สัมมนาทีดีอาร์ไอ เสนอภาครัฐไทยต้องมุ่งสู่ Smart Government เพิ่มความสมาร์ทในการเก็บ-เชื่อม-เปิด “ข้อมูล” แก่ประชาชน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

งานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2563 “แฮกระบบราชการ เปลี่ยนระบบปฏิบัติการประเทศ: จากบทเรียนการรับมือวิกฤติโควิด-19 สู่ความพร้อมรับมือความท้าทายในโลกใหม่ การนำเสนอหัวข้อ ระบบข้อมูลและความสมาร์ทของภาครัฐ โดย นักวิชาการได้วิเคราะห์การเก็บ เชื่อม เปิดข้อมูล ของภาครัฐซึ่งมีปัญหาเพราะการทำงานของภาครัฐยังไม่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รัฐไทยจึงต้องมุ่งสู่การเป็น Smart Government เพื่อตอบโจทย์ประชาชนโดยมีข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน

อิสร์กุล อุณหเกตุ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ระบบข้อมูลถือเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญในการทำงานของภาครัฐ หลายประเทศพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม สร้างระบบการเชื่อมโยงข้อมูลใหม่ ๆ ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยและตรวจสอบการใช้ข้อมูลได้ การพัฒนาระบบข้อมูลนี้สามารถนำข้อมูลไปสู่การทำนโยบายที่ตรงจุด แต่ภาครัฐจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบระบบ ซึ่งจะทำให้เกิดความสมาร์ทมากขึ้น และช่วยให้ประชาชนเชื่อมั่นภาครัฐยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามพัฒนาระบบข้อมูล ทั้งการเก็บข้อมูลประชาชนผ่านการลงทะเบียนโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตั้งแต่ปี 2560 โครงการชิม ช้อป ใช้ปี 2563 จนมาถึงโครงการเราไม่ทิ้งกันและเราเที่ยวด้วยกันในช่วงโควิด-19 แต่โครงการเหล่านี้ยังมีช่องโหว่ในการเก็บข้อมูลประชาชน และไม่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง ซึ่งนอกจากจะสร้างภาระแก่ประชาชนเพราะต้องให้ข้อมูลแก่รัฐซ้ำซ้อนหลายครั้งแล้ว  ปัญหาดังกล่าวทำให้รัฐไม่สามารถดำเนินนโยบายหรือมาตรการได้อย่างตรงจุด ขณะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ นอกจากนี้ ข้อมูลที่รัฐจัดเก็บยังไม่ได้ถูกนำไปต่อยอดเพื่อใช้ออกแบบนโยบายที่ตอบสนองความต้องการประชาชน

เพื่อแก้ไขปัญหาพร้อมกับยกระดับการทำงานของภาครัฐ รัฐจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่การเป็น Smart government  โดย (1) ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมีภาพรวมนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งต้องเข้าใจปัญหาหรือ pain point ของประชาชน (2) เก็บข้อมูลอย่างสมาร์ท โดยต่อยอดจากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ และหากประชาชนเคยให้ข้อมูลแล้วก็ไม่ควรต้องให้ซ้ำ เพื่อลดภาระแก่ประชาชน (3) เชื่อมข้อมูลอย่างสมาร์ท โดยส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลอย่างจริงจัง และ (4) เปิดอย่างสมาร์ท โดยเปิดเผยข้อมูลตามลักษณะและความต้องการของประชาชนที่แตกต่างหลากหลาย และให้สาธารณะได้ช่วยตรวจสอบ เพื่อปรับปรุงระบบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

การปรับปรุงระบบข้อมูลโดยการเก็บอย่างสมาร์ม การเชื่อมอย่างสมาร์ท และการเปิดอย่างสมาร์ทนี้จะช่วยให้ภาครัฐพัฒนาไปเป็น smart government ที่พร้อมตอบสนองความต้องการประชาชน

รับชมการนำเสนอ