ประเมินและให้ข้อแนะนำกับธุรกิจตลาดสด/ตลาดเอกชน

จากการลงสำรวจพื้นที่ตลาดห้วยขวาง เป็นตลาดเอกชน รับผิดชอบดูแลในส่วนแค่อาคารตรงกลางที่ยกพื้นอาคารเดียว ขณะที่อาคารพาณิชย์รอบบริเวณ มีเจ้าของเหมือนร้านค้าทั่วไป นอกจากนี้ จะมีแผงลอยตามฟุตบาท/ถนนซอย ที่เทศกิจเป็นคนดูแล ซึ่งกลุ่มนี้ มีลูกค้าที่ขับขี่ด้วยรถมอเตอร์ไซค์เข้าถึงหน้าร้าน และในบริเวณที่ถนนกว้างขึ้น ลูกค้า/ผู้ค้าที่ขับรถกระบะสามารถเข้าถึงหน้าร้านได้เช่นกัน

ตัวอาคารกลางที่มีตลาดเป็นผู้ดูแล มีจุดคัดกรองคนเข้าใช้บริการตามแผนอยู่ 4 จุด จากทางเข้าออกทั้งหมด 10 จุด แต่ในวันที่เข้าสำรวจ เพิ่งปิดจุดเข้าออกนอกแผนการคัดกรองในเวลาประมาณ 9 นาฬิกา ที่ทีมงานเข้านัดสัมภาษณ์ โดยก่อนหน้านี้ไม่ได้ปิดและไม่มีการคัดกรอง ทั้งนี้ ทางเข้าออกแต่ละจุดมีการใช้งานต่างกัน ได้แก่ บันไดคนเดิน 5 จุด ทางลาดสำหรับรถเข็น 3 จุด ทางลงที่จอดรถสามล้อ 1 จุด และทางขึ้นจากที่จอดรถใต้ดิน 1 จุด (ทั้งนี้ เดิม ทางเขตอนุญาตให้เปิดทางเข้าออกแค่ 2 จุด แต่ทางตลาดได้ต่อรองขอเป็น 4 จุด) นอกจากนี้ ไม่พบว่า มีการใช้แอปไทยชนะ ในการเข้าใช้บริการ ทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้เข้าใช้บริการได้

การประสานให้ข้อมูลกับผู้ค้าและผู้เดินตลาด ใช้วิธีประกาศผ่านลำโพง แต่ติดปัญหาลูกจ้างรถเข็นเกือบทั้งหมดเป็นต่างด้าว จึงมีปัญหาด้านการสื่อสารกับลูกจ้าง ที่ต้องให้นายจ้าง/ผู้ค้าพูดคุยอีกที ในส่วนการใช้หน้ากาก พบว่า มีหน้ากากใช้เกือบทุกคน แต่ไม่ค่อยปิดปาก เพียงแค่คาดไว้บริเวณใต้คาง เพราะต้องตะโกนคุยกับลูกค้าเกือบตลอดเวลา

ด้านการช่วยเหลือ ทางผู้ดูแลตลาดให้ข้อมูลว่า ตลาดได้ลดค่าเช่า 3 เดือน ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน แต่ในส่วนค่าภาษีโรงเรือน ค่าน้ำค่าไฟ ยังคงต้องจ่ายตามปกติ สำหรับภาษีเงินได้ของผู้ค้า ตลาดเป็นผู้เก็บเงินและนำส่งให้ โดยเจ้าหน้าที่สรรพากรจะมาประเมินรายได้ตามแผง (เก็บจ่ายทุก 6 เดือน) แต่รอบล่าสุดอาจต้องมีการประเมินใหม่เพราะยอดขายลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ กรมสรรพากรให้เลื่อนจ่ายภาษีได้ แต่ปัญหาของผู้ค้าคือ เวลาในการนำส่งจะเลื่อนไปใกล้กับภาษีที่ต้องจ่ายในงวดถัดไป ทำให้ต้องหาเงินก้อนมาชำระภาษี โดยเฉพาะ หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น จะไม่มีเงินหมุนเวียนในการค้าขายทันที

ที่มา: คณะผู้วิจัย

ตลาดคลองเตย

ภายในอาคารตลาดคลองเตยที่เป็นตลาดเอกชน มีผู้เดินจับจ่ายไม่มาก ในวันที่เข้าสำรวจ ไม่มีคนดูแลการเข้าออกบริเวณอาคาร โดยภายในอาคารมีร้านค้าไม่มาก ผู้คนเดินจับจ่ายซื้อของไม่มากเช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อขึ้นไปดูบริเวณชั้น 2 ของอาคาร พบว่า ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นสถานที่เก็บของ และได้พบกับป้ายเช็คอินพร้อมขวดแอลกอฮอล์ถูกเก็บไว้

รูปที่ 2: ภาพภายในอาคารของตลาดคลองเตย

ที่มา: คณะผู้วิจัย

เมื่อเทียบกับรอบนอกอาคารที่มีผู้ค้าและผู้ซื้อจับจ่ายอยู่เต็มพื้นที่ ร้านค้าเกือบทั้งหมดจะเป็นแผงลอยขายของสด จากการสอบถามจากผู้ค้า พบว่า ตัวอาคารมีการปรับปรุงใหม่ ทำให้มีการขึ้นค่าเช่า ผู้ค้าส่วนใหญ่จึงออกมาวางแผงขายด้านนอกอาคารแทน ทั้งนี้ บริเวณที่ตั้งแผงลอยภายนอก มีสภาพแบบเปิด ไม่มีทางเข้าออกที่ชัดเจน จึงยากแก่การควบคุมดูแลการเข้าออก สภาพทั่วไป บริเวณพื้นที่น้ำเจิ่งนอง

รูปที่ 3: ภาพแผงลอยรอบอาคารตลาดคลองเตย

ที่มา: คณะผู้วิจัย

ตลาดนัดตามต่างจังหวัด

ตลาดต่างจังหวัดส่วนใหญ่ แม้จะมีการดูแลตรวจตราจากตัวแทนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ แต่ยังคงมีความหละหลวมอยู่ เนื่องจากผู้คนมั่นใจว่าคนที่เข้ามามีความปลอดภัย เพราะเป็นคนกันเอง รู้จักกันหมด แม้เพิ่งจะกลับมาจากการทำงานในเมือง เช่น กรุงเทพ หรือ ชลบุรี ก็ตาม

รูปที่ 4: ตลาดนัดในจังหวัดพิจิตร

รูปที่ 5: ตลาดสดเทศบาลดงขุย เพชรบูรณ์

ที่มา: คณะผู้วิจัย

สรุปการลงสำรวจตลาดสำคัญในกรุงเทพ

นอกจากตลาดห้วยขวางและตลาดคลองเตยตามรายละเอียดข้างต้นแล้ว มีตลาด อตก. ที่ได้ลงสำรวจอีกแห่ง โดยพบว่า มีการกำหนดทางเข้าออกชัดเจน มีจุดคัดกรองลูกค้า มีจุดให้บริการล้างมือและแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ตลาด อตก. ได้วางสถานะตนเองเป็นตลาดสดพรีเมียม จึงมีการจัดวางมาตรฐานดูแลด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี

เมื่อเปรียบเทียบการดูแลตามมาตรฐานสาธารณสุขต่างๆแล้ว บางประเด็นส่งผลต่อต้นทุนการดูแล เช่น การเพิ่มเวลาการทำความสะอาด การจัดจุดล้างมือและแอลกอฮอล์ การมีมาตรการช่วยเหลือผู้ค้า ขณะที่บางประเด็นจำเป็นต้องมีการจ้างคนดูแลเพิ่ม เช่น การมีจุดคัดกรอง การเพิ่มเวลาการทำความสะอาด ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นภาระต้นทุนในการดูแล ดังนั้น ในกรณีตลาดเอกชนที่มีฐานะดี จึงสามารถดูแลตามมาตรฐานได้เป็นอย่างดี ขณะที่ตลาดเอกชนที่มีฐานะรองลงไป จึงไม่สามารถดูแลตามมาตรฐานได้ทั้งหมด อาจจำเป็นที่ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแลเพิ่มเติม เช่น กระทรวงสาธารณสุข หรือเทศกิจในพื้นที่ เป็นต้น

ที่มา: รวบรวมโดยคณะผู้วิจัย

หมายเหตุ: ผู้ดูแลตลาดจะดูแลเฉพาะส่วนอาคารตลาดเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลแผงลอยตามฟุตบาทหรือถนน/ซอย ที่เทศกิจเป็นผู้ดูแล หรืออาคารพาณิชย์ที่อยู่รอบนอกอาคาร ที่เจ้าของอาคารเป็นผู้ดูแลเอง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คณะวิจัย TDRI
12 มิถุนายน 2563