จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศต่างๆ มีมาตรการจำกัดการเดินทางทั้งภายในและระหว่างประเทศและการขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค UNWTO ได้คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะลดลงร้อยละ 60-80 ในปี 2563 การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยโดยในปี 2560 มูลค่า Tourism direct GDP และ Tourism indirect GDP มีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 17.65 ของประเทศ1
ด้านรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยในปี 2562 มีสัดส่วนเท่ากับ ร้อยละ 61.03 สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยเป็นอย่างมากเช่นกัน จากการประมาณการณ์ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 52,251,012 คน ซึ่งลดลงจากจำนวน 79,911,327 คน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 34.61
โดยในเดือนมีนาคมมีอัตราการลดลงมากที่สุด คือ ร้อยละ 71.38 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมในปี 2562 จึงทำให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 เท่ากับ 465,795.57 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากจำนวน 772,525.96 ล้านบาทในใตรมาสที่ 1 ของปี 2562 หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 39.70 โดยเดือนมีนาคมมีอัตราลดลงมากที่สุดเช่นกัน คือ ร้อยละ 78.04
ตารางที่ 1: จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 และ 2563
ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (2563)
เมื่อพิจารณารายจังหวัด พบว่า กรุงเทพมหานคร มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 มีรายได้เท่ากับ 145,154.92 ล้านบาทซึ่งลดลงจาก 246,610.45 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 41.14 รองลงมา คือ ภูเก็ต มีรายได้จากการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 เท่ากับ 99,871.71 ล้านบาทซึ่งลดลงจาก 169,746.58 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 41.16 และอันดับที่ 3 คือ ชลบุรี มีรายได้จากการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 เท่ากับ 44,098.22 ล้านบาทซึ่งลดลงจาก 80,378.00 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 45.13 โดยเป็นจังหวัดที่มีอัตราการลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยวสูงที่สุด
ตารางที่ 2: รายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัด 3 ลำดับแรก ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 และ 2563 (หน่วย: ล้านบาท)
ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (2563)
แต่หากพิจารณาสัดส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด2 (ปี 2561) พบว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนอยู่ในระดับสูงจำนวน 9 จังหวัดประกอบด้วย ภูเก็ต (ร้อยละ 191.90) กระบี่ (ร้อยละ 132.87) พังงา (ร้อยละ 66.27) สุราษฎร์ธานี (ร้อยละ 45.55) ประจวบคีรีขันธ์ (ร้อยละ 45.13) ตราด (ร้อยละ 44.82) เพชรบุรี (ร้อยละ 43.83) เชียงใหม่ (ร้อยละ 43.42) และแม่ฮ่องสอน (ร้อยละ 38) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจังหวัดดังกล่าวเป็นจังหวัดที่มีการพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวในระดับสูง จึงอาจพิจารณาได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีความเปราะบางทางด้านการท่องเที่ยว หากพิจารณาโครงสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2562 ของทั้ง 9 จังหวัดข้างต้น พบว่า ภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนเท่ากับ ร้อยละ 88.90, 81.90, 82.55 และ 66.28 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 พบว่า ในเดือนมีนาคมทั้ง 4 จังหวัดมีอัตราการลดลงของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในระดับที่สูงมาก โดยจังหวัดพังงามีอัตราการลดลงที่มากที่สุด คือ ร้อยละ 92.69 จึงอาจพิจารณาได้ว่าจังหวัดในกลุ่มนี้เป็นจังหวัดที่มีความเปราะบางด้านการท่องเที่ยวมากที่สุด
ตารางที่ 3: อัตราการเปลี่ยนแปลงรายได้จากการท่องเที่ยวจำแนกตามประเภทนักท่องเที่ยวของ 4 จังหวัดในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563
ที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (2563)
ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีการผ่อนคลายมาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ระยะที่ 1 ในต้นเดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวของประเทศ โดยการผ่อนปรนให้ธุรกิจหรือกิจการบางประเภทเปิดดำเนินการได้โดยมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามที่รัฐบาลกำหนด แต่สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากประเทศต่างๆ ยังคงมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ผู้บริโภคยังคงขาดความมั่นใจจึงยังไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยว รวมทั้งการรักษาระยะห่างทางสังคมซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว ดังนั้น จังหวัดที่มีการพึ่งพิงการท่องเที่ยวสูงจึงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างมากต่อไปถึงแม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการแล้วก็ตาม รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับจังหวัดเปราะบางด้านการท่องเที่ยวโดยมีการออกมาตรการช่วยเหลือเยี่ยวยาจังหวัดเหล่านี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการทั่วไปที่ใช้กับทุกจังหวัดเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งกับภาคธุรกิจและภาคประชาชน
มาตรการช่วยเหลืออาจแบ่งเป็นมาตรการในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นรัฐบาลสามารถพิจารณามาตรการต่างๆ ที่เป็นการช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนี้
- ภาคประชาชน: มาตรการเงินเยียวยาแก่ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือตกงานในธุรกิจท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากโควิด-19
- ภาคธุรกิจ: มาตรการช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่องแก่ธุรกิจท่องเที่ยว เช่น การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือการพักชำระหนี้ เป็นต้น การผ่อนผันการชำระภาษีหรือการจ่ายเงินสมทบสวัสดิการต่างๆ
สำหรับในระยะยาวนั้นรัฐบาลอาจพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยการผ่อนปรนมาตรการจำกัดการเดินทางทั้งในส่วนการเดินทางข้ามจังหวัดและการเดินทางข้ามประเทศ รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาท่องเที่ยวอีกครั้งโดยเริ่มจากนักท่องเที่ยวภายในประเทศซึ่งอาจต้องให้ความดูแลกลุ่มจังหวัดที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นพิเศษ จากนั้นจึงขยายไปยังนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น ระบบการคัดกรองที่น่าเชื่อถือ การกำหนดคุณสมบัติหรือเงื่อนไขในการเดินทางระหว่างประเทศ การแนะนำแนวทางปฎิบัติในการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 ทั้งในส่วนของนักเดินทางและผู้ประกอบการ เป็นต้น
นอกไปจากนั้น ในช่วงที่การท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับต่ำ รัฐบาลอาจพิจารณาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้อันนำไปสู่การท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวของไทยกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติอีกครั้ง เพื่อให้ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1 ที่มา: รายงานการจัดทําบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวฉบับสมบูรณ์ โดยสํานักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
2 รายได้จากการท่องเที่ยว ใช้ข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาซึ่งเป็นการคำนวณจากทางด้านรายจ่าย คือ ผลคูณของจำนวนนักท่องเที่ยว วันพักเฉลี่ยและค่าใช้จ่ายเฉลี่ย ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด ใช้ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ๋งเป็นการคำนวณด้านการผลิตในรูปมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น สัดส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัดจึงอาจมีค่ามากกว่าร้อยละ 100
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดย ผศ.ดร. ปิยะพรรณ ช่างวัฒนชัย และทีมวิจัย