การดำเนินธุรกิจที่ไร้จริยธรรมและปราศจากความยั่งยืน: การปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการตลอดจนการกักตุนสินค้าในสถานการณ์วิกฤติโรคระบาด

ในสถานการณ์โควิคที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ผลกระทบหนึ่งที่เกิดขึ้นในกับเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ ความปั่นป่วนในห่วงโซ่อุปทานทั้งในแง่การผลิตและการจัดจำหน่าย และในขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งของฝั่งผู้บริโภค ความต้องการตลอดจนกำลังซื้อของผู้บริโภคก็มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป สินค้าบางอย่าง (หน้ากาก เจลล้างมือ กระดาษชำระเป็นต้น) กลายเป็นสินค้าที่เข้าถึง หาได้ยาก แต่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเป็นเพราะการผลิตที่ไม่เพียงพอ เนื่องมาจากหลายโรงงานต้องปิดตัวลงเพราะพิษโควิด หรือการจัดจำหน่ายก็มีปัญหาเพราะมาตรการการจำกัดสินค้าในตลาด ส่งผลให้สถานประกอบกิจการบางรายอาจจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการที่จะเอารัดเอาเปรียบทางการค้า เช่น การปรับขึ้นราคาสินค้าหรือค่าธรรมเนียมในการให้บริการต่างๆ ทั้งนี้ การกำหนดปรับราคาในสินค้าและบริการในสถานการณ์โรคระบาดนี้น่าคิดว่า เป็นไปเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หรือเป็นการเอารัดเอาเปรียบอย่างไร้จริยธรรมทางธุรกิจกันแน่ ซึ่งหากเป็นในกรณีหลัง ย่อมเป็นพฤติกรรมที่จะต้องมีการตรวจสอบและระงับไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อป้องปรามไม่ให้ตลาดมีความผันผวนจากการกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรมมากขึ้นไปอีก บทความชิ้นนี้มุ่งหมายที่จะเชื่อมโยงสถานการณ์ที่วิกฤติ และนำมาซึ่งการเพิ่มราคาของสินค้าและบริการอย่างเอารัดเอาเปรียบ และจะทำอย่างไรให้การแข่งขันทางการค้าตลอดจนหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเข้ามาดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการผู้บริโภคได้เปิดเผยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิคในประเทศไทยนั้น พบว่า ผู้บริโภคประสบปัญหาร้านทองบางแห่งมีการรับซื้อทองในราคาที่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบขาดทุนเป็นจำนวนหลายพันบาท เนื่องจากผู้บริโภคหลายรายต้องนำทองไปขายเพราะขาดรายได้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด หรือ กรณีล่าสุดที่แพลตฟอร์มให้บริการรับส่งออนไลน์ประกาศเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมการใช้แอพพลิเคชั่นจากลูกค้าที่ใช้บริการโดยที่ไม่ได้อธิบายถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นราคาอันเป็นส่วนหนึ่งของการปรับยุทธศาสตร์ด้านราคาของบริษัทหรือการลงทุนที่ตอบรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เรื่องดังกล่าวหากเกิดขึ้นกับธุรกิจสาขาต่างๆ จะสร้างความลำบากซ้ำซ้อนให้กับประชาชนเป็นวงกว้างอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ยังมีอีกหลายกรณีที่สามารถนำมาหยิบยกให้เห็นว่าผู้ประกอบหาผลประโยชน์กับประชาชนในห้วงเวลาที่ยากลำบากโดยไม่สนว่าระบบเศรษฐกิจและสังคมกำลังถูกทำลายอยู่หรือไม่  

ทั้งนี้ เพื่อป้องปรามการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการ รัฐบาลพึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าราคาสินค้าและบริการบางอย่างไม่สูงเกินไป โดยรูปแบบหนึ่งที่รัฐจะนำมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปรับขึ้นราคาที่สูงเกินไป คือ การบังคับให้ราคาที่เรียกเก็บในตลาดต้องไม่เกินไปมูลค่าที่รัฐกำหนด โดยจะเรียกรูปแบบนี้เรียกว่า เพดานราคา ซึ่งเป็นราคาที่กฎหมายจะกำหนดไม่ให้เกินไปกว่านี้ในสินค้าและบริการที่ต้องควบคุม หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวสะท้อนการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดอย่างแท้จริงหรือไม่ เนื่องจากการตั้งเพดานราคา ในอีกแง่หนึ่งก็อาจจะเป็นการทวีปัญหาความขาดแคลนสินค้าที่จำเป็นต้องใช้อุปโภคบริโภคมากกว่าเดิมก็เป็นได้ ยกตัวอย่าง กรณีชุมชนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางธรรมชาติจนบ้านเรือนได้รับความเสียหายอย่างหนัก และต้องทำการซ่อมแซมโดยจะต้องใช้ไม้อัดเป็นจำนวนมาก ทำให้ความต้องการมีสูง และส่งผลต่อราคาไม้อัด และเมื่อชาวเมืองไม่พอใจออกมาเรียกร้องให้รัฐตั้งเพดานราคาไม้อัดขึ้น แน่นอนว่าผู้ขายและซัพพลายเออร์ย่อมไม่อาจที่จะขายไม้อัดเกินกว่าราคาที่กำหนดเอาไว้ และไม่เกิดแรงจูงใจที่จะขายไม้อัดให้กับชุมชนนี้ด้วยเช่นกันเนื่องจากอัตรากำไรลดลง จึงเลือกที่จะขายไม้อัดให้เมืองอื่นที่ให้ราคาที่ดีกว่า ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนไม้อัดในเมืองที่ได้รับผลกระทบตามมา เพราะการสร้างกลไกเพดานราคาผ่านกฎหมายจะเป็นการบิดเบือนกลไกราคานั่นเอง 

นี่จึงเป็นเหตุให้ นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มมองว่า ในช่วงสถานการณ์ที่วิกฤติ การขึ้นราคาของสินค้าและบริการไม่ใช่ปัญหา ทว่าเป็นการสะท้อนความต้องการที่แท้จริงนำมาซึ่งการจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้กับผู้ที่ต้องการสูงสุดและจำเป็นต้องใช้จริงๆ ต่างหาก นอกจากนี้ ยิ่งมีการกำหนดราคาให้สูงขึ้นย่อมเป็นการสร้างแรงจูงใจที่อยากจะขายให้กับผู้ขาย และจะสรรหาแนวทางต่างๆ ในการเพิ่มมูลค่าการขาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิต การนำเข้า การตุนสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในระยะเวลาอันรวดเร็วได้ จากตัวอย่างข้างต้น หากชุมชนได้ซื้อไม้อัดในราคาที่สูงและกำหนดราคาโดยเสรีของผู้ขาย ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าจะได้ไม้อัดจะถูกส่งมายังชุมชนในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการเพื่อให้มีที่อยู่อาศัยได้โดยเร็ว มากกว่าจะได้ไม้อัดในราคาที่รัฐกำหนด แต่ไม่มีไม้อัดนำไปสร้างบ้านเรือน เนื่องจากไม่มีใครอยากขายให้  

อย่างไรก็ตาม รูปแบบดังกล่าวไม่ได้สะท้อนว่า ชุมชนนั้นเมื่อต้องเผชิญกับภาวะที่วิกฤติจะมีศักยภาพในการฟื้นฟูเยียวยาตนเอง หรือมีงบประมาณในการจัดซื้อทรัพยากรที่จำเป็นได้เสมอไป การที่ต้องประสบกับภาวะทุกข์ยากจากภัยธรรมชาติ แล้วยังมาด้ำพลอยจากการขายไม้อัดที่มีราคาสูง เป็นการขาดมนุษยธรรม และจิตสำนึกของผู้ค้าจนเกินไปหรือไม่ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนฐานที่ว่าผู้ซื้อในราคาสูงสุดย่อมได้ไปในสินค้าสะท้อนว่าความยุติธรรมทางสังคมกำลังถูกมองข้ามหรือไม่ มูลค่าชีวิตของแต่ละคนกำลังถูกตีราคาผ่านความมั่นคั่งทางรายได้และกำลังซื้อหรือไม่ และภาวการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าภาคเอกชน ไม่ได้ตะหนักว่าการสร้างกำไรและแรงจูงใจทางการค้านี้เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ซื้อที่ไม่ควรจะเป็นที่ยอมรับได้ และหากปล่อยให้ดำเนินการโดยไม่มีมาตรการมากำกับดูแลเสียเลย ผู้บริโภคจะกลายเป็นเหยื่อที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร ในขณะเดียวกัน การค้าที่ขาดจิตสำนึกด้วยการขูดรีดท่ามกลางวิกฤต แม้ว่าจะสร้างกำไรมหาศาล แต่ก็อาจจะเป็นผลกำไรในระยะสั้นที่ต้องแลกกับราคาที่ต้องจ่ายด้วยชื่อเสียงและความไว้วางใจของผู้ซื้อ นำมาซึ่งการรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าและบริการของผู้ค้าในระยะยาวก็เป็นได้ เหมือนเช่น  หรือ กรณี Amazon ทำการถอดสินค้าด้านสุขภาพหลายแสนรายการในช่วงโควิดที่มีการตรวจพบว่ามีการขึ้นราคาจากผู้ขายที่ไร้ศีลธรรมเช่นกัน1 บทเรียนดังกล่าวทำให้หลายผู้ค้าจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง 

นี่จึงเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรที่รัฐพึงจะต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่เป็นการแทรกแซงจนเข้าไปทำลายกลไกราคาของสินค้า และในขณะเดียวกันเมื่อเป็นทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดจะกระจายสินค้านั้นอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมทั้งผู้ที่มีกำลังซื้อที่เข้มแข็ง และผู้ซื้อที่มีกำลังที่ด้อยกว่า ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเองก็ควรที่จะต้องปรบเปลี่ยนทัศนคตที่ว่าสถานการณ์ที่ยากลำบากในสังคมไม่ใช่โอกาสทองของตนในการได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางกำไร มิฉะนั้นอาจจะเป็นดาบสองคมให้กับธุรกิจของตนในระยะยาวได้หากผู้บริโภคร่วมใจไม่ซื้อสินค้าของตน ดังนั้น ธุรกิจจึงพึงระลึกว่า กลยุทธ์ทางด้านราคาจะส่งผลกระทบกับลูกค้าในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้อย่างไรอันเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจของตน และด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจึงยิ่งต้องคำนึงถึงความยั่งยืนเพราะหากธุรกิจไม่อาจรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ได้ การดำเนินธุรกิจก็คงจะอยู่ไปได้ไม่รอดเช่นกัน  

ข้อเสนอหนึ่งที่อาจจะช่วยบรรเทาสถานการณ์การปรับขึ้นของราคาให้ดีขึ้น ก็คือ การให้รัฐบาลเป็นผู้สร้างแรงจูงใจ กล่าวคือ แทนที่จะให้ผู้ประกอบการไปเก็งกำไรเอาจากประชาชน ภาครัฐควรหารือกับภาคเอกชนถึงความเป็นไปได้ในการเข้ามาอุดหนุนและสร้างแรงจูงใจโดยอาจจะเป็นผู้ชำระส่วนต่างแทนประชาชนในระยะสั้นถึงระยะกลางไปก่อน หรืองดเว้นภาษีในสินค้าบางประเภทเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการไม่ขึ้นราคา ในขณะที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องรับภาระเพิ่มเติมในห้วงยามวิกฤต  

นอกจากประเด็นเรื่องการปรับราคาสินค้าและบริการแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน นั่นก็คือ การกักตุนสินค้านั่นเอง ในหลายๆ กรณีเราจะพบว่าหากสินค้าเป็นที่ต้องการอย่างมากเพราะภาวะตื่นตูมของผู้บริโภคที่ทุ่มซื้อจนเกินความเพียงพอและทำให้สินค้าขาดแคลน นำมาซึ่งอุปทานหมู่ ซึ่งภาวะที่แห่ซื้อสินค้าแบบสุดโต่งนี้อาจจะเป็นผลมาจากการที่ประชาชนได้รับข้อมูลคนละชุดที่ขัดแย้งกัน เนื่องจากโรคโควิด19 เป็นโรคใหม่ที่ไม่มีใครเคยรู้จัก และเมื่อประชาชนได้รับทราบระดับความเสี่ยงของโรคและระดับการเตรียมพร้อมรับมือที่ควรจะทำที่ไม่ตรงกัน ทั้งจากภาครัฐ สื่อออฟไลน์และออนไลน์ต่างๆ จนเกิดความสับสนและแก้ปัญหาด้วยการซื้อเสบียงตุนเอาไว้แบบสุดโต่ง พฤติการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐยังคงมีข้อจำกัดในการวางกรอบการให้ข้อมูลรวมไปถึงวิธีการการรับมือที่ชัดเจน อีกทั้งในฟากผู้ซื้อเองก็มีทัศนคติที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ซึ่งเป็นวิถีธรรมชาติของมนุษย์ที่จะรอดชีวิต จากปัจจัยทั้งหมดทั้งหมดก็เลยทำให้ผู้ประกอบการบางรายอาจจะลดกำลังการผลิตหรือสงวนเอาไว้ไม่ขายจนกว่าราคาจะไต่ไปจนถึงระดับที่ตนต้องการจะขายเสียก่อน พฤติการณ์ดังกล่าวมีเจตนาโดยไม่สุจริตและขัดต่อจริยธรรมของผู้ขายซึ่งจะต้องได้รับการลงโทษ  

สำหรับข้อเสนอแนะเรื่องการกักตุนสินค้านั้น รัฐจะต้องสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับการรับมือสถานการณืโรคระบาดนี้ โดยจะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันกับประชาชนในทุกๆ พื้นที่ ข้อมูล ความโปร่งใสในการดำเนินการแก้ไข ความชัดเจน คำมั่นสัญญาของรัฐเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชนในการที่จะลดความตื่นตระหนกและไม่กักตุนสินค้าจนทำให้เกิดความขาดแคลน นอกจากนี้ รัฐพึงขอความร่วมมือจากสื่อต่างๆ ในการนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นการสร้างความแตกตื่น เช่น การนำเสนอชั้นวางสินค้าที่ปราศจากสินค้าในร้านค้าต่างๆ รวมไปถึงการเฝ้าระวังข่าวที่ไม่เป็นจริง เช่น fake news นอกจากนี้ รัฐพึงขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการจำกัดจำนวนการซื้อสินค้าที่คาดว่าจะมีการกักตุนโดยประชาชน และหากรัฐได้รับทราบถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนของผู้ขายโดยมีพฤติกรรมที่ไม่สุจริตรัฐก็ควรที่จะดำเนินการลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และเพื่อให้ผู้ขายเกิดความเกรงกลัว รัฐอาจจะพิจารณาบทลงโทษให้เชื่อมโยงกับฐานความผิดอื่นๆ ประกอบกัน เช่น ความผิดฐานฟอกเงินโดยนำเงินที่ได้จากการขายสินค้าที่กักตุนไปแปลงรูปเป็นอย่างอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด หรือมีการกระทำความผิดในรูปแบบองค์กรอาชญากรรม (แล้วแต่กรณี) ทำให้บทลงโทษมีลักษณะที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น  

หากมีการแห่กักตุนโดยผู้ซื้อ ผู้ประกอบการพึงให้ความสำคัญกับความรวดเร็วในการปฏิบัติและวิสัยทัศน์ในการคาดการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยในส่วนแรก ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของตนว่ามีใครบ้างเพื่อให้การวางแผนและการผลิตทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยลดกระบวนการที่ใช้เวลา และเน้นไปที่การทำงานที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ควรมีลำดับขั้นตอนในกระบวนการตัดสินใจหลายชั้น และควรมีกรอบการทำงานไว้อย่างชัดเจนผ่านการสื่อสาร การทำงาน และการวางแผนร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบ ตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อไปจนถึงการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า เช่นนี้ ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทานก็จะรู้หน้าที่ของตนเองและทำงานให้เป็นไปตามขั้นตอน ในส่วนที่สองนั้น เพื่อให้เข้าใจแนวโน้มการบริโภคของผู้ซื้อ ผู้ประกอบการจะต้องอาศัยข้อมูลที่ร่วมแบ่งปันกันกับทุกฝ่ายในระบบห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้มองเห็นภาพแบบเดียวกัน ร่วมกันพิจารณาว่าอะไรเป็นอุปสรรค และอะไรเป็นโอกาสเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพกับสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ได้ 

สำหรับประชาชนผู้ซื้อนั้น การกักตุนสินค้าไว้ก่อนไม่ใช่เรื่องเรื่องผิดเพราะเป็นการป้องกันความเสี่ยงทางราคาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ประชาชนเองก็พึงที่จะศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนจนสิ้นสงสัยเสียก่อนว่าสินค้าที่จะกักตุนนั้นควรจะกักเอาไว้จริงหรือไม่ แค่ไหนถึงเรียกว่าเพียงพอและเหมาะสมที่จะกักเอาไว้ หรือมีสินค้าทดแทนอื่นที่อาจจะนำมาใช้ทดแทนกันได้กับสินค้าที่ขาดแคลนได้หรือไม่ ตลอดจนการหันมาอุปโภคบริโภคเหมือนเดิมโดยไม่ต้องกังวลว่าระบบโซ่อุปทานจะหยุดการการผลิตและการทำงาน  เพราะในทุกๆ ระบบโซ่อุปทานจะมีการกำหนดแผนการบริหารความต่อเนื่องในการดำเนินงานธุรกิจหรือ Business Continuity Management ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้ธุรกิจสามารถบริหารและดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์วิกฤตอะไรก็ตามอยู่แล้ว  

การสร้างสมดุลของรัฐและผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับราคาและการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น และประชาชนเองก็พอที่จะมีเวลาในการฟื้นตัวและปรับตัวเพื่อตั้งรับกับสถานการณ์โรคระบาดได้ นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวแล้ว การกักตุนสินค้าก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นจากความตระหนกตกใจของประชาชน และต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าสินค้ามีการผลิตที่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ หากไม่มีการแห่กักตุนสินค้าจนขาดตลาด หรือจนขาดแคลน การปรับราคาที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบในสถานการณ์วิกฤตินี้ก็จะไม่เกิดขึ้น อันเป็นการซ้ำเติมประชาชนและเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย  

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

บทความ โดย จิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล
22 เมษายน 2563