มาตรการหนึ่งที่ภาครัฐนำมาใช้ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือการประกาศเพิ่มวันหยุด ซึ่งมุ่งหวังเพื่อที่จะให้ประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยว และมีการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น[1]
มาตรการการเพิ่มวันหยุดของภาครัฐ เกิดขึ้นใน 2 รูปแบบที่สำคัญ คือ
1. การเปลี่ยนแปลงวันหยุดที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาด ทำให้ภาครัฐเลื่อนการหยุดช่วงวันสงกรานต์ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 ในระดับที่สูงมาเป็นเดือนอื่นๆ ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของประสิทธิภาพการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ภาครัฐอาจจะเลือกที่จะเลื่อนวันหยุดจากวันหยุดตามเทศกาลหรือธรรมเนียมประเพณีที่อยู่ระหว่างสัปดาห์ มาเป็นวันหยุดที่อยู่ติดกับวันสุดสัปดาห์ ก็จะช่วยให้วันหยุดดังกล่าวกลายเป็นช่วงวันหยุดยาวที่หลายคนอาจจะพิจารณาเดินทางท่องเที่ยวในระยะทางที่ไกลมากขึ้น ช่วยกระตุ้นภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ ซึ่งในกรณีหลัง ภาครัฐได้พิจารณาเปลี่ยนวันหยุดจากวันที่ 7 ธันวาคม 2563 มาเป็นวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ทำให้จากเดิมที่วันหยุดวันที่ 7 จะเป็นวันหยุดที่ติดต่อกัน 3 วัน (เสาร์-อาทิตย์-จันทร์) มาเป็นวันหยุดต่อเนื่อง 4 วัน เนื่องจากวันที่ 10 เป็นวันหยุดเช่นเดียวกัน (พฤหัส-ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์)
2. การเพิ่มวันหยุดเป็นกรณีพิเศษโดยตรง ทำให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เช่น การประกาศให้วันที่ 19 และ 20 พฤศจิกายน 2563 เป็นวันหยุดพิเศษ ทำให้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 4 วันคือ วันที่ 19-22 พฤศจิกายน 2563
บทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อประเมินวิเคราะห์ผลดีและผลเสียของการกำหนดวันหยุดเป็นกรณีพิเศษดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ข้อดีของการเพิ่มวันหยุดที่เด่นชัด คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากประชาชนจะมีแนวโน้มท่องเที่ยว และเพิ่มรายจ่ายในช่วงวันหยุด ซึ่งโดยปกติแล้ว ยอดรายได้ของร้านค้าในห้างร้านจะสูงในวันสุดสัปดาห์มากกว่าวันทำงาน นอกจากนี้ ผลกระทบที่ตามมายังพบว่าการที่รายได้ของธุรกิจเพิ่มมากขึ้นยังส่งผลทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ลดลง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคธุรกิจในช่วงโควิด-19 อีกด้วย
ข้อเสียของการประกาศวันหยุด มีอย่างน้อยด้วยกัน 3 ประการ คือ
1. ผู้ประกอบการต้องหยุดดำเนินการ และอาจจะต้องจ่ายค่าจ้างตามที่ได้สัญญาจ้างไว้ก่อนแล้ว จึงมีบางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการผลิตที่อาจจะได้รับผลกระทบ
2. แรงงานที่ไม่ได้มีข้อตกลงชัดเจนกับนายจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานรายวัน อาจจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าว ซึ่งถ้ามองว่าแรงงานรายวันเป็นกลุ่มแรงงานฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่แล้ว อาจจะเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจเพราะการขาดรายได้จะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนของคนกลุ่มนี้ในระดับที่สูง
3. สำหรับการหยุดงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ จะทำให้บริการสาธารณะของภาครัฐเกิดการชะลอการดำเนินการ ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ในหลายกรณี เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน การนัดตรวจหมอที่โรงพยาบาล การยื่นขอใบอนุญาตต่างๆ เป็นต้น
เพื่อประเมินความคุ้มค่าของมาตรการการเพิ่มวันหยุด คณะผู้วิจัยได้อาศัยข้อมูลการเดินทาง Apple Mobility Trend มาใช้ในการประเมินผลดีที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่า ถ้ามีวันหยุดกลางสัปดาห์จะมีการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ประมาณ 10% ในขณะที่วันหยุดสุดสัปดาห์จะ มีระดับการ ท่องเที่ยวเพิ่มประมาณ 17% แต่ถ้ามีวันหยุดยาว การท่องเที่ยวจะเพิ่มมากถึง 60% จากกรณีปกติ
รูปที่ 1: ค่าเฉลี่ยการเดินทางในกรณีวันหยุดที่แตกต่างกัน
ที่มา: Apple Mobility Trend, Krungthai COMPASS
การเพิ่มวันหยุดยาวจะช่วยการท่องเที่ยวได้เพียงใด? คณะผู้วิจัยประเมินผลกระทบโดยอาศัยข้อมูลการเพิ่มขึ้นจากวันหยุดสัปดาห์ที่ 36.6% ร่วมกับมูลค่าการท่องเที่ยวสุดสัปดาห์ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 10,000 ล้านบาทโดยเฉลี่ย ทำให้การเพิ่มของวันหยุดจะมีผลประมาณ 3,660 ล้านบาทต่อครั้ง
ในทางตรงกันข้าม การเพิ่มวันหยุดจะก่อให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินธุรกิจตามจำนวนวันที่มีความล่าช้า คณะผู้วิจัยประเมินต้นทุนของความล่าช้าโดยอาศัยการพิจารณาค่าเสียโอกาสของการลงทุน ดังนี้
1. ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าการลงทุนในประเทศของไทยทั้งหมด มีมูลค่าประมาณ 2.85 ล้านล้านบาทในปี 2562 และ 2.56 ล้านล้านบาทในปี 2563
2. ค่าเสียโอกาสของการลงทุน จะพิจารณาจากกรอบแนวคิดเรื่อง Implied Cost of Capital (ICOC) ที่สะท้อนต้นทุนค่าเสียโอกาสของเม็ดเงินที่ลงทุนโดยธุรกิจของไทย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6.7%[2]
รูปที่ 2: พลวัตของต้นทุนค่าเสียโอกาสทางการเงินของไทยโดยอาศัยนิยาม ICOC
ที่มา: Market-risk-premia.com
3. ค่าเสียโอกาสของการหยุดทำงาน 1 วันจึงเท่ากับ 2.56 ล้านล้านบาท คูณกับ 6.7% คูณกับจำนวนวันที่ทำงานที่หายไป (1/233) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 736.14 ล้านบาท นั่นคือ การเพิ่มวันหยุด 1 วันจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจ 2,923 ล้านบาท
ทั้งนี้ ข้อสังเกตจากคณะผู้วิจัยในการวิเคราะห์ข้างต้น มี 2 ประการที่สำคัญ คือ
1. ผลกระทบสุทธิที่เป็นบวก มีผลกระทบภายในที่สำคัญด้านการกระจายด้วย (distribution effect) โดยธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จะเป็นธุรกิจในภาคท่องเที่ยว ในขณะที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบจะเป็นธุรกิจในภาคการผลิต และธุรกิจที่ต้องติดต่อประสานงานกับภาครัฐ
2. หากพิจารณาพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทย พบว่า มีเดินทางไปต่างประเทศเฉลี่ย 6 ครั้งแบ่งเป็น การเดินทางเพื่อพักผ่อน 4 ครั้งและเพื่อทำธุรกิจ 2 ครั้ง หากตีความว่าวันหยุดยาว คือ จำนวนวันที่พักผ่อนยาวมากกว่า 4 วันขึ้นไปจะพบว่าใน 1 ปีจะมีวันหยุดยาวเทียบเท่ากับ 3 ช่วง ทำให้การดึงเอานักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางจากต่างประเทศมาท่องเที่ยวในไทยจะทำได้มากที่สุด 1-2 ครั้งเท่านั้น
รูปที่ 3: วันหยุดยาวของไทยในปี 2563
ที่มา: https://hilight.kapook.com/view/188249
[1] https://www.sanook.com/news/8257886/
[2] http://www.market-risk-premia.com/th.html
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
25 กันยายน 2563