tdri logo
tdri logo
22 พฤษภาคม 2020
Read in Minutes

Views

ขีดจำกัดของสังคมในการรองรับการแพร่ระบาดของโควิด-19

ข้อมูลการระบาดของโควิด-19 ล่าสุด (21 พฤษภาคม) พบว่าการระบาดเริ่มอยู่ในการควบคุมได้ในระดับที่ดีมาก โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเฉลี่ยในรอบ 7 วันหลังสุดจะอยู่ที่ 3 คนต่อวันเท่านั้น ทั้งนี้ ทัศนคติของภาครัฐในปัจจุบันจะยังคงเน้นที่การควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด โดยภาครัฐได้มีการออก พรก. ผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการะบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังกำหนดให้มีความเข้มงวดในทางปฏิบัติอยู่พอสมควร1 อาทิ เช่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจในห้างร้าน คอมมุนิตี้มอลล์ ยังเปิดดำเนินการได้จนถึง 20.00 น. และยังมีเคอร์ฟิลห้ามออกจากเคหะสถานระหว่าง 23.00-04.00 ของวันรุ่งขึ้น เป็นต้น 

บทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อสะท้อนสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อให้ภาครัฐได้รับข้อมูลว่า มิติในการจัดการปัญหาโควิด อาจจะมีมากกว่าแค่ปัญหาเรื่องการระบาดของโรค แต่ยังมีปัญหาเรื่องปากท้องที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน และมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการระบาดจะชะลอให้เศรษฐกิจฐานรากได้รับผลกระทบ จึงต้องมีการกำหนดน้ำหนักความเหมาะสมของการคลายมาตรการเข้มงวดให้ได้ในระดับที่เหมาะสม  

รูปที่ 1: ข้อมูลสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในไทย (21 พฤษภาคม 2563) 

ที่มา: JHU CSSE COVID-19 Data 

เมื่อพิจารณาถึงมาตรการภาครัฐ จะพบว่ามี 4 มาตรการที่สำคัญ คือ มาตรการแจกเงิน 5,000 บาท (โครงการเราไม่ทิ้งกัน) เงินอุดหนุเกษตรกร 15,000 บาท เงินประกันการว่างงานสำหรับแรงงานที่ตกงานโดยกองทุนประกันสังคม และเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง 1,000 บาท ที่แจกให้กับคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้ ทั้ง 4 โครงการมีเงื่อนไขที่เหมือนกัน คือ การช่วยเหลือเป็นเวลา 3 เดือนเหมือนกัน ทำให้สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจสำหรับผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือข้างต้นจะพอจะเอาตัวรอดได้แค่เฉพาะ 3 เดือนนับตั้งแต่รายได้ของเขาขาดหายไป ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ที่ภาครัฐกำหนดมาตรการควบคุมการระบาดครั้งแรก ณ วันที่ 2 เมษายน 25632  

ด้วยเหตุนี้เอง หากภาครัฐเลือกที่จะคงมาตรการเข้มงวดในระดับที่สูง ในขณะที่เม็ดเงินที่อัดฉีดเพื่อเยียวยาได้สิ้นสุดลง จะทำให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมตามมา โดยประชาชนจะเริ่มเกิดปัญหาไม่สามารถที่จะอยู่รอดได้เพราะขาดรายได้ และส่งผลทำให้เกิดปัญหาการไม่ยอมทำตามมาตรการที่รัฐกำหนดอีกด้วย ปัญหานี้จะเกิดขึ้นประมาณ ต้นเดือน กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งภาครัฐคงต้องตัดสินใจให้ดีว่าจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการลงและเปิดเศรษฐกิจให้ประชาชนกับมาหารายได้ด้วยตนเอง หรือยังคงมาตรการเข้มงวดในระดับที่สูง ทำให้ประชาชนยังไม่สามารถหารายได้เองได้เต็มที่ แต่ในกรณีหลัง ภาครัฐควรจะต้องมีมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยให้ประชาชนอยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ได้อย่างเพียงพอต่อการใช้ชีวิต 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI 

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด