tdri logo
tdri logo
28 สิงหาคม 2020
Read in Minutes

Views

ผลกระทบของการปิดโรงเรียนช่วงโควิด-19 ต่อพัฒนาการเด็ก

งานวิจัยในอดีตพบว่าการขาดเรียน การปิดเทอม หรือโรงเรียนมีความจำเป็นที่ต้องปิดลงเพราะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้การเรียนรู้ของเด็กถดถอยลง( Liu et al., 2020; Hansen, 2011; Sacerdote, 2012; Atteberry and McEachin, 2020) จากข้อมูลการวิจัยที่ผ่านมาเราสามารถสรุปได้ว่าการปิดโรงเรียนเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญ 

การศึกษาโดย Soland และคณะ (2020) คาดการณ์และเปรียบเทียบคะแนน MAP Growth1 ของนักเรียนช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดและระหว่างการระบาดพบว่าคะแนนคณิตศาสตร์และการอ่านสำหรับทุกชั้นเรียนลดลงเนื่องจากการปิดโรงเรียน รูปที่ 1 และรูปที่ 2 แสดงถึงการคาดการณ์ของคะแนนคณิตศาสตร์และคะแนนการอ่านในอนาคต โดยเส้นทึบแสดงถึงคะแนนในปีที่ไม่มีการปิดเรียน จะเห็นได้ว่าหลังการปิดเรียนช่วงพักร้อน (แสดงจุด Typical last day ในรูปที่ 1 และ 2) โดยปรกติแล้วคะแนนโดยเฉลี่ยของนักเรียนจะลดลง เส้นปะแสดงถึงการคาดการณ์ของคะแนนนักเรียนเมื่อมีการปิดโรงเรียนอย่างกระทันหันในช่วงโควิด-19 ระบาด จะเห็นได้ว่าทุกระดับชั้นการศึกษาคะแนนลดลงต่ำกว่าระดับปรกติอย่างมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับพัฒนาการที่เสียไปในช่วงต่างของการเปิดเรียนปรกติและการหยุดเรียนอย่างกระทันหัน นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่าการหยุดเรียนมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 11 ปี (ระดับอนุบาลและประถม) มากกว่าเด็กโต   

อย่างไรก็ตามการคาดการณ์นี้ไม่ได้คำนึงถึงการศึกษาทางไกลและการศึกษาออนไลน์ในช่วงปิดเรียนกระทันหัน ดังนั้นในความเป็นจริงระดับคะแนนของเส้นประน่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่านี้ และอัตราการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กโตในระบบการศึกษาทางไกลและการศึกษาออนไลน์คาดว่าจะสูงกว่าเด็กเล็กเนื่องจากช่วงความสนใจ (attention span) และความรับผิดชอบของเด็กโตนั้นมีมากกว่า ฉนั้น ในช่วงการระบาดของโควิด-19 หากทรัพยากรเอื้ออำนวยโรงเรียนควรจะจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กเล็กในรูปแบบเดิมโดยมีมาตราการการเสริม เช่น การเว้นระยะห่าง (Social distance) และดูแลเรื่องความสะอาด แต่สำหรับเด็กโตในโรงเรียนขนาดใหญ่สามารถที่จะพึ่งระบบผสมผสานระหว่างการเรียนในรูปแบบการศึกษาที่โรงเรียนสลับกับการศึกษาออนไลน์ ทั้งนี้ทั้งนั้น รูปแบบการจัดการเรียนการสอนขึ้นอยู่กับความพร้อมในด้านสถานที่ของแต่ละโรงเรียน 

รูปที่ 1: คะแนนและการคาดการณ์ของคะแนนคณิตศาสตร์ 

C:\Users\Meg\AppData\Local\Temp\SNAGHTML5a4ee5.PNG

ที่มา : Soland และคณะ (2020) 

รูปที่ 2: คะแนนและการคาดการณ์ของคะแนนการอ่าน 

ที่มา : Soland และคณะ (2020) 

Soland และคณะ (2020) ศึกษาผลกระทบของการปิดโรงเรียนต่อกลุ่มนักเรียนที่เรียนได้คะแนนสูงและคะแนนต่ำ รูปที่ 3 และ 4 แสดงถึงความแตกต่างของคะแนนระหว่างกลุ่มนักเรียนที่มีคะแนนสูงและต่ำในเกรด 4 (พื้นที่สีน้ำเงิน) และเกรด 6 (พื้นที่สีม่วง) โดยพื้นที่เงาแสดงถึงระดับคะแนนที่อาจเป็นไปได้ระหว่างกลุ่มนักเรียนที่มีผลคะแนนในระดับที่ 25th percentile และ 75th percentile จะเห็นได้ว่าหากปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลานานคะแนนระหว่างเด็กคะแนนสูงกับเด็กคะแนนต่ำจะต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และคะแนนการอ่านระหว่างกลุ่มเด็กคะแนนสูงและเด็กคะแนนต่ำมีความเหลื่อมล้ำมากกว่าคะแนนคณิตศาสตร์  

รูปที่ 3: คะแนนและการคาดการณ์ 25th และ 17th percentile ของคะแนนคณิตศาสตร์ 

ที่มา : Soland และคณะ (2020) 

รูปที่ 4: คะแนนและการคาดการณ์ 25th และ 17th percentile ของคะแนนการอ่าน 

ที่มา : Soland และคณะ (2020) 

รายงานโดย Dorn et al. (2020) กล่าวว่าการปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลานานนอกจากจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาการเด็กยังส่งผลให้อัตราของเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นด้วย ในประเทศไทยรายงานโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ประมาณการณ์จำนวนเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ 7 แสนกว่าคนที่มีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากครอบครัวขาดรายได้ ไม่มีเงินพอที่จะสนับสนุนให้บุตรหลานเรียนหนังสือ การศึกษาโดยธนาคารโลกพบว่าการที่เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือเข้าไม่ถึงการศึกษายิ่งนานเท่าไรจะทำให้การพัฒนาของเด็กกลุ่มนั้นช้าขึ้นไปด้วย โดยประมาณการณ์ว่าถ้าเด็กไทยเรียนช้าลง 1 ปี คะแนนสอบของโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programmme for International Student Assessment หรือ PISA) จะลดลง 6.25 คะแนน และหากเรียนช้าไป 3 ปี คะแนนสอบจะลดลงถึง 8 เท่า เป็น 47.43 คะแนน ดังนั้นหากไม่สามารถช่วยให้เด็กด้อยโอกาสเข้ามาอยู่ในระบบได้ก็จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและด้านรายได้ทวีคูณขึ้นในอนาคต 

การดูแลไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งนัก ภาครัฐควรจัดระบบการช่วยเหลือให้ถึงตัวเด็กและครอบครัวของเด็กกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการศึกษา การขาดแคลนอาหาร โภชนาการ และในเรื่องของสุขภาพด้วย เนื่องจาก กสศ. ได้จัดทำระบบข้อมูลติดตามเด็กกลุ่มเสี่ยงนี้อยู่แล้ว ภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้โดยมีระบบที่บุคลกรโรงเรียนเป็นผู้ประสานงาน ให้การดูแลและบริการ โดยจัดทำโครงการพิเศษที่มีการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าเศรษฐกิจและสังคมเข้าสู่สภาวะที่ดีขึ้น  

การทดแทนการเรียนการสอนรูปแบบปรกติด้วยการเรียนการสอนระบบทางไกลเป็นระยะเวลานานมีผลต่อความรู้และการพัฒนาของเด็กในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กด้อยโอกาสซึ่งมีปัญหาด้านความพร้อมในการเรียนทางไกล ทั้งในเรื่องของความพร้อมด้านอุปกรณ์ในการสื่อสารที่จำเป็นต่อการศึกษาทางไกล และความพร้อมของผู้ปกครองด้านเวลาและความรู้ที่จะช่วยเป็นครูผู้ช่วยสอนบุตรในการเรียนทางไกล เด็กที่มาจากครอบครัวด้อยโอกาสส่วนมากผู้ปกครองจำเป็นจะต้องทำงานและไม่มีเวลาช่วยเป็นครูผู้สอนหรือไม่มีความรู้พอที่จะเป็นครูผู้สอน เช่น  ในบางพื้นที่ชายขอบผู้ปกครองไม่มีความรู้ภาษาไทยดีพอเพื่อจะสอนและติดตามเด็กระหว่างการเรียนทางไกล ดังนั้นระบบการเรียนทางไกลที่ไม่สมบูรณ์และครอบคลุมจะส่งผลให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กที่มีความพร้อมและเด็กด้อยโอกาสได้  


แหล่งข้อมูลอ้างอิง  

Atteberry, Allison and Andrew McEachin (2019). School’s Out: The Role of Summers in Understanding Achievement Disparities. (EdWorkingPaper: 19-82). Retrieved from Annenberg Institute at Brown University: https://doi.org/10.26300/2mam-bp02 [accessed 10 June, 2020] 

Dorn, E., Hancook, B., Sarakatsannis, J., and Viruleg, E. (2020). COVID-19 and student learning in the United States: The hurt could last a lifetime. McKinsey & Company. https://www.mckinsey.com/industries/public-sector/our-insights/covid-19-and-student-learning-in-the-united-states-the-hurt-could-last-a-lifetime [accessed 21 July, 2020] 

Hansen, Benjamin (2011). “School Year Length and Student Performance : Quasi Experimental Evidence” http://ssrn.com/abstract=2269846 [accessed 10 June, 2020] 

Liu, Jing, Monica Lee, and Seth Gershenson. (2020). The Short- and Long-Run Impacts of Secondary School Absences. (EdWorkingPaper: 20-125). Retrieved from Annenberg Institute at Brown University: https://doi.org/10.26300/xg6s-z169 https://edworkingpapers.com/ai19-125 

Sacerdote, Bruce (2012).  “When the Saints Go Marching Out: Long-Term Outcomes for Student Evacuees from Hurricanes Katrina and Rita”, American Economic Journal : Applied Economics, 4(1), 109-135 

Soland, J., Kuhfeld, M., Tarasawa, B., Johnson, A., Ruzek, E. and Liu, J. (2020). The impact of COVID-19 on student achievement and what it may mean for educators. Brown Center Chalkboard  

The Reporters (2020). กสศ. ห่วง โควิด-19 ทำเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาหลักหมื่น ไม่รวมปัญหาการเรียนถดถอย ทุโภชนาการ และปัญหาอื่นๆ https://www.thereporters.co/knowledge/eef-equity-forum/[accessed 21 July, 2020] 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร และทีมวิจัย 
28 สิงหาคม 2563 

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด