้ คณะผู้วิจัยเลือกพิจารณาศึกษา หนึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อพิจารณาวิเคราะห์ความพร้อมของไทยในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามหลักการขององค์การอนามัยโลกดังกล่าว 

การศึกษาอาศัยการสัมภาษณ์ผู้แทนจากกรมราชทัณฑ์ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 ร่วมกับการเก็บข้อมูลทุติยภูมิมาประกอบการวิเคราะห์ เพื่อประเมินความพร้อมในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทัณฑสถาน ซึ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้ 

1. กรมควบคุมโรคได้เข้ามาช่วยเหลือกรมราชทัณฑ์ในการควบคุมความเสี่ยงการแพร่ระบาดในที่คุมขัง โดยได้จัดทำคู่มือแนวทางเพื่อป้องกันและรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 ในสถานคุมขังในไทย2 

2. กรมราชทัณฑ์มีการประยุกต์ใช้คู่มือดังกล่าวในการควบคุมความเสี่ยงของการแพร่ระบาด โดยกำหนดมาตรการที่สำคัญ คือ  

2.1 มาตรการลดความเสี่ยงจากการเยี่ยมของญาติ  

มาตรการการเยี่ยมญาติใหม่ที่เรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตใหม่ (new normal) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีดังนี้ 1. ผู้เข้าเยี่ยมจะต้องลงทะเบียนล่วงหน้ากับทางเรือนจำที่ผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวอยู่ก่อนเข้าเยี่ยม เพื่อลดความหนาแน่นในการรอเยี่ยม 2. เรือนจำจะมีการจัดช่องเยี่ยมญาติและพื้นที่นั่งรอให้มีระยะห่าง 1.5-2 เมตร 3. ญาติที่มาเยี่ยมต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากไม่มีจะไม่อนุญาตให้เยี่ยมโดยเด็ดขาด 4.ญาติที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศา จะไม่อนุญาตให้เยี่ยมโดยเด็ดขาด 5. เจ้าหน้าที่ทุกคนจะสวม face shield ไว้ตลอดเวลาและให้เรือนจำจัดที่รับฝากสิ่งของและแอลกอฮอล์เจลไว้ให้บริการอย่างเหมาะสม และทุกครั้งที่เสร็จสิ้นการเยี่ยมจะต้องมีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดสถานที่เยี่ยมและจุดรับฝากสิ่งของก่อนที่จะมีการให้เยี่ยมในรอบต่อไป3 

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005472201.JPEG

ที่มา: https://mgronline.com/crime/detail/9630000053123 

2.2 มาตรการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากผู้ต้องขังรายใหม่ 

กรมราชทัณฑ์มีการแบ่งพื้นที่เฉพาะสำหรับการเฝ้าระวังผู้ต้องขังรายใหม่ โดยผู้ต้องขังรายใหม่จะต้องได้รับการตรวจโควิด-19 ก่อนเข้าพื้นที่ และถูกแยกขังในพื้นที่เฉพาะที่จัดเตรียมไว้เฝ้าระวังเสียก่อน และเมื่อพ้นระยะเวลาเฝ้าระวังและตรวจไม่พบว่ามีเชื้อโควิด-19 ถึงจะถูกย้ายเข้าไปรวมกับผู้ต้องขังอื่นๆ  

ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์พบว่าในช่วงที่มีการชะลอการเข้าเยี่ยมของญาติ และความเสี่ยงจากผู้ต้องขังรายใหม่ ผู้ต้องขังเดิมได้รับผลกระทบทางจิตใจ คือ เกิดความเครียด และความวิตกกังวล จึงต้องมีการคลายมาตรการไม่ให้เข้มงวดจนเกินไป และต้องมีการสื่อสารถึงความสำคัญของการควบคุมโรคเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1 ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 (ณ วันที่ 17 เมษายน 2563) 

2 https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/introduction/introduction24.pdf 

3 สรุปโดย mgronline.com 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI
31 มีนาคม 2563