ธุรกิจขนาดกลางและย่อม เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่มากระทบมีน้อยกว่ามาก โดยประการหนึ่งเกิดจากกลไกตลาดที่ประเมินความเสี่ยงของธุรกิจขนาดกลางและย่อม สูงกว่าธุรกิจใหญ่ ทำให้ต้นทุนภาระดอกเบี้ยกู้ยืมจะอยู่สูงกว่า
ตัวอย่าง เช่น ในปัจจุบัน การคิดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรฐานธนาคารพาณิชย์จะมีการแบ่งอัตราดอกเบี้ยที่เกี่ยวข้องกับขนาดของธุรกิจ เป็น 3 อัตรา ได้แก่ MLR หรือ Minimum Loan Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บกับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี MOR หรือ Minimum Overdraft Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บกับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี และ MOR หรือ Minimum Retail Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บกับลูกค้ารายย่อยชั้นดี
ถ้าพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของทั้ง 3 กลุ่มในปัจจุบัน (วันที่ 4 มิถุนายน 2563) จะพบว่า อัตราดอกเบี้ยของธุรกิจรายใหญ่ จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจรายย่อย โดยค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บกับธุรกิจรายใหญ่จะอยู่ที่ ร้อยละ 6.69 สำหรับหนี้เงินกู้ทั่วไป และ ร้อยละ 6.31 สำหรับหนี้ที่เป็นการเบิกเงินเกินบัญชี ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บกับลูกหนี้รายย่อยจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.76
นั่นคือ ธุรกิจรายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบในรูปของปัญหาสภาพคล่องจะเสียต้นทุนการกู้ในส่วนของการเบิกเงินเกินบัญขีเพียงร้อยละ 6.31 ในขณะที่ธุรกิจที่ต้องการกู้มากกว่าที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น เพื่อไปใช้ในการลงทุนจะมีต้นทุนการกู้ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 6.69 ในขณะที่ลูกหนี้รายย่อยจะมีต้นทุนการกู้ในอัตราเดียวที่ร้อยละ 6.76 ทำให้ต้นทุนของธุรกิจรายใหญ่จะต่ำกว่าธุรกิจรายย่อยประมาณร้อยละ 0.06-0.45
ตารางที่1: อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับกลุ่ม MOR, MLR และ MRR (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2563)
ธนาคาร | MOR | MLR | MRR |
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ | |||
กรุงเทพ | 5.875 | 5.25 | 5.75 |
กรุงไทย | 5.82 | 5.25 | 6.22 |
กสิกรไทย | 5.84 | 5.47 | 5.97 |
ไทยพาณิชย์ | 5.845 | 5.25 | 5.995 |
ธนาคาร | MOR | MLR | MRR |
กรุงศรีอยุธยา | 5.95 | 5.58 | 6.05 |
ทหารไทย | 6.15 | 6.125 | 6.28 |
ยูโอบี | 6.8 | 6.6 | 7.35 |
ซีไอเอ็มบี ไทย | 6.85 | 6.35 | 7.35 |
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) | 7.7 | 7.475 | – |
ธนชาต | 6.15 | 6.125 | 6.28 |
ทิสโก้ | 6.45 | 6.45 | 6.725 |
เมกะ สากลพาณิชย์ | 6.5 | 6 | 6.25 |
เกียรตินาคิน | 6.45 | 6.525 | 6.65 |
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ | 7.25 | 6.625 | 7.35 |
ไอซีบีซี (ไทย) | 7.025 | 6.75 | 7.275 |
ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย | 8.28 | 8.1 | 8.8 |
แห่งประเทศจีน(ไทย) | 7.75 | 6.5 | 7 |
ธนาคารเอเอ็นแซด (ไทย) จำกัด (มหาชน) | 7.55 | 7.55 | – |
ซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ (ไทย) | 6.875 | 6 | 7.625 |
เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ | 6.69 | 6.3145 | 6.76 |
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประการที่สอง ก็คือ ธุรกิจรายใหญ่มักจะได้เปรียบธุรกิจรายย่อยเมื่อภาครัฐมีการกำหนดมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากธุรกิจรายใหญ่มีการเสียภาษีที่ชัดเจน ทำให้ได้รับประโยชน์หากรูปแบบมาตรการช่วยเหลือกำหนดผลประโยชน์ในรูปของภาษี เช่น การชะลอการยื่นแบบภาษี หรือ การให้ลดหย่อนภาษี หรือ การให้สิทธิเยียวยาโดยผูกเงื่อนไขว่าต้องใช้กับร้านที่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ นอกจากนี้ ธุรกิจรายใหญ่ยังมีสถานที่ตั้งที่ชัดเจน ทำให้ผู้ที่จะใช้สิทธิรับการช่วยเหลือจากภาครัฐสามารถที่จะเลือกใช้สิทธิได้โดยสะดวก ตัวอย่างเช่น โครงการชิมช็อปใช้ของภาครัฐ ที่พบปัญหาว่าผู้ต้องการใช้สิทธิ ไม่สามารถที่จะค้นหาร้านรายย่อยได้โดยง่าย เพราะร้านค้ารายย่อยอาจจะมีแหล่งที่ตั้งที่ไม่แน่น่อน เดินทางไปถึงได้ยาก ในขณะที่ร้านค้ารายใหญ่มักจะเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วในพื้นที่ ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมักจะเลือกธุรกิจรายใหญ่เป็นส่วนใหญ่
ประการที่สาม ก็คือ สายป่าน หรือ เงินออมในการทำธุรกิจกีมีความแตกต่างกันซึ่ง โดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจขนาดกลางและย่อมจะมีสายป่านในการดำเนินธุรกิจที่สั้นกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ โดยข้อมูลจากการสัมภาษณ์1พบว่าในช่วงโควิด-19 ธุรกิจขนาดกลางและย่อมจะมีความสามารถในการประคองธุรกิจในขณะที่รายได้ชะลอตัวลงประมาณ 1-3 เดือน ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถประคองตัวได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
เมื่อนำเอาข้อมูลการสัมภาษณ์มาพิจารณาร่วมกับมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สำคัญ คือ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการสินเชื้อ soft loan จะพบว่าจุดสิ้นสุดของความช่วยเหลือจะอยู่ที่ประมาณเดือนมิถุนายน 2563 ทำให้สายป่านของธุรกิจขนาดกลางและย่อมจะเกิดปัญหาประมาณช่วงปลายเดือนกันยายน ถึงต้นเดือนตุลาคม ในขณะที่ธุรกิจรายใหญ่จะสามารถประคองตัวได้อย่างน้อยจนถึงปลายปี
ระเบิดเวลา SMEs จึงอยู่ในช่วงปลายเดือนกันยายน ถึงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งจะเกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดกลางและย่อมที่รายได้ยังน้อยกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ อาจจะไม่สามารถที่จะประคองธุรกิจต่อไปได้ ส่งผลทำให้เกิดการลดขนาดการดำเนินธุรกิจ การพักหรือเลิกจ้างพนักงาน หรืออาจจะส่งผลให้ธุรกิจปิดตัวลงมากในช่วงเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ ภาครัฐควรจะต้องเร่งตัดสินใจถึงความเหมาะสมในการขยายเวลามาตรการช่วยเหลือออกไปเพื่อช่วยกลุ่มธุรกิจ SMEs ดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดย คณะวิจัย TDRI
12 มิถุนายน 2563