การปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในช่วงโควิด-19

ประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่นิยมใช้ภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่นำรายได้จำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศในแต่ละปี ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อการสร้างการเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติเป็นอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวต่อเนื่องและมีความสำคัญถึงร้อยละ 17 ของ GDP ในครึ่งแรกของปี 2562  และมีรายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งจากนักท่องเที่ยว ต่างประเทศและชาวไทยรวมกันกว่า 3.01 ล้านล้านบาท   และสร้างการจ้างงานมากกว่า 19.1 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานทั่วประเทศ   

จากการระบาดของ COVID-19 และการดำเนินมาตรการปิดประเทศ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมาก ได้มีความพยายามในการคาดการณ์ตัวเลขการท่องเที่ยว จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยเปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/2563  จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงร้อยละ 37.96 ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 38.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 และคาดว่าหลังจากการระบาดของ COVID-19 และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนประเทศไทยทั้งปีประมาณ 26.59 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปี 2562 ประมาณร้อยละ 33.19 ทั้งนี้คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีลดลงจากปี 2562 ประมาณร้อยละ 36.38    

ถึงแม้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวของไทยมีความสามารถและศักยภาพในการสร้างรายได้ แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้ยังไม่เคยเผชิญและขาดประสบการณ์ในการรับมือ กับภาวะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นภายในอุตสาหกรรม ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความอ่อนไหวสูง เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวเมื่อมีเหตุการณ์หรือมีปัจจัยด้านลบเกิดขึ้น จึงขาดการวางแผนรองรับ และขาดการเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์วิกฤต เช่น การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ผู้ประกอบการทั้งหมดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมต้องเผชิญกับภาวะการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เนื่องจากต้องเผชิญกับการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ถึงแม้ในอนาคตจะผ่านช่วงเวลาของการระบาดไปแล้วก็ตาม แต่ความเชื่อมั่นในการเดินทางของนักท่องเที่ยวย่อมลดลง จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแรงงานในสาขาท่องเที่ยวและบริการไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าวมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างสูง โดยมีการคาดการณ์ว่าการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวจะหายไป ประมาณ 0.5-1% ส่งผลกระทบต่อแรงงานใน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณ 180,000-500,000 คน1 

จากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2560 พบว่าผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวร้อยละ 85 มีการจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูง2 และเมื่อสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กโดยเฉพาะแบรนด์ท้องถิ่นในเมืองท่องเที่ยวหลักจำนวน 5 แห่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าผู้ประกอบการเหล่านี้ตัดสินใจจ้างแรงงานต่างด้าว โดยให้ความเห็นว่าแรงงานไทยเลือกงาน เงินเดือนสูง และมีผลิตภาพแรงงานต่ำ อีกทั้งมีลักษณะหลายประการที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของนายจ้าง ในขณะที่แรงงานต่างด้าว ทำตามคำสั่งดีกว่า มีความอดทน และสู้งานทุกประเภท พบว่าในบางโรงแรมมีการจ้างแรงงานต่างด้าวมากถึงร้อยละ 60 – 70 ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะจ้างแรงงานต่างด้าวในตำแหน่งแม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด พนักงานที่ทำงานในครัว และคนสวน 

จากข้อมูลข้างต้นจึงอาจกล่าวได้ว่าแรงงานต่างด้าวมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นในเมืองท่องเที่ยวหลักโดยเฉพาะต่างจังหวัด เช่น ชลบุรี และ ภูเก็ต เป็นต้น อีกทั้งในมุมมองของผู้ประกอบการยังให้ความสำคัญกับแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่าการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ถ้าไม่มีแรงงานต่างด้าวผู้ประกอบการจะได้รับความเดือดร้อนในด้านการบริหารจัดการต้นทุน 

ถึงแม้รัฐบาลจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการปิดเมือง แต่พบว่ามาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่ออกมาให้กับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการเป็นหลัก เช่น มาตรการช่วยเพิ่มสภาพคล่องโดยการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการชะลอภาระค่าใช้จ่ายโดยขยายเวลาการชำระภาษี เป็นต้น แต่ไม่ครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ธุรกิจโรงแรม  จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม และพนักงานแรงงานต่างด้าว พบว่า แรงงานต่างด้าวเหล่านี้มีการจ่ายเข้าระบบประกันสังคมอย่างถูกต้องตามกฎหมายเช่นเดียวกับแรงงานไทย แต่ความช่วยเหลือส่วนใหญ่ที่ให้กับแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มาจากผู้ประกอบการเป็นคนหยิบยื่นให้ ซึ่งความสามารถในการช่วยเหลือของผู้ประกอบการแต่ละแห่งไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดของผู้ประกอบการแต่ละราย เช่น สวัสดิการที่พักอาศัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสวัสดิการอาหาร 3 มื้อโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงแม้โรงแรมจะไม่ได้เปิดดำเนินการ เป็นต้น ดังนั้นสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวจะถูกกระทบอย่างมากหากทำงานกับผู้ประกอบการที่มีปัญหากระแสเงินสด  ผู้ประกอบการบางรายที่มีกระแสเงินสดและสภาพคล่องพอสมควรอาจจะตัดสินใจเปิดดำเนินงานอยู่ และยังคงจ่ายค่าจ้างจ้างงานแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นต่อไป เพราะไม่ต้องการให้แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นกลับประเทศ ในขณะที่ตัดสินใจเลิกจ้างแรงงานไทย สำหรับผู้ประกอบการบางรายที่มีกระแสเงินสดและสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ดีมักจะตัดสินใจไม่เลิกจ้างพนักงานและยังคงเปิดดำเนินการต่อไป ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะหันมาใช้มาตรการลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานและจ่ายค่าจ้างตามชั่วโมงการทำงานที่แท้จริงเพื่อลดค่าใช้จ่าย จากการสัมภาษณ์พบว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะตัดสินใจให้ชั่วโมงทำงานแก่แรงงานต่างด้าวมากกว่าแรงงานไทย ผู้ประกอบการยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ประกอบการบางรายที่มีกระแสเงินสดและสภาพคล่องไม่ดีจะไม่สามารถให้สวัสดิการด้านที่พักกับพนักงานได้เนื่องจากปัญหาด้านการบริหารจัดการต้นทุน ดังนั้นแรงงานต่างด้าวจะมีรายได้ที่ลดลงและปัญหาหลัก คือ รายได้ที่ได้รับในช่วงปิดเมืองจะไม่เพียงพอต่อการเสียค่าเช่าห้องพัก แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นจำเป็นต้องคืนห้องและย้ายมาอยู่รวมกันเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย แต่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดโรคมากขึ้น เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ที่ความแออัดมากขึ้น อีกทั้งแรงงานต่างด้าวที่ย้ายมาอยู่รวมกันนี้อาจจะทำงานจากสถานประกอบการหลากหลายแห่ง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ และกลายเป็นพาหะนำโรคมาติดต่อแรงงานต่างด้าวคนอื่นที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันได้  

การสัมภาษณ์พบว่าผู้ประกอบการต้องการให้รัฐช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่มีการลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในช่วงการระบาดของ COVID-19 นี้ ตอนนี้ยังตกเป็นภาระของผู้ประกอบการแต่เพียงฝ่ายเดียว และผู้ประกอบการไม่ต้องการจะเลิกจ้างแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ เนื่องจากจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานกลุ่มนี้เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการโรงแรมและผู้ประกอบการทธุรกิจท่องเที่ยวได้ทางอ้อม 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร และทีมวิจัย
22 พฤษภาคม 2563