วิเคราะห์โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

วิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบโนตรงต่อเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ ซึ่งโดยทั่วไปที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ภาคเกษตรมักเป็นที่รองรับผู้ที่ไม่มีงานทำ คนที่ตกงานและกลับบ้านไปหาเลี้ยงชีพด้วยวิถีการเกษตร 

อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตรเช่นเดียวกัน จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านการตลาด ราคาผลผลิตตกต่ำ ส่งผลให้รายได้ลดลง โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศถูกปิดตัวลง ทำให้ราคาผลผลิตลดต่ำลง อีกทั้งช่องทางการขนส่งเกิดความติดขัดและล่าช้า จากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามเดินทางข้ามพื้นที่ตอนกลางคืน เกษตรกรบางรายที่มีบริการขนส่งสินค้าด้วยตนเองก็ต้องหยุดการขนส่ง ทั้งเนื่องจากการห้ามเดินทางและความกังวลเรื่องโอกาสที่จะติดเชื้อโควิด-19 เมื่อผลผลิตที่ออกมาขายได้น้อย ผลผลิตจึงเกิดการเน่าเสีย 

ในส่วนของแรงงานคืนถิ่น ที่แรงงานตกงานจากภาคการผลิตและภาคบริการ กลับสู่ภูมิลำเนาของตน ในช่วงแรกพบว่า แรงงานคืนถิ่นสามารถกลับไปช่วยทำการเกษตรในครัวเรือนของตนเองได้ อย่างไรก็ดี จากการสำรวจพบว่า แรงงานคืนถิ่น ส่วนใหญ่จะมีทักษะความสามารถด้านการเกษตรต่ำ เนื่องจากเมื่อเรียนจบการศึกษาก็จะออกจากชุมชนไปหางานทำทันที จึงไม่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการเกษตรมากนัก ส่งผลให้ Productivity ในการทำเกษตรของครัวเรือนลดลง ขณะที่ในบางราย อาจกลับไปเป็นภาระทางเศรษฐกิจของครัวเรือน 

ปัจจุบัน ในครัวเรือนเกษตร รุ่นพ่อแม่แม้จะมีอายุมากขึ้นก็ยังคงทำอาชีพเกษตรกรรมอยู่ โดยอาจจะปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรโดยการจ้างมากขึ้น ขณะที่รุ่นลูกออกไปทำงานนอกพื้นที่ เพื่อส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว นับเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านอาชีพของคนในครัวเรือน และจากข้อมูลสำนักวิจัยเศรษฐกิจ พบว่า รายได้ครัวเรือนเกษตรกรมากกว่าร้อยละ 70 มาจากผู้ที่ออกจากบ้านไปทำงานนอกภาคเกษตรและส่งเงินกลับมายังครัวเรือน เนื่องจากการทำงานในภาคนอกเกษตรสามารถสร้างรายได้โดยเฉลี่ยได้สูงกว่าการทำงานในภาคเกษตร ดังนั้น เมื่อผู้ที่ตกงานไม่สามารถส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวได้ จึงทำให้รายได้ในครัวเรือนเกษตรลดลง และค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น 

ตารางที่ 1: รายได้-รายจ่าย และหนี้สินของครัวเรือนเกษตร 

                                                                                                     หน่วย : บาท/ครัวเรือน 

รายการ ปี 2560 ปี 2561 ปี 2562 
1. รายได้เงินสดเกษตร 160,932 197,373 204,066 
2. รายจ่ายเงินสดเกษตร 101,957 122,890 125,462 
3. รายได้เงินสดสุทธิเกษตร (1-2) 58,975 74,483 78,604 
4. รายได้เงินสดนอกเกษตร 148,346 172,667 190,845 
5. รายได้เงินสดสุทธิครัวเรือน (3+4) 207,321 247,150 269,449 
6. การอุปโภค-บริโภค 141,221 175,094 182,034 
7. เงินสดคงเหลือก่อนชำระหนี้ (5-6) 66,100 72,056 87,414 
8. หนี้สินครัวเรือน (บาท/ครัวเรือน) 123,454 150,636 221,490 
    8.1 ในเกษตร (ร้อยละ) 54.96 56.90 55.44 
    8.2 นอกเกษตร (ร้อยละ) 45.04 43.10 44.56 
         – เพื่อการศึกษา (ร้อยละ) 4.62 4.75 5.23 
         – เพื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ) 31.66 36.98 25.87 
         – บ้าน/ที่ดิน/ทรัพย์สินอื่นๆ นอกเกษตร (ร้อยละ) 63.72 58.27 68.91 
               รวม (ร้อยละ) 100.00 100.00 100.00 

ที่มา: สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร 

โครงการช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 15,000 บาทต่อ 3 เดือน เมื่อรวมกับการเยียวยาผู้ตกงาน อาจจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่หากสถานการณ์โควิด-19 กลายเป็นปัญหาระยะยาวแล้ว ผู้คืนถิ่นไม่สามารถกลับไปทำงานนอกภาคเกษตรเพื่อหารายได้ได้เหมือนเดิม ครัวเรือนเกษตรซึ่งไม่สามารถแบกรับผู้คืนถิ่นได้นาน จะเป็นการยิ่งซ้ำเติมครัวเรือนเกษตรให้แย่ลงกว่าเดิม 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI
22 เมษายน 2563