นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พรก. ฉุกเฉิน ซึ่งได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563[1] และได้มีการประกาศต่ออายุ พรก. ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องจนเกิดคำถามในสังคมไทยว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด
บทความนี้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบกรณีที่มีการใช้ พรก. ฉุกเฉินและการยกเลิกพรก. ฉุกเฉินว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างไร และมีความเหมาะสมในกรณีใด โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. หากรัฐบาลไม่ต่ออายุ พรก. ฉุกเฉิน จะทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุดลงจะต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ (2558)[2] ซึ่งให้ความแตกต่างที่สำคัญ ก็คือ พรก. ฉุกเฉินจะมีผู้ดูแลปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือ นายกรัฐมนตรี ในขณะที่อำนาจของ พ.ร.บ. โรคติดต่อจะอยู่ในมือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการใช้ พรก.ฉุกเฉิน จะมีความเหมาะสมสำหรับปัญหาที่ร้ายแรงมาก ในขณะที่ พ.ร.บ. ฉุกเฉินจะเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาขนาดใหญ่แต่ยังไม่ถึงกับรุนแรง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบความเสี่ยงในการเสียชีวิตที่ประมาณร้อยละ 3-4 ของจำนวนผู้ติดเชื้อ[3] จะพบว่าปัญหาโควิด-19 น่าจะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมาก เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทยที่มีประชากรประมาณ 70 ล้านคนจะทำให้มีจำนวนผู้ที่เสียชีวิตอาจจะสูงถึง 2.1-2.8 ล้านคน
2. หากพิจารณาถึงขอบเขตของปัญหา จะพบว่าการที่ พ.ร.บ. โรคติดต่อให้อำนาจกับเจ้ากระทรวงในการดูแล ทำให้ขอบเขตการดูแลจะครอบคลุมในประเด็นด้านสุขภาพเป็นหลัก ในขณะที่ อำนาจ พรก. ฉุกเฉินจะให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล ทำให้สามารถรองรับกับปัญหาที่กว้างไปกว่าประเด็นด้านสุขภาพ เช่น ปัญหาโควิด-19 ในปัจจุบันจะเป็นทั้งปัญหาด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม
3. รูปแบบการจัดการปัญหาของ พรก. ฉุกเฉินจะเน้นอำนาจที่ส่วนกลางเป็นหลัก โดยบูรณาการความร่วมมือจากเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทำให้การบังคับใช้อำนาจอาจจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในระดับที่สูง ในขณะเดียวกัน ผู้มีอำนาจอาจจะกระจายอำนาจให้กับหน่วยราชการในระดับจังหวัดเป็นผู้ดูแลปัญหา ทำให้รูปแบบ พรก. ฉุกเฉินจะมีความยืดหยุ่นกว่าก็เป็นได้ ในทางตรงกันข้าม พ.ร.บ. โรคติดต่อจะให้อำนาจกับคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ร่วมมือกับ คณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ในการควบคุมพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ซึ่งเนื่องจากรูปแบบการออกแบบจะให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาด ทำให้มาตรการควบคุมการระบาดจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพน้อยกว่า พรก. ฉุกเฉิน
ทั้งนี้ การยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน จะมีผลทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งคณะทำงานด้านสังคมและเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีผลสิ้นสุดไปพร้อมๆกัน ทำให้มาตรการที่ดูแลทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมจะกลับไปอยู่ที่เจ้ากระทรวงที่ดูแลในแต่ละด้าน ซึ่งอาจจะมีผลในเรื่องของความต่อเนื่องของนโยบาย และปัญหาการบูรณาการข้ามกระทรวงก็เป็นได้
[1] https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/872653
[2] https://tmc.or.th/pdf/covid-19_02-110363.PDF
[3] https://www.worldometers.info/coronavirus/coronavirus-death-rate/
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
16 ตุลาคม 2563