ปัญหาค่าขนส่งทางเรือสูงในช่วงโควิด-19

ประเด็นปัญหาเกิดขึ้นจากข้อร้องเรียนของผู้ส่งออกทางเรือ ที่ออกมาสะท้อนปัญหาค่าใช้จ่ายทางเรือที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ค่าขนส่งจากไทยไปประเทศในเอเชียทางเรือในสภาวะปกติจะอยู่ที่ประมาณ 180-250 ดอลลาร์ต่อ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ กลับมีระดับราคาอยู่ที่ 600-800 ดอลลาร์ในช่วงโควิด-19

คณะผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลโดยอาศัยการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิและการสัมภาษณ์เชิงลึกกับ ครูเอม วรรณลักษณ์ ผู้ดูแลธุรกิจส่งออกและนำเข้า และผู้ให้ความรู้ผ่านทาง facebook Import Expert[1]

ข้อสรุปที่ได้พบว่า สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ระดับราคาค่าขนส่งสินค้าสูงขึ้น เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ ปัญหาการขนส่งที่ไม่บาลานซ์กันระหว่างการขนสินค้าจากจีนไปยุโรปและสหรัฐ และจากยุโรปและสหรัฐกลับมาที่จีน ทำให้เกิดปัญหาตู้คงค้างจำนวนมากที่ยุโรปและสหรัฐ เมื่อจำนวนตู้น้อยลงจึงทำให้เกิดปัญหาตู้ขาดแคลน ระดับราคาจึงเพิ่มสูงขึ้น

เหตุผลประการที่สอง คือ ปัญหาการผูกขาดสายการเดินเรือในลักษณะการรวมเป็นกลุ่ม Cartel ของธุรกิจเดินเรือ ทำให้ระดับราคากลายเป็นราคาผูกขาด ทำให้ธุรกิจสามารถกำหนดราคาที่สูงขึ้น และสามารถเก็บเพิ่มเติมต้นทุนพิเศษได้ เช่น ค่าท่าเรือแออัด ค่าน้ำมันสะอาด ค่าดูแลลักษณะ

ทางออกสำหรับปัญหานี้ ทำได้อย่างจำกัด เพราะว่าปัญหาการผูกขาดของต่างชาติเป็นปัญหาในระดับโลก ต้องมีประเทศที่ส่งออกจำนวนมากเข้ามาช่วยร่วมกดดันดำเนินการ ในขณะที่สิ่งที่ภาครัฐยังสามารถดำเนินการได้ คือ การกำหนดค่าเหมาะสมของค่าบริการสินค้านำเข้า (หมวดค่าใช้จ่ายพิเศษ) และการกำหนดระดับราคาที่เหมาะสมในกรณีที่มีการนำเข้าสินค้าแบบไม่เต็มคอนเทนเนอร์ เมื่อเทียบกับกรณีเต็มคอนเทนเนอร์ เช่น กรณี เต็มคอนเทนเนอร์คิดราคา 14,000 บาท แต่พอขนส่งสินค้า 57% กลับคิดราคาที่ 10,720 บาท หรือแพงกว่าค่าเฉลี่ย 2,740 บาท

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 เรือขนส่งสินค้าเกิดอุบัติเหตุถูกลมพัดขวางทำให้เรือไหลมาขวางติดคลองสุเอช ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก ทำให้เรือสินค้าไม่สามารถผ่านได้เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์

เส้นทางคลองสุเอซมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการขนส่งสินค้าทางเรือจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ไปยังประเทศในกลุ่มยุโรป โดยก่อนที่จะมีการเดินเรือผ่านเส้นทางนี้ การขนส่งสินค้าจะต้องใช้เส้นทางอ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮปที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งจะใช้เวลาเดินเรือที่ยาวนานกว่า โดยหากต้องมี่การเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือไปยังเส้นเดิมจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นประมาณ 9 วัน

รูปที่1: เส้นทางขนส่งจากไต้หวันไปยังท่าเรือที่เมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ที่มา: นำเสนอโดยสำนักข่าว BBC[2]

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าและกรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ[3] พบว่าคลองสุเอชเป็นเส้นทางขนส่งที่มีตู้คอนเทนเนอร์ผ่านถึงร้อยละ 40 และยังเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติประมาณร้อยละ 5-10 ของทั้งโลก

ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ปัญหาการหมุนเวียนของคอนเทนเนอร์จะยิ่งมีปัญหามากยิ่งขึ้น และทำให้ราคาขนส่งสินค้าทางเรือยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก นอกจากนี้ เนื่องจากคลองสุเอซ เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่ส่งสินค้าจากไทยไปยังยุโรป ทำให้สินค้าที่เดินทางออกไปแล้ว และกำลังจะออกไปจะเกิดความล่าช้า ถ้าเป็นสินค้าเกษตรก็อาจจะมีความเสียหายเน่าเสียได้ และความล่าช้ายังทำให้เกิดต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น สินค้าต้องคงค้างที่ท่าเรือนานขึ้น นอกจากนี้ ทางผู้รับสินค้าอาจจะถือว่าเป็นการทำผิดสัญญาและผลักภาระค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มมาสู่ผู้ส่งออกคนไทย ความล่าช้าในการขนส่งน้ำมันจากประเทศตะวันออกกลางไปยังยุโรปยังอาจจะทำให้ระดับราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้นอีกด้วย


[1] https://www.facebook.com/aimimportexpert/

[2] https://www.bbc.com/news/business-56559073

[3] http://www.tpso.moc.go.th/

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะผู้วิจัย TDRI
2 เมษายน 2564