ติดตามมาตรการการเงินและการคลังที่สำคัญเพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ในระลอกแรก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ โดยภาครัฐได้ออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวเป็นอย่างมากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563  

บทความนี้ จัดทำขึ้นเพื่อสรุปผลการติดตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในช่วงต้นของวิกฤติ ในระหว่างเดือน มีนาคม 2563 ถึง พฤษภาคม 2563 ว่ามีมาตรการที่สำคัญอะไรบ้าง โดยแยกพิจารณาเป็น 9 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสาธารณูปโภค มาตรการด้านการเงิน มาตรการช่วยนักเรียน/นักศึกษา มาตรการเยียวยาระยะที่ 2 มาตรการพักหนี้เกษตรกร มาตรการเยียวยาเกษตรกร มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง มาตรการเราไม่ทิ้งกัน และมาตรการของกองทุนประกันสังคม  

การวิเคราะห์จะสรุปข้อมูลที่สำคัญ คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบ งบประมาณ กลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ ที่สำคัญ (ถ้ามี) ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2563 )

รูปที่ 1: มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐทั้งมาตรการการเงินและการคลัง 

ที่มา: รวบรวมโดยคณะผู้วิจัย 

นอกจากนี้ ในส่วนของมาตการการเงินและการคลังที่สำคัญที่เกิดขึ้นหลังจาก 9 มาตรการข้างต้น คือ มาตรการการเงินและการคลังที่อาศัยอำนาจ พรก. 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูฯ พ.ร.ก การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจฯ และ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศฯ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท และมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการช่วยเหลือลูกกหนี้ ซึ่งผลการดำเนินงานตาม พรก. ทั้ง 3 ฉบับ รวมไปถึงช่วยลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ดังนี้ 

  1. มาตรการทางการเงินที่เกี่ยวข้อง มีอยู่ 3 มาตรการ ได้แก่ 

1.1 มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ 

– ลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ 12,822,259 บัญชี รวมยอดหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.88 ล้านบาท 

1.2 พ.ร.ก. Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท 

– สินเชื่ออนุมัติแล้วรวม 66,409 ราย ยอดสินเชื่อรวม 110,581 ล้านบาทจาก 500,000 ล้านบาท 

1.3 พ.ร.ก. BSF ดูแลตลาดตราสารหนี้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท 

– ยังไม่พบข้อมูลการใช้สินเชื่อผ่านกองทุนนี้ 

2. มาตรการทางการคลังที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูภายใต้กรอบ พรก. ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งพบว่า 

2.1 แผนงานช่วยเหลือเยียวยาชดเชยให้กับภาคประชาชนเกษตรกรและผู้ประกอบการ มีการอนุมัติงบประมาณรวม 344,735 ล้านบาทจาก 555,000 ล้านบาทและเบิกจ่ายได้จริงล่าสุด 123,086 ล้านบาท 

2.2 แผนงานทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดมีการอนุมัติ 101.8 ล้านบาทจาก 45,000 ล้านบาทแต่ยังไม่มีการเบิกจ่ายจริง 

2.3 แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบมีการอนุมัติ 41,949 ล้านบาทจาก 400,000ล้านบาทและยังไม่มีการเบิกจ่ายในแผนนี้ 

ทั้งนี้ โครงการที่กำลังพิจารณาในกลุ่มนี้ มีอยู่ 7 โครงการในกรอบ 3.8 หมื่นล้านบาท โดยคณะผู้วิจัยพบว่าเป็นโครงการที่กระจายไปในทุกจังหวัดกว่าร้อยละ 93 และมีเม็ดเงินที่วางเป้าหมายการจัดสรรภายในปี2563 ประมาณร้อยละ 79 ของงบทั้งหมด 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI 
14 สิงหาคม 2563