วิเคราะห์มาตรการลดค่าไฟในช่วงวิกฤตโควิด-19

ด้วยภาวะเศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำอย่างรุนแรงอันมีสาเหตุหลักมาจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศที่สร้างงานสร้างอาชีพที่เป็นรายได้ให้ประชาชนหลายล้านคนได้รับผลกระทบจากการมาตรควบคุมการเดินเข้ามาในประเทศ ทำให้ประชาชนโดยรวมมีรายได้ลดลงหรือแม้กระทั่งขาดแคลนรายได้เพื่อให้เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในประจำวัน ดังนั้น หนึ่งในวิธีหรือขั้นตอนเร่งด่วนที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาเยียวยาในระยะสั้นคือการพยายามลดค่าใช้จ่ายบางส่วนของประชาชนเพื่อให้พวกเขายังคงสามารถเนินชีวิตของตัวเองต่อไปได้ 

เรื่องข้อเท็จจริงหนึ่งที่น่าเสียดายแต่ถึงอย่างไรก็ตามก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือความจำกัดของงบประมาณที่อาจไม่ได้เพียงพอต่อการเข้าไปเยียวยาประชาชนได้อย่างทั่วถึงทุกคนถึงแม้ว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดจะกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ดังนั้น เป้าหมายของมาตรการเยียวยาทั้งหลายจึงเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าหรือมีความสามารถในการรับภาระวางจากผลกระทบน้อยกว่าก็ย่อมต้องได้รับการเยียวยามากกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบที่น้อยลงมา ถ้ามาตรการเยียวยาใดไปเข้าช่วยเหลือผิดกลุ่ม กล่าวคือเข้าไปช่วยกลุ่มคนที่มีความสามารถในการรับภาระที่ดีอยู่แล้วเป็นสัดส่วนที่มากกว่าเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนมากกว่า มาตรการนั้นย่อมนับได้ว่าเป็นโครงการที่ใช้ทรัพยากรอันมีอยู่อย่างจำกัดในการเยียวยาเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างรุนแรงได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือเรียกได้ว่าเป็นมาตรการที่เหลื่อมล้ำ 

เมื่อปลายเดือนเมษายนปี 2563 รัฐบาลได้ออกมาตรปรับลดค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมเพื่อหวังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วยงบประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยในภาวะวิกฤติที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกำชับให้ประชาชนลดการเดินทางและกักตัวอยู่ในที่พักอาศัยของตนเพื่อระงับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ให้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง การออกมาตรการลดค่าไฟฟ้าของที่พักอยู่อาศัยจึงเป็นมาตรการที่มีแนวโน้มที่จะสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องของประสิทธิภาพของการดำเนินมาตรการก็ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าการลดค่าไฟฟ้าด้วยงบประมาณที่จำกัดนี้ได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมากกว่าหรือไม่ หรือประชาชนกลุ่มใดได้รับประโยชน์จากมาตรการปรับลดค่าไฟฟ้านี้มากกว่ากัน บทความชิ้นนี้จึงได้สำรวจข้อมูลพฤติกกรรมการใช้ไฟฟ้าตามปกติของประชาชนแบ่งตามกลุ่มระดับชั้นรายได้ และวิเคราะห์ว่าด้วยพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชน กลุ่มชั้นรายได้แต่ละกลุ่มจะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้แตกต่างกันอย่างไร 

สรุปรายละเอียดมาตรการปรับลดค่าไฟฟ้า 

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ให้มีมาตรช่วยเหลือประชาชนด้วยการลดภาระค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยในเดือนมีนาคม 2563 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งแบ่งผู้ใช้ไฟฟ้าออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 

1. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.1 ที่ใช้มิเตอร์ 5 แอมป์ ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ใช้ไฟฟรี 150 หน่วยต่อเดือน ในเดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 

2. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้มิเตอร์มากกว่า 5 แอมป์ ค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 จะคำนวณโดยเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ดังนี้ 

2.1 กรณีที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่มากกว่าค่าไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะได้รับการยกเว้น ซึ่งหมายความว่า ค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคม 2563 จะเท่ากับค่าไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 

2.2 กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าในเดือน มีนาคมถึงพฤษภาคม ที่มากกว่าค่าไฟฟ้าในเดือน กุมภาพันธ์ 2563 จะได้รับส่วนลดร้อยละ 50 

2.3 กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมที่มากกว่าค่าไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะได้รับส่วนลดร้อยละ 30 

ยกตัวอย่างสำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดมิเตอร์ 5 แอมป์ขึ้นไป เช่น สมมติว่านาย ก ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วยในเดือนกุมภาพันธ์แล้วในเดือนมีนาคมนาย ก ใช้ไฟฟ้า 700 หน่วย นาย ก จะเสียค่าไฟตามกรณี 2.1 ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย โดยเสียค่าไฟเท่ากับ 300 หน่วยเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนนาย ข ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วยในเดือนกุมภาพันธ์ แล้วใช้ไฟฟ้า 1,000 หน่วยในเดือนมีนาคม นาย ข จะเข้าข่ายกรณีที่ 2.2 จะต้องเสียค่าไฟเท่ากับส่วนต่างจากเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเท่ากับ 700 หน่วย โดยส่วนต่างดังกล่าวให้คิดเพียงร้อยละ 50 จึงจะได้เท่ากับ 350 หน่วย และจำนวนนี้ไปรวมกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ใช้อยู่ 300 หน่วย จะทำให้ยอดรวมนาย ข จะต้องจ่ายค่าไฟเท่ากับ 650 หน่วยในเดือนมีนาคม และนาย ค ใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 1,500 หน่วย และในเดือนมีนาคม นาย ค ใช้ไฟฟ้าไป 3,500 หน่วย จึงเข้าในกรณีที่ 2.3 ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 หน่วย ส่วนต่างจากเดือนกุมภาพันธ์จะเท่ากับ 2,000 หน่วย นำส่วนต่างดังกล่าวไปลด 30% เหลือ 1,400 หน่วย เมื่อนำไปรวมกับจำนวนยูนิตเดือนกุมภาพันธ์ จะทำให้นาย ค ต้องจ่ายไฟฟ้าในเดือนมีนาคมเท่ากับ 2,900 หน่วย 

รูปที่ 1 ได้แสดงตัวอย่างภาพรวมของประโยชน์ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสำหรับที่พักที่ใช้มิเตอร์มากกว่า 5 แอมแปร์ขึ้นไป เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าแต่ละคนที่มีการใช้ไฟฟ้าแตกต่างกันจะได้รับส่วนลดต่างกันอย่างไรภายใต้มาตรการทั้งสามและการคิดค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้าของการนโยบายไฟฟ้านครหลวง โดยสมมติให้มีผู้ใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์จำนวนยูนิตตั้งแต่ 151, 176, 201 จนไปถึง 5,001 หน่วย โดยในเดือนมีนาคม แต่ละคนใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ของเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นแต่ละคนไฟฟ้าเป็น 227, 264 302 จนไปถึง 7,502 หน่วย เมื่อนำไปคำนวณตามาตรการลดค่าไฟและวิธีการคำนวณค่าไฟแบบอัตราก้าวหน้า จะเห็นได้ว่าผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วยจะได้รับประโยชน์หรือส่วนลดในอัตราส่วนเพิ่มที่สูงที่สุด ในขณะที่ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 หน่วยขึ้นไปจะได้รับประโยชน์ในอัตราส่วนเพิ่มต่ำสุด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในเชิงปริมาณ ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วยจะได้รับส่วนลดน้อยที่สุด และผู้ที่ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 3,000 หน่วยขึ้นไปจะได้รับส่วนลด ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการคำนวณค่าไฟแบบอัตราก้าวหน้าที่ทำให้จำนวนยูนิตไฟฟ้าของกลุ่มที่ไฟฟ้าที่อยู่ในเพดานขั้นสูงจึงเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ค่อนข้างมากจากมาตรการรูปแบบนี้ 

รูปที่ 1: ส่วนลดที่จะได้รับเมื่อใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. ร้อยละ 50  

ที่มา: จากการคำนวณของผู้วิจัย 

ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนไทย 

ผู้วิจัยใช้ฐานข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2562 (Socio Economic Survey: SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยในฐานข้อมูลนี้มีข้อมูลสำคัญที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากมาตรการปรับลดค่าไฟซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูลรายได้ และข้อมูลรายจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อเดือน โดยมีหน่วยการเก็บข้อมูลคือครัวเรือน ผู้วิจัยได้กำหนดให้ความสามารถในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขึ้นอยู่กับชั้นรายได้ และเนื่องจากมาตรการลดค่าไฟนี้ใช้ฐานคำนวณจากจำนวนหน่วยไฟฟ้า ดังนั้น ผู้วิจัยจึงนำข้อมูลรายจ่ายค่าไฟมาคำนวณย้อนหลังตามการคิดค่าไฟแบบอัตราก้าวหน้าของบ้านที่อยู่อาศัยอัตรา 1.2 เพื่อหาจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ไปของแต่ละครัวเรือน  

รูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่ามีครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนน้อยกว่า 800 หน่วย มากถึงร้อยละ 99.2 ของจำนวนครัวเรือน นั่นคือ ด้วยรูปแบบของมาตรการที่ให้ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย จะสามารถจ่ายค่าไฟเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ ถ้าแต่ละครัวเรือนโดนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในเดือนถัดไปมากกว่า 800 หน่วย จึงอาจมีแนวโน้มที่สูงว่า ประโยชน์จากมาตรการนี้จะไปตกกับผู้ที่มีรายได้สูง และจากตารางที่ 1  ได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อแบ่งระดับชั้นรายได้ด้วยเดไซล์ (decile) ที่แบ่งเป็นกลุ่มของชั้นรายได้ทีละร้อยละ 10 ครัวเรือนที่มีรายได้ที่สูงจะมีแนวโน้มที่จะใช้ไฟฟ้าต่อเดือนสูงด้วยเช่นเดียวกัน และโดยเฉลี่ยแล้วกลุ่มชั้นรายได้ที่สูงตั้งแต่ระดับที่ 8 ถึง 10 ที่มีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ก็ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเกิน 400 หน่วย ดังนั้น ภายใต้มาตรการที่หนึ่ง ครัวเรือนที่มีรายได้สูงที่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วย จึงมีแนวโน้มสูงที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมากกว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 

ตารางที่ 1: จำนวนหน่วยไฟฟ้าบริโภคที่แบ่งตามระดับชั้นรายได้ของครัวเรือน 

กลุ่มประชากรตามระดับรายได้ รายได้เฉลี่ย (บาท)  จำนวนไฟฟ้าต่อเดือนเฉลี่ย (หน่วย) ค่าไฟต่อเดือนเฉลี่ย (บาท) 
กลุ่ม 10% ที่ 1 (จนที่สุด)           5,218  48 162  
กลุ่ม 10% ที่ 2         8,494  70 240  
กลุ่ม 10% ที่ 3          11,012  84 293  
กลุ่ม 10% ที่ 4          13,566  104 377  
กลุ่ม 10% ที่ 5           16,503  122 435  
กลุ่ม 10% ที่ 6          20,026  140 494  
กลุ่ม 10% ที่ 7          24,626  169 650  
กลุ่ม 10% ที่ 8           31,217  204 808  
กลุ่ม 10% ที่ 9          42,262  262 1,067  
กลุ่ม 10% ที่ 10 (รวยที่สุด)          87,983  370 1,556  
รวมเฉลี่ย 24,948 151 608 

ที่มา: การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2562 และการคำนวณของผู้วิจัย 

รูปที่ 2: สัดส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากกว่าและน้อยกว่า 800 หน่วย 

ที่มา: การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2562 และการคำนวณของผู้วิจัย 

การกระจายของผลประโยชน์จากมาตรการปรับลดค่าไฟ 

สำหรับผลประโยชน์จากมาตรการปรับลดค่าไฟ ผู้วิจัยคำนวณจากการใช้ฐานข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2562 โดยได้วางข้อสมมติไว้คือ กำหนดให้ข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากฐานข้อมูลนี้เป็นจำนวนการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563  ข้อสมมติต่อมาคือกำหนดให้ความยืดหยุ่นการใช้ไฟฟ้าต่อราคาหรือการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้ไฟ้ฟ้าต่อการเปลี่ยนของระดับราคาของแต่ละกลุ่มชั้นรายได้เป็นความยืดหยุ่นในสถานการณ์ปกติซึ่งจะไปใช้เป็นตัวคำนวณหาปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 2564 นั่นคือ ถ้าครัวเรือนหนึ่งที่อยู่ชั้นรายได้เดไซล์ที่ 3 ใช้ไฟฟ้า 200 หน่วย การคำนวณการเปลี่ยนแปลงของการใช้ไฟฟ้าจะอาศัยค่าความยืดหยุ่นที่คำนวณได้มาเป็นตัวกำหนดว่าครัวเรือนนั้นจะใช้ไฟฟ้าเท่าใดในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ค่าความยืดหยุ่นของแต่ละเดไซล์ของรายได้ที่ผู้วิจัยคำนวณมากได้มีความสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Apaitan and Wibulpolprasert (2018) ที่พบว่าผู้มีรายได้สูงมักมีความอ่อนไหวต่อราคาน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่า เมื่อได้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเดือนมีนาคมตามมข้อสมมติดังกล่าวมาแล้ว ต่อไปจึงสามารถคำนวณหาส่วนลดหรือผลประโยชน์จากมาตรการของแต่ละครัวเรือนได้ด้วยการเปรียบความแตกต่างระหว่างค่าใช้จ่ายตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าปกติกับค่าใช้จ่ายไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยตามวิธีการคิดของมาตรการปรับลดค่าไฟฟ้า 

จากการคำนวณดังกล่าวสามารถแจกแจงได้ว่าแต่ละครัวเรือนจะได้รับส่วนลดจากมาตรการไปเท่าใด ขั้นต่อไปคือการการคำนวณโดยแบ่งแยกตามชั้นรายได้ของเดไซล์ทั้ง 10 ซึ่งสามารถแสดงสัดส่วนส่วนลดหรือผลประโยชน์ที่ได้ตามชั้นรายได้ดังรูปที่ 3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าด้วยข้อสมมติและวิธีการคำนวณดังกล่าว กลุ่มครัวเรือนชั้นรายได้ที่ 7 ถึง 10 จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการไปครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด ดังนั้น มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มเข้าข่ายที่จะเป็นมาตรการเหลื่อมล้ำที่จัดสรรงบประมาณที่จำกัดไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนักด้วยการนำทรัพยากรประมาณครึ่งหนึ่งที่มีไปช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่มีแนวโน้มที่จะความสามารถในการรับมือกับสภาพปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีกว่ากลุ่มอื่นโดยเปรียบเทียบ ทั้งนี้ การคำนวณดังกล่าวยังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบจากการมาตรล็อกดาวน์ที่ให้ประชาชนลดการเดินทางและทำงานอยู่ที่พักอาศัยของตน ซึ่งถ้ากลุ่มชั้นรายได้น้อยมีความจำเป็นในการทำงานนอกสถานที่มากกว่าและความสามารถในการเพิ่มปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า ซึ่งอาจมีสาเหตุที่เป็นไปได้คือครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมักจะถือครองเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทฟุ่มเฟือยได้น้อยกว่า1 ก็จะยิ่งทำให้มาตรการนี้มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเนื่องจากกลุ่มครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยกว่าหรือมีความสามารถในการรองรับสถานการณ์โควิด-19 น้อยกว่า เพิ่มปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเดือนเมษายนจนถึงพฤษภาคมได้น้อยกว่ากลุ่มผู้มีรายได้สูง ทำให้ผลประโยชน์ยิ่งไปตกกับผู้มีรายได้สูงมากขึ้น  

รูปที่: 3 สัดส่วนของผลประโยชน์จากมาตรการที่แต่กลุ่มชั้นรายได้ 

ที่มา: การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2562 และการคำนวณของผู้วิจัย 

การอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ 

ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดภายใต้ภาวะวิกฤติที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ถ้างบประมาณไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือได้ทุกคน การออกมาตรการที่มีประสิทธิภาพจึงต้องเน้นช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหามากที่สุดก่อนเป็นลำดับไล่ลงมา แต่ด้วยมาตรการปรับลดค่าไฟฟ้าสำหรับเฉพาะที่อยู่อาศัยด้วยงบประมาณกว่า 23,000 ล้านบาท ที่มีแนวโน้มจะให้ประโยชน์กลุ่มผู้มีรายได้สูงประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด การดำเนินมาตรการลดค่าไฟด้วยวิธีดังกล่าวจึงไม่มีประสิทธิภาพมากนักภายใต้สถานการณ์วิกฤติและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด 

ดังนั้น การพิจารณาทางเลือกอื่นสำหรับการดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าจึงเป็นสิ่งที่ควรนำมาเป็นประเด็นพิจารณษ ทางผู้วิจัยมีแนวทางเสนอเพื่อเป็นทางเลือกทั้งหมด 2 แนวทาง ดังนี้ 

แนวทางที่ 1 ถ้าภาครัฐมั่นใจในความสามารถในการระบุตัวผู้ประสบปัญหาจากปัญหาโควิด-19 ได้และสามารถกระจายผลประโยชน์ที่ครอบคลุมประชาชนกลุ่มเหล่านี้ได้ทั้งหมด ภาครัฐสามารถกำหนดวงเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายได้ไฟฟ้าสำหรับประชาชนกลุ่มนี้ซึ่งแน่นอนว่าตรงกลุ่มและกำหนดงบประมาณให้อยู่ในกรอบงบประมาณได้อิสระตามความต้องการ ทั้งนี้ อาจกำหนดได้ต่ำกว่า 23,000 ล้านบาท เพื่อจะได้นำส่วนที่เหลือไปช่วยเหลือประชาชนในมิติอื่นๆ ได้อีก โดยสามารถดำเนินการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือเพิ่มช่องทางอื่นๆ ตามความเหมาะสม  

แนวทางที่ 2 ถ้าภาครัฐไม่มั่นใจว่าจะสามารถระบุผู้ประสบปัญหาจากโควิด-19 ได้มีประสิทธิภาพมากนัก ภาครัฐอาจใช้แนวทางมาตรการปรับลดค่าไฟเดิม แต่ควรพิจารณาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางประการดังนี้  

(1) ควรกำหนดให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการปรับลดค่าไฟมีเฉพาะผู้ที่ใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 ไม่เกิน 800 หน่วย เนื่องจากเป็นจำนวนที่ครอบคลุมประชาชนกว่าร้อยละ 99 ซึ่งประชาชนกลุ่มที่เหลือที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วย จากข้อค้นพบ มักมีแนวโน้มที่จะมีรายได้สูงมากพอที่จะรองรับกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19  

(2)  ควรปรับผลประโยชน์สำหรับผู้ที่มีที่อยู่อยู่อาศัยที่ใช้มิเตอร์มากกว่า 5 แอมป์ใหม่ ด้วยการปรับตามขั้นเพดานให้สอดคล้องตามวิธีคำนวณแบบ 1.2 ของการไฟฟ้านครหลวงที่มีเพดานอัตราก้าวหน้าอยู่ที่ 150 หน่วย 250 หน่วย และ 400 หน่วย ดังนี้  

(ก) กรณีที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 400 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่มากกว่าค่าไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะได้รับการยกเว้น ซึ่งหมายความว่า ค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคม 2563 จะเท่ากับค่าไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563  

(ข) กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 400 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 800 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าในเดือน มีนาคมคมถึงพฤษภาคม ที่มากกว่าค่าไฟฟ้าในเดือน กุมภาพันธ์ 2563 จะได้รับส่วนลดร้อยละ 50 

(ค) กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ที่มากกว่าค่าไฟฟ้าในเดือน กุมภาพันธ์ 2563 จะได้รับส่วนลดร้อยละ 30 

แนวทางดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสามารถช่วยลดการช่วยเหลือที่มีรายได้สูงอยู่แล้วและช่วยลดจำนวนงบประมาณที่สามารถนำส่วนที่เหลือไปขยายเวลาการลดค่าไฟฟ้าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้นและไม่สามารถเปิดประเทศให้เศรษฐกิจกลับมาขยับได้ดังเดิม หรือแม้กระทั่งสามารถจัดสรรทรัพยากรส่วนที่เหลือไปใช้อุดหนุนการใช้ไฟฟ้าของประชาชนส่วนอื่น เช่น การนำงบประมาณไปช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกิจการนอกเหนือจากที่อยู่อาศัย เช่น กลุ่มประกอบการเกษตรที่มักใช้ไฟฟ้าในการสูบน้ำ ผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังต้องดำเนินกิจการอยู่ภายใต้ภาวะวิกฤตินี้ หรือสามารถนำไปใช้เป็นทรัพยากรสำหรับโครงอื่นๆ  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Tosapol Apaitan & Wichsinee Wibulpolprasert. (2018). “Stylized Facts on Thailand’s Residential Electricity Consumption: Evidence from the Provincial Electricity Authority.” PIER Discussion Papers 107, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research. 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

(*ชื่อบทความเดิม: วิเคราะห์มาตรการลดค่าไฟ)

โดย คณะวิจัย TDRI
15 เมษายน 2563