tdri logo
tdri logo
11 กันยายน 2020
Read in Minutes

Views

สถานการณ์การจ้างงาน ณ เดือน มิถุนายน 2563

การติดตามสถานการณ์การจ้างงานกลางปี คือ เดือนมิถุนายน 2563 หลังจากมีการบังคับใช้มาตราการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เนื่องจากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ.2563 ไม่สามารถเผยแพร่ได้ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้มีการปรับคาบเวลาการปฏิบัติงานภาคสนาม จึงทำให้ไม่สามารถนำเสนอผลการสำรวจรายเดือนได้ ดังนั้น การวิเคราะห์สถานการณ์การจ้างงาน ณ เดือนมิถุนายน จึงใช้ข้อมูลผู้ประกันตน มาตรา 33 จากสำนักงานประกันสังคมมาเป็นตัวแปรแทน (proxy) 

แนวโน้มจำนวนผู้ประกันตนภาคบังคับในมาตรา 33 ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันในปี 2562 หรือช่วงสถานการณ์ปกติ พบว่าเดือนมิถุนายน 2563 จำนวนผู้ประกันตนลดลงร้อยละ 2.54 แสดงให้เห็นการหดตัวของการจ้างงานในภาคธุรกิจ (รูปที่ 1) 

รูปที่ 1: จำนวนผู้ประกันตนภาคบังคับในมาตรา 33 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ถึงมิถุนายน ปี 2563 

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม 

ผลกระทบการจ้างงานจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จำแนกตามรายอุตสาหกรรม การจ้างงานรายอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ สาขาขนส่งร้อยละ 4.50 สาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 1.86 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ 0.12 ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่หดตัว ได้แก่ สาขาที่พักแรมร้านอาหาร ร้อยละ -13.10 และสาขาการผลิต ร้อยละ -4.24 และสาขาการค้า ร้อยละ -1.23 (รูปที่ 2) 

รูปที่ 2: ผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ต่อแรงงานในสาขาอุตสาหกรรมหลัก 

ที่มา: การคาดการณ์สถานการณ์ตลาดแรงงานไทย ประจำเดือน มิถุนายน 2563, ระบบเตือนภัยด้านแรงงาน, http://warning.mol.go.th กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน 

หมายเหตุ: จำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ไม่สามารถแยกประเภทกิจการได้ มีจำนวน 1,968,219 คน 

จากสมมติฐานที่ว่าเมื่อ COVID-19 ยังคงระบาดอยู่ รัฐบาลผ่านกลไกของ ศบค. อาจจะใช้นโยบายลดกิจกรรมของอุตสากรรมและบริการบางประเภทที่เป็นแหล่งต้นเหตุ (cluster) ของการระบาดและใช้มาตรการเว้นระยะห่าง (social distancing) กับสถานประกอบการที่เป็นสมาชิกหรือผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมมากกว่า 10 ล้านคน และถ้าสถานประกอบการมีปัญหาก็จะให้แรงงานบางส่วนหยุดงานชั่วคราวหรือให้ออกจากงาน ผลก็คือผู้ที่ว่างงานจะมาขอรับสิทธิประโยชน์เงินทดแทน”กรณีว่างงาน” มากขึ้น ดังนั้นจากการที่สถิติผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการว่างงานในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 และยื่นเรื่องขอรับประโยชน์เงินทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวนสะสมทั้งหมด 943,405 คน เฉพาะเดือนมิถุนายน 2563 มีอัตราการใช้สิทธิ์กรณีว่างงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 120.42 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2562 สามารถยืนยันได้ว่าแรงงานในระบบประกันสังคมเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและรวดเร็วจากการบังคับใช้มาตรการของภาครัฐด้วยเช่นกัน (รูปที่ 3) 

รูปที่ 3: ผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ต่อแรงงานในระบบประกันสังคม 

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม 

แรงงานต่างด้าวเป็นแรงงานระดับล่างในอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้นและมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ภาคธุรกิจต้องหยุดกิจการตามมาตรการของภาครัฐ ทำให้ธุรกิจขาดรายได้และมีบางส่วนต้องเลิกจ้างแรงงาน ในสถานการณ์ที่ความต้องการแรงงานคนไทยลดลงแต่ผลกระทบยังแผ่ขยายไปถึงการจ้างแรงงานต่างด้าวลดลงเช่นกัน โดยแรงงานต่างด้าวบางส่วนมีการเคลื่อนย้ายกลับไปยังประเทศต้นทาง บางกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างต้องดำเนินการหานายจ้างใหม่ ส่งผลให้จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง เดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวน 2,459,785 คน มีและมีอัตราการหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -21.59 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (รูปที่ 4) 

รูปที่ 4: แสดงจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยลดลง 

ที่มา: สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว 

แรงงานต่างด้าวที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 จำนวน 22,272 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3,905.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (รูปที่ 5) เมื่อแรงงานต่างด้าวว่างงานจะมีความเป็นไปได้สูงที่แรงงานกลุ่มนี้จะหลุดออกจากระบบประกันสังคม หรือหากเป็นแรงงานผิดกฎหมายจะทำให้เกิดความยุ่งยากด้านการบริหารจัดการ ทั้งนี้จากมาตรการ Lock down ที่ระงับการเดินทางเข้า-ออกประเทศเพื่อนบ้านทำให้แรงงานต่างด้าวไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้  หากแรงงานต่างด้าวตกงานเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการเยียวยาด้านค่าใช้จ่ายจะเพิ่มความเสี่ยงการแพร่ระบาดเพราะจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายโดยการอาศัยร่วมกันอย่างแออัด ไม่มีการเว้นระยะห่าง 

รูปที่ 5: แสดงจำนวนผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้น 

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI 
11 กันยายน 2563 

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด