นโยบายการเงินทางเลือกในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แพร่ระบาด

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการสำรวจผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทยในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งในผลสำรวจได้มีการสำรวจความคิดเห็นในส่วนของนโยบายที่ภาคธุรกิจอยากจะได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งสรุปได้เป็น 9 มาตรการ ดังนี้ 

1. การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 

2. การให้เงินอุดหนุนนายจ้างเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน 

3. การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 

4. การจ่ายชดเชยให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 

5. การเลื่อนกำหนดการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา 

6. การลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า 

7. การลดสัดส่วนสมทบกองทุนประกันสังคม 

8. การฝึกอาชีพแรงงานในช่วงที่ถูกเลิกจ้าง 

9. การให้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจากการบริจาค 

เมื่อนำความต้องการที่เสนอโดยภาคธุรกิจข้างต้น มาพิจารณาตามหลักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ จะได้ข้อคิดถึงความเหมาะสมในการดำเนินนโยบายดังนี้ 

ประการแรก คือ ตามหลักการเศรษฐศาสตร์แล้วนั้น ภาครัฐไม่ได้มีหน้าที่ในการเข้าไปดูแลไม่ให้ธุรกิจล้ม เพราะการเข้ามาดำเนินธุรกิจและการออกจากการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ กลไกนี้เป็นกลไกการเอาตัวรอดผ่านการแข่งขัน (survival of the fittest, creative destruction) ดังเช่นในกรณีของวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐฯ บริษัท Lehman Brothers เป็นบริษัทวาณิชธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐ ก่อตั้งเมื่อปี 1847 ได้ล้มละลายไป 

ประการที่สอง คือ การแทรกแซงกลไกตลาดอาจจะทำได้หากวิกฤติการณ์เกิดขึ้นอย่างยาวนานและส่งผลกระทบในวงกว้างจนทำให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systematic risk) เช่น การล้มละลายของภาคการเงิน การล้มสลายของเศรษฐกิจประเทศ 

เมื่อนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์ข้างต้นมาประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ปัญหาโควิด-19 ในปัจจุบัน จะพบว่า ถ้าปัญหาโควิด-19 ส่งผลกระทบเฉพาะในระยะสั้น การใช้เครื่องมือทางการเงินพื้นฐาน ได้แก่ การชะลอการชำระหนี้ และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ โดยผู้ทำธุรกิจจะต้องรับผลการขาดทุนอันเนื่องมาจากโควิด-19 เพราะถือเป็นความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว 

แต่หากปัญหาโควิด-19 เป็นปัญหาที่รุนแรงจนถึงเป็นปัญหาเชิงระบบแล้ว ภาครัฐควรจะต้องพิจารณาเพิ่มมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมเป็นพิเศษไม่ให้เกิดปัญหาเชิงระบบ ดังนี้ 

– ค่าจ้าง: ภาครัฐควรพิจารณาจ่ายเงินเพื่ออุดหนุนรักษาระดับจ้างงาน การสนับสนุน การอบรมสำหรับแรงงานตกงาน รวมทั้งการให้เงินอุดหนุน และเงินประกันว่างงานจากประกันสังคม  

– ค่าเช่าเอกชน: เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ภาครัฐควรจะเข้ามาช่วยเหลือ แต่พบว่าในปัจจุบัน การจัดการเป็นไปตามกลไกตลาด พบทั้งกรณีไม่เก็บค่าเช่า ลดค่าเช่าบางส่วน จนถึงไม่ลดค่าเช่าเลย นโยบายรัฐโดยทั่วไปจะเข้าไม่ถึง เพราะเอกชนสามารถ transfer pricing ไปยังผู้เช่าได้  

– ดอกเบี้ย: ภาครัฐควรดูแลให้การช่วยเหลืออุดหนุน และควรจะให้การขยายสินเชื่อเกิดการเข้าถึงธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ธุรกิจที่ขอกู้ใหม่อย่างแท้จริง  

– ภาษี: มาตรการลดหย่อนทางภาษีโดยทั่วไปจะให้ผลน้อย และมาตรการลดภาษีบางตัว ต้องระวังเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น การลดภาษีที่ดิน แต่ถ้าสามารถกำหนดการอุดหนุนให้เน้นสำหรับ SMEs ได้อาจจะเป็นมาตรการที่ดี เช่น การลดภาษีที่ดินที่เก็บกับห้องแถว 

นอกจากนี้ ในการกำหนดนโยบายการคลัง ภาครัฐควรจะมีข้อคำนึงถึงเพิ่มเติม ดังนี้ 

1. ส่วนรายจ่ายแผนงานเยียวยา ที่พบปัญหา คือ มีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึง ยอดเงินอาจจะไม่พอสำหรับกลุ่มเปราะบาง เงินเข้าไปถึงผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือล่าช้า หรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการถูกเอารัดเอาเปรียบในการเข้าถึงเงิน และเงินที่ได้ก็อาจจะไปไม่ถึงกลุ่ม SMEs ที่ได้รับผลกระทบแต่ถูกตักตวงโดยธุรกิจขนาดใหญ่เพียงเพราะว่าการออกแบบนโยบายไม่ดีพอ 

2. ส่วนรายจ่ายแผนงานฟื้นฟู ควรจะเป็นนโยบายที่เกิดผลเร็ว และใช้แก้ไขปัญหาโควิด-19 มากกว่าจะเป็นงานฟื้นฟูทั่วๆไป เงินส่วนนี้ ควรนามาใช้แก้ไขปัญหาการหมุนของเงินที่คนไม่อยากจับจ่ายใช้สอย ทำให้ fiscal multiplier ต่ำ ภาครัฐควรจะสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียน ของเงินอุดหนุนให้เข้าถึง SMEs เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ผู้ซื้อเข้าถึง SMEs ได้ง่ายขึ้น เป็นต้น     

กล่าวโดยสรุป มาตรการที่นำมาช่วยเหลือเพิ่มเติม สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านทางช่องทาง ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย หรือ ภาษี แต่ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องพิจารณาออกแบบนโยบายอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการสูงที่สุด 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

(*ชื่อบทความเดิม: นโยบายการเงินทางเลือกในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI 
8 พฤษภาคม 2563