ฉากทัศน์ใหม่ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย

 ฉากทัศน์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ณ จุดเริ่มต้นของโครงการ (22 เมษายน 2563) พบว่าการแพร่ระบาดน่าจะสิ้นสุดภายในระยะเวลา 1 ปี ครึ่ง (หรือเทียบเท่ากับประมาณปลายปี 2564) ซึ่งจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่จะมาถึงก่อน ไม่ว่าจะเป็น 1) การคิดค้นวัคซีน และฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรได้ในหมู่มาก 2) การคิดค้นวิธีการรักษาที่ทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาน้อยลง (lower hospitalization period) หรือ 3) การติดเชื้อมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนคนหมู่มากได้รับการติดเชื้อและเกิดเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น 

ข้อมูลในปัจจุบัน จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของคณะผู้วิจัยผ่านความเห็นของแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญที่ให้ความเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ส่วนตัว1 ซึ่งได้มีการติดตามสถานการณ์การระบาดและสื่อสารถึงประเด็นทางด้านระบาดวิทยาให้กับทางสาธารณชนได้ทราบ 

สถานการณ์ล่าสุด (28 สิงหาคม 2563) พบว่าฉากทัศน์การระบาดในประเทศไทยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่า 2019 อาจจะไม่สิ้นสุดได้โดยง่าย ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจาก ไวรัสโคโรน่า มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมหลบซ่อนและพร้อมจะประทุกแบบใหม่ (ในลักษณะเดียวกันกับไวรัสนิปาห์ และไวรัสอีโบล่า) หรือ ภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 ที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการติดเชื้อไวรัส อาจจะไม่มีผลคุ้มครองได้นาน เนื่องจากเป็นภูมิคุ้มกันจากน้ำเหลืองที่มักจะพบว่าภูมิคุ้มกันหายไว หรือ โควิด-19 อาจจะมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และมีการเปลี่ยนแปลงที่มากจนการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่จะเหมือนกับเป็นโรคชนิดใหม่ (เช่น ในกรณีของโรคไข้หวัดใหญ่ที่จะมีหลายสายพันธุ์)  

นอกจากนี้ ถ้าระบบความจำของภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีไม่มีบกพร่อง การติดเชื้อรอบใหม่ครั้งที่สอง จะแสดงอาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการ ทำให้การกระจายของเชื้อเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้นไปอีก 

เมื่อสถานการณ์การระบาดมีโอกาสที่จะเกิดเป็นปัญหาที่รุนแรงและยาวนานมากยิ่งขึ้น ทำให้ระบบจัดการกับวิกฤติของครัวเรือนพื้นฐาน อันได้แก่ การมีเงินออมเพื่อไว้ใช้ฉุกเฉินไม่น้อยกว่า 3-6 เดือน จะไม่สามารถที่จะรองรับกับการระบาดได้เพียงพอ และอาจจะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ดังนั้น ภาครัฐควรที่จะพิจารณาเข้ามาแทรกแซงเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบให้มีรายได้เพียงพอที่จะรักษาการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ช่วยเหลือธุรกิจให้สามารถประคองกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ได้โดยไม่กระทบกับการจ้างงาน และควรจะพิจารณาให้มาตรการอุดหนุนอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายลง และเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

(ชื่อบทความเดิม: ฉากทัศน์ใหม่ของการแพร่ระบาดในไทย)

คณะวิจัย TDRI
28 สิงหาคม 2563