ฉากทัศน์ด้านการท่องเที่ยวหลังจากที่เริ่มมีข้อมูลวัคซีนที่ประสบความสำเร็จ

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ประชาคมโลกเริ่มได้รับข่าวดี เมื่อบริษัทวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เริ่มพบหลักฐานความสำเร็จที่เพียงพอที่จะนำมาใช้แบบเร่งด่วน ซึ่งต้องเข้าใจเสียก่อนว่าโดยปกติแล้ว การพัฒนาวัคซีนโดยทั่วๆไปจะต้องใช้เวลาพัฒนานาน 5-10 ปี เพื่อทดลองให้แน่ใจว่าวัคซีนใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าใจถึงผลข้างเคียง ความเสี่ยงของวัคซีนอย่างชัดเจน แต่เนื่องจากการระบาดที่รวดเร็ว และผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรง ทำให้การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เป็นไปด้วยความเร่งด่วน และผลการทดสอบประสิทธิภาพและผลข้างเคียงจะไม่มีความสมบูรณ์ตามมาตรการที่ใช้กันทั่วไป แต่ก็อยู่ในระดับที่มีหลักฐานบางส่วนที่เมื่อพิจารณาแล้วสามารถที่จะนำมาใช้ได้ก่อนในสภาวะวิกฤติ และเป็นเรื่องของรัฐบาลในแต่ละประเทศที่จะต้องรับรองความเสี่ยงของการประยุกต์ใช้นั้นเอง

          ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 พบวัคซีนโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จในระดับที่สูง ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Pfizer and Biotech[1] ซึ่งพบว่าการทดลองในสถานการณ์จริงในบางพื้นที่ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากถึงร้อยละ 90 (โดยเปรียบเทียบแล้ว เกณฑ์ WHO กำหนดให้วัคซีนต้องมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ถึงจะผ่านเกณฑ์) การค้นพบดังกล่าวจึงเป็นเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้เห็นในระยะไกลที่โลกจะมีภูมิคุ้มกันภัยได้ทั้งหมด วัคซีนของบริษัท Pfizer and Biotech มีกำลังการผลิตประมาณ 50 ล้านโดสในปี 2563 และ 1,000 ล้านโดสในปี 2564

          ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 พบข้อมูลวัคซีนที่ประสบความสำเร็จเพิ่มเติม คือ วัคซีนของบริษัท Moderna ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคในระดับที่สูงเช่นเดียวกัน โดยวัคซีนของบริษัท Moderna มีกำลังการผลิตประมาณ 20 ล้านโดสในปี 2563 และ 1,000 ล้านโดสในปี 2564[2]

          ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 พบข้อมูลวัคซีนเพิ่มเติมอีกชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ วัคซีนของ AstraZeneca ซึ่งมีกำลังการผลิตมากถึง 3,000 ล้านโดสในปี 2564[3]

          จากข้อมูลล่าสุดข้างต้น ทำให้ทราบได้ว่า ในปี 2563 จะมีวัคซีนโควิด-19 70 ล้านโดส ในขณะที่ในปี 2564 และปีต่อ ๆ ไป จะมีวัคซีนมากถึง 5 พันล้านโดส ซึ่งหากพิจารณาว่าในวัคซีนทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวจะต้องใช้การฉีด 2 โดสต่อประชากร 1 คนจะทำให้มีประชากรได้รับวัคซีน 35 ล้านคนในปี 2563 และ 2,500 ล้านคนในปี 2564 และ 2,500 ล้านคนในปี 2565 และเนื่องจากประชากรโลกมีจำนวนจำกัด โดยมีจำนวนประชากรรวมที่ประมาณ 7,800 ล้านคน และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วประมาณ 1,300 ล้านคน ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งน่าจะมีความสามารถในการแย่งชิงวัคซีนได้มากกว่าน่าจะมีวัคซีนครอบคลุมประชากรได้ภายในปี 2564 ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนาจะได้รับวัคซีนที่ช้ากว่า และอาจจะต้องรอจนถึงหลังปี 2564 ถึงจะได้วัคซีนในจำนวนที่มากอย่างมีนัยสำคัญ

รูปที่ 1: คาดการณ์ปริมาณวัคซีน

ที่มา: รวบรวมและสังเคราะห์โดยคณะผู้วิจัย

          อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในแง่ของการเดินทางข้ามประเทศ จะพบว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เดินทางไปมาระหว่างประเทศ การเดินทางข้ามประเทศเป็นบริการเฉพาะที่มีผู้เข้าถึงจำนวนจำกัด ข้อมูลจาก Statistica[4] พบว่าสถิติการเดินทางข้ามประเทศในปี 2019 มีจำนวน 1,460 ล้านคน นั่นหมายถึงว่าประชากรโลกที่เดินทางข้ามประเทศมีจำนวนเพียงร้อยละ 18.5 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น และหากพิจารณาในแง่นี้ จะพบว่าวัคซีนที่ผลิตในปี 2564 มีจำนวนที่เพียงพอสำหรับนักเดินทางข้ามประเทศทั้งหมด

          หากประยุกต์ใช้ทฤษฎีการเปิดรับเทคโนโลยีของ Bohlen and Beal (1957)[5] ในการพิจารณาสถานการณ์การรับวัคซีน จะพบว่า การรับวัคซีนจะแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผู้นำที่ฉีดก่อนอย่างรวดเร็ว ประมาณร้อยละ 2.5 2. กลุ่มผู้ประยุกต์ใช้ก่อน ประมาณร้อยละ 13.5 3. กลุ่มประชากรส่วนใหญ่ที่รับวัคซีน ประมาณร้อยละ 34 4. กลุ่มประชากรกลุ่มใหญ่ที่รับวัคซีนภายหลังอีกร้อยละ 34 ท้ายที่สุด จะเป็นกลุ่มที่ 5 คือ ผู้ที่ฉีดล่าช้าสุดจะมีประมาณร้อยละ 16

รูปที่ 2:  ทฤษฎีการเปิดรับเทคโนโลยีของ Bohlen and Beal

ที่มา: Bohlen and Beal (1957)

          เมื่อนำมาประยุกต์กับจำนวนคนที่เดินทางท่องเที่ยวทั้งหมด จะอนุมานได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ได้รับวัคซีนครบในปี 2564 น่าจะมีประมาณร้อยละ 16-50 ของทั้งหมด (หรือมีจุดต่ำสุดอยู่ที่กลุ่ม 2 กลุ่มแรกที่ฉีดทั้งหมด และมีจุดสูงสุดอยู่ที่กลุ่ม 3 กลุ่มแรกที่ฉีดทั้งหมด) และในปี 2565 น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50-84 ของทั้งหมด หรือเทียบเท่ากับกลุ่มที่ 1-3 ในกรณีที่ต่ำที่สุด และกลุ่มที่ 1-4 ในกรณีที่ดีที่สุด และจะกลับมาเป็นปกติในปี 2566


ที่มา

[1] https://www.pfizer.com/news/press-release/press-release-detail/pfizer-and-biontech-announce-vaccine-candidate-against

[2] https://www.theguardian.com/world/2020/nov/16/moderna-covid-vaccine-candidate-almost-95-effective-trials-show

[3] https://www.astrazeneca.com/media-centre/press-releases/2020/azd1222hlr.html

[4] https://www.statista.com/statistics/209334/total-number-of-international-tourist-arrivals/

[5] Bohlen, J.M. and Beal, G.M. (1957) “The Diffusion Process.” Special Report No. 18.

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
13 พฤศจิกายน 2563