โรคระบาดโควิด-19 นอกจากจะเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพแล้ว ปัญหาสำคัญที่ตามมาก็คือ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่คนของผู้คนเป็นอย่างมาก ด้วยนิสัยที่เป็นลักษณะเด่นของคนไทยอย่างหนึ่ง คือ นิสัยการเป็นผู้ให้และการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เห็นได้จากวิถีชีวิตที่มีการตักบาตรทำบุญ การช่วยเหลือผู้ยากไร้ การบริจาคเงินหรือสิ่งของผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น บริจาคให้วัด องค์กรการกุศล หรือบริจาคเงินให้แก่บุคคลธรรมดาผ่านช่องทางสื่อสังคมต่างๆ เป็นต้น เป็นต้น ดังนั้นในภาวะวิกฤติเช่นนี้จึงมีการบริจาคเกิดขึ้นมากมายทั้งที่เกิดจากการดำเนินการสนับสนุนของภาครัฐ และการบริจาคช่วยเหลือกันเองในสังคมก่อให้เกิดการบริจาคในจำนวนเงินมูลค่าสูงในระยะเวลาอันสั้น เช่น ข่ากรณีลุงแท็กซี่ ที่อ้างว่าได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 และเป็นกระแสในโลกอินเทอร์เน็ตจนได้รับเงินบริจาคมากกว่า 8 ล้านบาทภายในระยะเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น เป็นต้น
ในช่วงเริ่มต้นการระบาดของโรควิด-19 รัฐบาลเปิดบัญชีกองทุนสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัส 2019 ซึ่งได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของการรับบริจาคว่าสวนทางกับมาตรการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงในภายหลังว่า1 เงินบริจาคจำนวนนี้จะไม่ได้นำไปแจกให้กับประชาชนตามมาตรทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลเตรียมแจกให้ประชาชน เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน โดยเป็นเงินคนละส่วนกัน เงินในส่วนนั้นจะใช้จากเงินงบประมาณ และการเปิดบริจาคในครั้งนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเป็นผู้บริจาค แต่มุ่งเน้นเงินเดือนรัฐมนตรีและเปิดช่องทางให้ภาคเอกชนสนับสนุนเท่านั้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้มีการนำแนวคิดของตู้ปันสุขมาปรับใช้กับประเทศไทย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากโครงการ Free Pantry / Food Sharing / Sharing Cupboard รวมไปถึงนโยบายธนาคารอาหารในต่างประเทศ โดยนำมาปรับใช้กับประเทศไทยโดยการตั้งตู้ปันสุขในลักษณะตู้กับข้าว ให้ชาวบ้านนำอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ที่ตนเองมีเหลือใช้มาแบ่งบันให้กับผู้อื่น โดยหลักการของการทำตู้ปันสุข เป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เพราะโดยทั่วไปแล้วบุคคลที่จะนำสิ่งของไปบริจาคในลักษณะโรงทานได้จะต้องมีของอย่างน้อย 100-200 ชิ้น แต่โมเดลตู้ปันสุขนี้ หลักการคือการแบ่งปัน ทุกคนสามารถแบ่งบันให้กับผู้อื่นได้ไม่ว่าจะมีของจำนวนมากหรือน้อย2 อย่างไรก็ตามเมื่อนำมาปฏิบัติใช้ในประเทศไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง คือ มีการหยิบนำของที่อยู่ในตู้ไปเป็นจำนวนมาก การแย่งสิ่งของ และบางจุดมีการคุกคามเจ้าของบ้านเมื่อสิ่งของหมดหรือเติมสิ่งของช้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางการแบ่งปันอาหารและสิ่งของที่น่าจะเหมาะสมสำหรับสังคมไทยนั้นจะต้องมีกลไกจัดการเพื่อดูแลความเรียบร้อยโดยนำความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือช่วยจัดการ เช่น จัดตั้งตู้ปันสุขให้อยู่ในบริเวณภายในวัดและให้พระสงฆ์เป็นผู้ดูแลแจกจ่ายสิ่งของ เนื่องจากคนไทยมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและละอายเกรงกลัวต่อบาป เมื่อให้พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ดูแลแจกจ่ายจึงไม่กล้าที่จะหยิบของใช้ไปเกินความจำเป็น และอาจจะเป็นการสนับสนุนให้มีคนนำอาหารและสิ่งของมาแบ่งปันเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
14 พฤษภาคม 2563